“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ด้วยความรู้อันน้อยนิด ผมไม่พยายามที่จะพูดถึงเหตุการณ์ในฮ่องกงนัก แม้จะมีความรู้เรื่องจีนอยู่บ้างแต่ก็เป็นความรู้เพียงผิวเผิน แต่หลายวันมานี้ผมเห็นนักวิเคราะห์ไทยทั้งสองฝั่งสีพยายามจะเอาปัจจัยที่เคยวิเคราะห์สังคมไทยไปจับฮ่องกง ฝ่ายหนึ่งมองว่า คนฮ่องกงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้นั้นไม่ต่างกับคนรุ่นใหม่ที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ และฝ่ายต่อต้านนั้นเปรียบเหมือนกับคนเสื้อเหลือง
แต่ก็มีเหมือนกันที่คนที่สนับสนุนเสื้อแดงในไทยเรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการไปสนับสนุนรัฐบาลจีนและรัฐบาลฮ่องกง และมีเหมือนกันที่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการในไทยแต่ไปสนับสนุนผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง
ดังนั้นสิ่งที่ผมจะพูดคือมุมมองของผมต่อผู้ชุมนุมฮ่องกง และสถานการณ์ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปอย่างไร แต่ไม่ใช่ในฐานะผู้รู้เรื่องจีนอย่างลึกซึ้งเป็นเพียงความเห็นของคนๆ หนึ่งที่อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ เพราะหลายครั้งเวลาต่างชาติวิจารณ์การเมืองไทยเราจะพบว่าเขาไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยอย่างแท้จริง
ถ้าถามว่าข้อเรียกร้องของคนฮ่องกงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่นั้น แตกต่างกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ผมมองว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย แล้วข้อเรียกร้องที่บานปลายมาของผู้ชุมนุมฮ่องกงคือ เรียกร้องการเลือกตั้งอิสระที่คนฮ่องกงสามารถตัดสินผู้นำของตัวเองที่มาจากการเลือกตั้งโดยอิสระได้ ซึ่งสังคมไทยมีสิ่งนี้อยู่
แต่ถ้าเราไปฟังแกนนำของพรรคอนาคตใหม่ สิ่งที่เขาพูดส่วนใหญ่ก็คือการทลายโครงสร้างที่เป็นจารีตเก่าของสังคมไทย เราเคยได้ยิน ปิยบุตร แสงกนกกุล พูดถึงการลดทอนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ให้สาบานตนต่อรัฐสภา และห้ามแสดงพระราชดำรัสต่อสาธารณะ พวกนี้มีความเชื่ออยู่ว่า สังคมไทยนั้นถูกควบคุมด้วยอำนาจที่อยู่เหนือรัฐ กลไกประชาธิปไตยไม่สามารถเดินได้อย่างเสรี
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดถึงการทลายอำนาจของกองทัพในทางการเมือง การลดทอนบทบาทของกองทัพ การเอาใจคนรุ่นใหม่ด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือการเอาตัวออกจากรากเหง้าประเพณีทางวัฒนธรรมที่ปลูกฝังด้วยจารีตทางศาสนาต่างๆด้วยการไม่เข้าวัดเข้าโบสถ์เข้ามัสยิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็น แต่เราสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้จากภายในใจของเราเอง
คนรุ่นใหม่นั้นไม่ชอบกฎเกณฑ์กติกาที่เขาถูกควบคุมด้วยพ่อแม่ผู้ปกครองครูบาอาจารย์ที่เขาเพิ่งผ่านพ้นมาอยู่แล้ว ความคิดแบบนี้มันท้าทายความคิดกบฏตามช่วงวัยของเขาพอดี ประจวบกับการเมืองของคนรุ่นเก่านั้นเป็นการเมืองที่เน่าสนิทมีแต่เรื่องผลประโยชน์และภาพอันฟอนเฟะ จนกระทั่งตกมาอยู่ใต้อำนาจของทหารที่กระทบสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นความต้องการสูงสุดของคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว อนาคตใหม่จึงเข้ามาในจังหวะที่สอดคล้องกันพอดี
ธนาธรเป็นพ่อค้าเป็นพวกเสรีนิยมเขาต้องการระบบกลไกตลาดเสรีในเรื่องการค้า และเขาคิดว่ามันควรจะเป็นกลไกเสรีในทุกเรื่องรวมถึงสิทธิเสรีภาพด้วย
ฟังแล้วผิวเผินเหมือนกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง แต่จริงๆแล้วแม้ฮ่องกงไม่ได้มีเสรีภาพในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ระบบเศรษฐกิจของฮ่องกงก็เป็นแบบกลไกเสรีสุดขั้วอยู่แล้ว เพราะจีนไม่ได้ควบคุมเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องกระบวนการยุติธรรมของฮ่องกงก็เป็นกระบวนการยุติธรรมที่วางรากฐานที่ดีมาจากที่อังกฤษยึดครอง ไม่มีเสียงเรียกร้องว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานแบบบ้านเรา
