เราได้ยินข่าวว่าอดีตสมาชิกของพรรคเพื่อไทยเข้ามาซบพรรคพลังประชารัฐ ล่าสุด 2 ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะยกมือสนับสนุนลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูเหมือนฝั่งระบอบทักษิณกำลังพ่ายแพ้และถอยร่นทางการเมือง เห็บหมัดที่เคยเกาะกระโดดมาเกาะอีกฝั่งหนึ่ง
ถามว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถี่ยิบทำให้สมการการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ สำหรับผมแล้วไม่เลย เพราะผลการเลือกตั้งออกมาชัดเจนว่ามวลชน 2 ขั้วการเมืองยังยืนหยัดเลือกขั้วการเมืองฝั่งตัวเอง เพียงแต่อาจสลับพรรคในขั้วฝั่งเดียวกันเท่านั้น
พูดให้ชัดก็คือว่า มวลชนฝั่งที่ไม่เอาทักษิณ แม้จะทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ก็หันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นขั้วการเมืองฝั่งเดียวกัน และมวลชนฝั่งเอาทักษิณ แม้ไม่เลือกพรรคเพื่อไทยก็จะเลือกพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น หากจะมีการสวิงข้ามฟากไปมาก็ถือว่าน้อยมาก
ดังนั้นจะเห็นว่า แม้จะมีเสียง ส.ว.หนุนหลัง แต่เมื่อมีเสียง ส.ส.ปริ่มน้ำ รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่มีเสถียรภาพที่มั่นคง เห็นได้ชัดจากการโหวตแพ้มติในสภามาแล้ว 2 ครั้ง จนกระทั่งคนตัวอ้วนอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องเข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ
ถ้าเราดูตัวเลขจากการเลือกตั้ง เราจะเห็นว่า สองขั้วการเมืองยังถือหางฝั่งของตัวเองอย่างเหนียวแน่น ตัวแปรที่ทำให้ฝั่งไม่เอาทักษิณถือแต้มเหนือกว่า ถ้าไม่นับ ส.ว.ก็ต้องบอกว่ามาจากพรรคคะแนนเขย่ง 11 พรรคที่เป็นผลลัพธ์จากสูตรคำนวณพิสดารพลิกมาทำให้ฝั่งของพรรคพลังประชารัฐสามารถถือเสียงข้างมากได้เพียงไม่กี่เสียง
กรณีของพรรคคะแนนเขย่งที่ต่ำกว่าค่า ส.ส.พึงมี อาจจะเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้เกิดการพลิกผันได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การคำนวณแบบนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่า ยากมากที่จะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91(4) ที่ว่า แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)
ซึ่งถ้าผลการตัดสินออกมาพลิกผันก็จะทำให้เสียงฝั่งรัฐบาลพลิกต่ำกว่าพรรคฝ่ายค้านทันที และการคำนวณใหม่ที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็จะส่งผลให้พรรคหลายพรรคได้ ส.ส.เพิ่มตามที่ตัวเองพึงมีอันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยมีหลายคนคิดให้ดูแล้วว่า คิดตามกฎหมายลูกมาตรา 128 ในแต่ละวงเล็บแล้วจะได้ผลที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร และทำให้ทุกพรรคได้ ส.ส.ตามคะแนนพึงมีอย่างไร แต่ถ้าศาลบอกที่คิดมาไม่ผิดรัฐบาลก็อยู่แบบปริ่มน้ำต่อไป
ถึงตอนนี้ถ้าฝั่งรัฐบาลจะอยู่ต่อไปให้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การไปดึง ส.ส.ฝั่งตรงข้ามให้มาสนับสนุนตัวเอง ซึ่งตอนแรกมีข่าวว่า ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คนจะหันมาสนับสนุนฝั่งรัฐบาล แต่เราทราบกันนะครับว่า พรรคการเมืองพรรคนี้ได้เสียงจำนวนมาก เพราะกระแสของมิ่งขวัญเพียงคนเดียว ไม่เช่นนั้น ส.ส.พรรคนี้ 4 คนจะเข้ามาในสภาไม่ได้เลย ดังนั้นแม้ส่งผลให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลในครั้งนี้เพิ่มขึ้น 4 คนนั้นก็ไม่มีอนาคตทางการเมืองแล้ว และมวลชนที่เคยเลือกพรรคนี้เพราะมิ่งขวัญก็ยังคงอยู่กับมิ่งขวัญนั่นเอง
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ตัวแปรทางการเมืองในระบบวันแมนวันโหวตก็ไม่สามารถเปลี่ยนสมการได้ถ้าหากมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ผลลัพธ์ก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก เพราะไม่มีการสวิงข้ามฟาก แต่ละขั้วการเมืองก็แย่งชิงมวลชนกันเอง เพื่อไทยก็แย่งกับอนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ก็แย่งกับพลังประชารัฐ
แกนนำพรรคพลังประชารัฐที่เป็นผู้มีอิทธิพลบางคนยังคุยว่าจะมี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านแปรพักตร์มาสนับสนุนฝั่งรัฐบาลอีก ซึ่งสะท้อนว่า การเมืองที่เกิดขึ้นของสังคมไทยนับจากนี้ก็คือ การเมืองแบบแปรพักตร์หักหลังตามแต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับ แต่ดูเหมือนว่า กองเชียร์ฝั่งรัฐบาลเห็นว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ชอบเพราะส่งเสียงเชียร์ชอบใจกัน
แล้วเราเห็นได้ว่า คนที่รายล้อมลุงตู่ในรัฐบาลก็มาจากคนที่เคยรายล้อมทักษิณทั้งสิ้น และนโยบายที่ลุงตู่นำมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็เป็นวิธีการเดียวกับทักษิณใช้เพราะมีคีย์แมนคนเดียวกันคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ แม้มนต์ขลังทางการเมืองของทักษิณดูเหมือนจะเสื่อมลงแล้ว อนาคตทางการเมืองของทักษิณและตระกูลจบลงแล้ว ท่อน้ำเลี้ยงของทักษิณถึงพรรคเพื่อไทยขาดช่วงไปแล้ว แต่ทำไมมวลชนยังไม่เปลี่ยนขั้วการเมืองและยังคงดำรงเจตจำนงของตัวเองเหมือนเดิม และเชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมมากกว่าเสียด้วย
ทำไมนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลพยายามทุ่มลงไป ทั้งที่ลุงตู่เคยวิจารณ์นโยบายประชานิยมอย่างเผ็ดร้อนในช่วงที่เข้ามายึดอำนาจใหม่ๆ ถึงไม่สามารถมัดใจมวลชนที่เป็นมวลชนของฝั่งทักษิณให้เปลี่ยนใจได้ ทั้งที่ทำเหมือนกันคือ เอาเงินไปแจก ยื่นปลาให้ประชาชนแทนที่จะยื่นเบ็ดให้เขาแล้วสอนวิธีทำมาหากิน
แน่นอนว่า ถ้าเลือกตั้งใหม่เพราะรัฐบาลไปไม่รอด อย่างไรเสียภายใน 5 ปีที่มีมือ ส.ว.ที่ตั้งมาเอง 250 เสียงยังดำรงอยู่ก็ยากที่พรรคฝ่ายค้านจะพลิกขั้วมาเป็นรัฐบาลได้ แม้พรรคอันดับ 1 ที่มาจากการเลือกตั้งจะยังเป็นขั้วฝ่ายค้านก็ตาม
แต่ถามว่าขั้วอำนาจฝั่งรัฐบาลจะรักษาสถานะแบบนี้ไปได้นานไหม แล้วถ้าพ้นจาก 5 ปีที่ไม่มีเสียง ส.ว.อีกแล้วจะเป็นอย่างไร มีความคิดและมองเห็นหนทางไหมว่าจะสามารถเอาชนะฝั่งระบอบทักษิณด้วยเสียงข้างมากของประชาชนจากการเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวตได้ แล้วถ้าไม่เห็นทางชะตากรรมของประเทศจะเป็นอย่างไร
ต้องไม่ลืมนะว่า ฝ่ายค้านไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่มีแกนนำพรรคเป็นพวกต่อต้านระบอบและเป็นปฏินิยมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จุดมุ่งหมายของคนเสื้อแดงขั้วที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบหรืออย่างน้อยก็ลดทอนสถานะ และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมายังเกาะกลุ่มและสุมความคิดกันอยู่
แน่นอนอุดมการณ์ทางการเมืองของบุคคลไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพียงแต่อาจขัดต่อกฎหมายที่ร่างขึ้นมาเพื่อปกป้องระบอบและสถาบันของแต่ละประเทศ และอาจขัดแย้งต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของคนอีกฟากฝั่ง แล้วลองคิดว่า ถ้าปล่อยให้ดำเนินไปความขัดแย้งรุนแรงและสงครามการเมืองจะเกิดขึ้นอีกไหม แล้วจะมีจุดจบลงอย่างไร
เพราะสิ่งที่เราเห็นรัฐบาลประยุทธ์ทำมา 5 ปีแล้วอาจทำต่อไปอีก 5 ปีนั้น ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งและปัญหาที่ดำรงอยู่ได้เลย เพียงแต่ทำทุกอย่างที่ระบอบทักษิณทำ ทั้งนโยบายประชานิยม นโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนความมั่งคั่งสุดขั้วให้กับการลงทุนเก็งกำไร และบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย ที่ครอบครองเศรษฐกิจ โดยมีแนวคิดว่า เงินทุนที่สั่งสมโดยคนมีฐานะ ในที่สุดจะกระจายไปสู่คนที่ยากจน ซึ่งไม่เป็นความจริงมีแต่เพิ่มความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้น
แน่นอนว่า รัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ได้อีกหลายปี ด้วยกลอุบายที่วางเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ถามว่า อนาคตประเทศไทยจากนั้นจะเป็นอย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan