xs
xsm
sm
md
lg

คนฮ่องกงยังสู้โดยไม่รู้จุดจบ

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนฮ่องกงหลายแสนคนชุมนุมย่านสวนสาธารณะวิคตอเรีย พาร์ค กลางเมือง เพื่อยืนหยัดอย่างมั่นคงในข้อเรียกร้องเดิม โดยหวังว่าจะประสบผลสำเร็จ โดยให้ผู้บริหารสูงสุดยอมรับ หลังจากการต่อสู้ย่างเข้าสัปดาห์ที่ 11 แล้ว

คนฮ่องกงยังดิ้นรนต่อสู้ ทั้งๆ ที่เห็นชัดว่าโอกาสที่จะได้ดังที่เรียกร้องต้องการไม่มีแม้แต่แสงริบหรี่ เพราะอำนาจการตัดสินใจอย่างแท้จริงอยู่กับรัฐบาลจีน

แต่คนฮ่องกงก็ยังมองว่าเป็นความหวัง เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าหยุดยั้งการเคลื่อนไหว ผลที่ตามมาก็คือโอกาสที่จะชุมนุมใหญ่อีกครั้งอย่างนี้ รวบรวมคนให้มากเป็นล้านๆ คน คงไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนคงหมดกำลังใจ เหนื่อยล้า

แกนนำต่างๆ จะถูกดำเนินคดีอย่างไรหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอนาคต

ถ้ายืดเยื้อต่อไป สภาพเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของฮ่องกงจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นด้านการค้า การลงทุน มูลค่าทรัพย์สิน ตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยวมีแต่เพิ่มขึ้น ทุกอย่างไม่อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ง่าย

เพียงแต่ว่าการต่อสู้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แม้จะมีการบาดเจ็บ ก็ยังไม่มีเรื่องการเสียชีวิตเพราะการปะทะกันด้วยกำลัง แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง และมาตรการต่างๆ เริ่มเข้มข้น พร้อมเสียงเตือนย้ำจากจีน

แต่จีนก็ไม่ทำอะไรจนกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ ยังให้คนฮ่องกงว่ากันเอง ตราบใดที่ยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ถึงขั้นก่อการจลาจลเป็นวงกว้าง ใช้อาวุธ เผาบ้านเมือง

จากสภาพที่เป็นอยู่ ถึงอย่างไรฮ่องกงก็เป็นของจีนทั้งทางกฎหมาย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทางเลือกของคนฮ่องกงมีเพียงว่า ถ้าไม่อาจยอมรับสภาพ ก็คือการหาหนทางอพยพไปอยู่ในประเทศอื่น เท่าที่จะเป็นไปได้

แต่จะยอมทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนไปกันทั้งครอบครัว ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย

การอพยพได้เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลังปี 1997 ที่การปกครองฮ่องกงถูกเปลี่ยนมือจากอังกฤษไปสู่ภายใต้จีน ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะดี ไม่อยากเสี่ยงกับอนาคตที่ไม่แน่นอน แต่การจะไปอยู่บนแผ่นดินอื่นไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

คนฮ่องกงที่ถือหนังสือเดินทางอังกฤษก็ใช่ว่าจะเข้าไปในอังกฤษได้โดยง่าย ต้องมีวีซ่าและได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยเช่นกัน เพราะไม่ใช่เป็นพลเมืองอังกฤษแท้

จุดจบของการต่อสู้จะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ จะสิ้นสุดเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายชุมนุมประท้วง ฝ่ายผู้บริหารเกาะฮ่องกงและผู้นำประเทศจีน โดยสภาพ เงื่อนไขก็มีมากกว่าเดิมซึ่งเป็นเพียงให้ยกเลิกกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

แม้ผู้บริหารสูงสุดคือ นางเคอร์รี่ แลม อยากลาออก ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจีนจะยอมหรือไม่ เพราะเป็นการเสียหน้า และเรื่องหน้าตา จีนถือเป็นประเด็นสำคัญ

การเสียรังวัดอาจนำไปสู่เหตุการณ์ทำนองเดียวกันในกลุ่มชนอื่นๆ ที่เรียกร้องสิทธิ ดังเช่นชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ซึ่งจีนพยายามกระชับการบริหารปกครอง จนถูกนานาชาติประณามว่าได้ตั้งเขตกักกัน และส่งชาวจีนเข้าไปยึดคุมพื้นที่

น่าเห็นใจคนฮ่องกงโดยเฉพาะผู้ที่เกิดมาในช่วงการปกครองโดยอังกฤษ เพราะคุ้นเคยกับระบบต่างๆ แม้ปัจจุบันได้อยู่ภายใต้สภาพของหนึ่งประเทศ 2 ระบบ ตามข้อตกลงระหว่างจีนกับอังกฤษ ผลสุดท้ายฮ่องกงก็จะต้องอยู่ภายใต้ระบบเดียว

การประท้วงเรียกร้องที่ผ่านมา มักเป็นความคิดของคนหนุ่มวัยทำงาน ซึ่งไม่ต้องการให้ชีวิตในอนาคตอยู่ในสภาพเหมือนคนจีนบนแผ่นดินใหญ่ แม้บรรยากาศหรือความรู้สึกว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ไม่ได้อยู่ในความคิดของคนจีนรุ่นใหม่ก็ตาม

อะไรจะเกิดขึ้น ก็แล้วแต่สถานการณ์และผลของการกระทำ โดยจีนยังเป็นตัวหลักสำคัญ แต่เรื่องที่จะปล่อยให้ฮ่องกงเป็นรัฐอิสระหรือให้ประเทศอื่นๆ เช่นสหรัฐฯ หรืออังกฤษเข้ามาแทรกแซงนั้น อย่างไรจีนก็ไม่มีวันยอมให้เกิดขึ้นได้

ช่วงนี้นอกจากฮ่องกงแล้ว คนก็ยังเฝ้าดูชะตากรรมของประเทศอังกฤษเอง ซึ่งเคยเป็นผู้ปกครองฮ่องกงตามสัญญา 99 ปีกับจีนว่าอนาคตของชาติอดีตนักล่าอาณานิคมจะเป็นอย่างไร จะต้องเผชิญกับเหตุอะไรบ้าง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมมาถึง

เพราะนั่นคือวันที่อังกฤษจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรปหรืออียู ไม่ว่าจะมีข้อตกลงอย่างไร หรือไม่มีก็ตาม ถึงอย่างไรก็จะออก

นายกฯ อังกฤษคนใหม่ นายบอริส จอห์นสัน จะมีอะไรดี เงื่อนไขทีเด็ดสำคัญที่จะไปต่อรองกับกลุ่มอียูหรือไม่ ยังไม่ปรากฏ ที่ผ่านมามีแต่คำคุยโวทับถมอดีตนายกฯ เทเรซ่า เมย์ โดยประกาศว่าอังกฤษพร้อมที่จะออกจากกลุ่มประชาคมยุโรป

ออกโดยไม่มีข้อตกลงอันใด หรือที่เรียกว่า “โนดีล” โดยไม่ได้ประเมินว่าความเสียหายแท้จริงจะเป็นอย่างไร แต่ก็ได้สร้างความวิตกให้คนอังกฤษว่าอาจจะถึงขั้นวิบัติหายนะ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นอยู่แล้วว่ามีความเสียหาย คนเริ่มเดือดร้อนหนัก

ซ้ำร้ายแผนประเมินและคาดการณ์ผลกระทบในกรณีที่ไม่มีข้อตกลง ก็คืออังกฤษจะต้องเสี่ยงกับการประสบภาวะขาดแคลน อาหาร พืชผัก สินค้าเกษตร ยารักษาโรค ของใช้ที่จำเป็น การส่งออกและนำเข้าสินค้าจะล่าช้าในงานศุลกากร

การเดินทางระหว่างพลเมืองอังกฤษและกลุ่มประเทศในเครือสหราชอาณาจักร เช่นเวลส์ และไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ จะมีขั้นตอนเรื่องพรมแดน ดังนั้น ถ้าบอริส จอห์นสันไม่มีข้อเสนอโดดเด่น อาจประสบชะตากรรมทางการเมืองอย่างเร็ว

เป็นผู้นำคนสุดท้ายของสหราชอาณาจักร เหลืออังกฤษอยู่นิดเดียวบนเกาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น