แน่นอนว่า ชนวนการชุมนุมของฮ่องกงนั้นมาจากการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งถ้าเราไปฟังเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการออกกฎหมายนั้นมันมีหลักของความยุติธรรมอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพราะเริ่มจากหนุ่มฮ่องกงไปฆ่าคนรักของตัวเองในไต้หวัน กลับมาแล้วสารภาพแต่เพราะมีช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถเอาผิดหนุ่มฮ่องกงรายนั้นได้ และส่งไปดำเนินคดีที่ไต้หวันก็ไม่ได้ด้วย ดังนั้นจะเห็นว่า การแก้กฎหมายเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ชอบและจำเป็นถ้ามองจากสายตาของคนปกติ
แต่คนฮ่องกงกลัวว่า กฎหมายนี้จะถูกใช้มาเล่นงานตัวเองถ้าทำความผิดต่อจีนแล้วจะถูกฮ่องกงส่งตัวไปลงโทษในจีนซึ่งเขาไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผมยังคิดว่าความชอบธรรมในการต่อต้านมีน้อยมาก และแม้ว่าทางการฮ่องกงจะอธิบายว่า ไม่เกี่ยวกัน แต่กระแสมันก็จุดติดแล้วในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีไฟของกบฏในตัวอยู่แล้ว ภาพของจีนที่ใช้อำนาจนิยมและภาพที่เขามีเสรีภาพในฮ่องกงนั้นมันตัดกันมาก
เหมือนการชุมนุมทั่วไป พอจุดติดก็ขยายประเด็นไปเรื่อยๆ จากคัดค้านกฎหมายก็ฉวยโอกาสขยายประเด็นไปสู่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเต็มใบ กระทั่งการเรียกร้องความเป็นอิสระในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่จีนไม่มีวันยอม
ฮ่องกงเป็นดินแดนอธิปไตยของจีนโดยไม่ต้องสงสัย แต่ถูกอังกฤษบังคับให้ทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 99 ปี และหมดสัญญาในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดยได้ทำพิธีส่งคืนเกาะฮ่องกง ให้แก่จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 แล้วจีนก็ตกลงที่จะใช้ระบอบการปกครองที่เรียกร้องว่า 1 ประเทศ 2 ระบบ โดยยังให้คนฮ่องกงมีเสรีภาพเหมือนประเทศประชาธิปไตย มีเสรีภาพในระบบเศรษฐกิจ และกระบวนการยุติธรรม แต่ในทางการเมืองนั้นต้องเลือกผู้นำจากคนที่ทางการจีนส่งมา
ข้อตกลงเรื่อง 1 ประเทศ 2 ระบบนั้นถูกวางไว้ว่าจะมีระยะเวลา 50 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้ก็กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำมาใช้ในการปลุกปั่นคนรุ่นใหม่เพื่อให้เห็นว่า นับจากปี 2540 ไปถึงปี 2590 ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 28 ปี ฮ่องกงจะกลายเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่สมบูรณ์และอาจถูกปกครองแบบอำนาจนิยมของจีน
อย่างไรก็ตามผมไม่เชื่อนะครับว่า มันจะพัฒนาไปสู่ขั้นนั้นได้ ผมกลับคิดด้วยซ้ำว่า ในปี 2590 นั้น ด้วยโลกทุกวันนี้แม้แต่จีนแผ่นดินใหญ่เอง ทางการจีนก็จะต้องคลี่คลายกฎกติกาที่แข็งตึงลงไปเรื่อยๆ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะปกครองฮ่องกงในอนาคตแบบจีนมณฑลต่างๆ ในปัจจุบัน ถึงวันนั้นจีนต่างหากที่จะรักษาระบอบคอมมิวนิสต์เอาไว้ได้ไหม
แต่ภาพของความกลัวนี้มันน่าสะพรึงกลัวสำหรับคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่ไม่มีความผูกพันอะไรเลยกับแผ่นดินแม่ และเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่กลุ่มคนที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะนำมาใช้ในการปลุกระดมได้ แต่กลายเป็นว่าความคิดนี้กลับสร้างความชอบธรรมให้กับทางการจีนที่จะเข้ามาควบคุมสถานการณ์ถ้ามันจะพัฒนาข้อเรียกร้องขึ้นมาเรื่อยๆจนเป็นการแบ่งแยกดินแดน เพราะนี่เป็นแผ่นดินจีนโดยชอบธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศอธิปไตยทุกประเทศไม่มีวันยอม
ลองให้คนฮาวายลุกขึ้นมาเรียกร้องเอกราชสิ อเมริกาจะยอมไหม ทั้งที่รากเหง้าไม่ได้ผูกพันทางประวัติศาสตร์กันมาเลย
และแน่นอนว่าแกนนำที่ลุกขึ้นมาปลุกระดมนั้นเขาไม่ได้สนใจในอนาคตของเขาว่าจะต้องอยู่บนดินแดนฮ่องกงไหม ถ้าพ่ายแพ้หมดทาง ถึงเวลานั้นเขาก็เชื่อว่าตัวเองจะได้รับการอุ้มชูจากตะวันตกในการให้ที่อาศัยซุกหัว ซึ่งก็ไม่ต่างกับคนไทยจำนวนหนึ่งที่พยายามเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบแล้วตอนนี้ไปซุกหัวอยู่ในฝรั่งเศส ยุโรป หรืออเมริกา
แต่ถ้าถามว่า ความกดดันที่อยู่ภายใต้จิตใจของคนฮ่องกงรุ่นใหม่คืออะไร คำตอบก็คือ การต่อสู้ดิ้นรนจากความกดดันในการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำนั่นเอง ความเหลื่อมล้ำที่มาจากนโยบายกลไกตลาดเสรีแบบสุดขั้วซึ่งเป็นหลักเดียวกับที่พวกเสรีนิยมไทยเรียกร้อง
บทความของปรีดี บุญซื่อ เรื่อง การประท้วงในฮ่องกง สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจกลไกตลาดแบบสุดขั้ว อ้างข้อเขียนของ Graeme Maxton อดีตเลขาธิการของชมรม The Club of Rome เขียนบทความเชิงทัศนะลงในเซาท์ไชน่ามอนิ่งโพสต์ ว่า ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของฮ่องกง มาจากระบบเศรษฐกิจที่เชื่อว่า กลไกตลาดเสรีสุดขั้วอย่างเดียว จะสามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ การใช้วิธีการจัดการอย่างเด็ดขาดกับผู้ชุมนุม ยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
ความไม่พอใจของคนฮ่องกง ไม่ใช่แค่กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน แต่เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมานับตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ และระบบเศรษฐกิจ ที่อังกฤษปลูกฝังไว้ในฮ่องกง ให้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดที่เสรีมากที่สุด โดยไร้ข้อจำกัดหรือการควบคุมใดๆ และยังถูกปลูกฝังให้ภาคภูมิใจในสิ่งนี้ พร้อมกับความเชื่อที่ว่า การจำกัดหรือควบคุมธุรกรรมทางเศรษฐกิจใดๆที่เป็นไปตามกลไกตลาด ถือเป็นความผิดพลาด
ซึ่งผมเชื่อว่าระบบกลไกเสรีแบบนี้นี่เอง ที่มันสร้างความกดดันให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเป็นคนทำงาน เขาไม่สามารถต่อสู้กับทุนขนาดใหญ่ได้ ไม่สามารถที่จะสร้างฐานะครอบครัวสู้กับค่าครองชีพที่สูงลิ่วได้ ไม่ต้องพูดถึงการมีบ้านสักหลัง แม้แต่การมีคอนโดฯ ไม่กี่ตารางเมตรก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก และคนเหล่านี้พร้อมจะลุกฮืออยู่แล้วจนถูกแกนนำที่ต้องการเป้าหมายทางการเมืองในฮ่องกงนำมาใช้เป็นมวลชน ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับคนยากจนในเมืองไทยที่ถูกใช้ความเหลื่อมล้ำปลุกระดมขึ้นมาเป็นไพร่พลทางการเมืองของทักษิณ
แม้ฮ่องกงกับไทยจะมีพื้นฐานที่ต่างกัน แต่จะเห็นว่าคนฮ่องกงรุ่นใหม่มีความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจจากความเหลื่อมล้ำ คนจนเมืองไทยก็มีความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน แล้วต่างๆก็ถูกใช้เป็นเงื่อนไขเพื่อเป้าหมายทางการเมืองด้วยกัน
แน่นอนว่า ถ้าเราจับทิศทางของพรรคอนาคตใหม่นั้นอาจจะมีความต่างกับฮ่องกง พวกเขาต้องการทลายโครงสร้างจารีตประเพณีดั้งเดิมของสังคมไทย แกนนำของพรรคมีพื้นฐานจากพวกปฏินิยมกษัตริย์ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเกิดการปะทะกับคนอีกฝั่งเพราะศรัทธาของพวกเขาถูกเหยียบย่ำ
แล้วแนวทางแบบประยุทธ์ล่ะ เราจะเห็นว่าแนวคิดในทางเศรษฐกิจแบบประยุทธ์ซึ่งกำกับโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ก็เป็นแนวทางเดียวกับทักษิณเพราะคนกำกับเป็นคนเดียวกันนั่นคือ เชื่อมั่นในกลไกตลาดเสรี การสนับสนุนความมั่งคั่งสุดขั้วให้กับการลงทุนเก็งกำไร และบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย ที่ครอบครองเศรษฐกิจ โดยมีแนวคิดว่า เงินทุนที่สั่งสมโดยคนมีฐานะ ในที่สุดจะกระจายไปสู่คนที่ยากจน
แต่เราเห็นแล้วว่าระบบการตลาดเสรีนิยมแบบสุดขั้วไม่ใช่หรือที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งในฮ่องกงวันนี้ นั่นเท่ากับว่าเรากำลังเดินไปสู่ความสุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน
สังคมฮ่องกงกับไทยจึงมีทั้งความเหมือนและความต่าง แม้นักวิเคราะห์ไทยหลายคนที่เป็นขั้วการเมืองจะเอาปัจจัยความขัดแย้งของไทยไปวิเคราะห์ฮ่องกงแบบปนเปไปหมดก็ตาม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan