ผศ.ดร.รัฐกร พูลทรัพย์
สาขาวิชาวิศวกรรมข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
สาขาวิชาวิศวกรรมข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการลงทุน เนื่องจากพันธบัตรออมทรัพย์เป็นตราสารหนี้ที่มีการดำเนินการโดยรัฐบาล จึงมีความน่าเชื่อถือและมีความเสี่ยงต่ำ ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ซื้อผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย จากการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ในอดีตที่ผ่านมาผู้ลงทุนมีประเด็นข้อกังวลใจในการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์หลากหลายประสบการณ์ เช่น การต้องเข้าไปที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อต่อแถวเข้าคิวซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ โดยเฉพาะกับกลุ่มนักลงทุนผู้สูงอายุจึงมีทัศนคติออกมาในเชิงลบเกี่ยวกับการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ว่าจะต้องเสียเวลาและอาจจะไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตร ออมทรัพย์ ถ้าจำนวนของพันธบัตรออมทรัพย์หมดก่อนถึงคิวของตนเอง ก็เท่ากับว่าผู้สนใจลงทุนเหล่านั้นเสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนผู้สูงวัยซึ่งอาจจะมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมต่อการเข้าคิวรอซื้อพันธบัตรออมทรัพย์เป็นระยะเวลานานและในที่สุดก็ไม่ได้รับการจัดสรร เป็นการสร้างความผิดหวังและการทรมานผู้สูงวัยอย่างที่ยากจะยอมรับได้ในสังคมอันดีของประเทศไทย อีกทั้งยังมีความคิดเห็นเรื่องประชาชนนักลงทุนรายย่อยมีโอกาสน้อยกว่าในการเข้าลงทุนของพันธบัตรออมทรัพย์ เนื่องจากกลุ่ม นักลงทุนดังกล่าวยังมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าธนาคารพาณิชย์สนใจหรือมีการจัดสรรพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับ นักลงทุนรายใหญ่ก่อน จึงเป็นเหตุให้นักลงทุนรายย่อยไม่ได้รับการจัดสรรอย่างยุติธรรมและโปร่งใส
นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเชื่อมต่อให้กับคนทั่วโลกได้ สามารถส่งข้อมูลและทำธุรกรรมระหว่างกันได้ สังคมออนไลน์ส่งผลให้พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ๆ เปลี่ยนแปลงไปทั้งวิถีชีวิตและการดำรงชีวิต การเข้ามาของนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ (Fintech) ที่ตรงต่อความต้องการของนักลงทุนในยุคดิจิทัล จึงกลายเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลกที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการเกิดความสะดวกรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินด้วยนวัตกรรมใหม่ ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์นักลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ในประเด็นปัญหาและข้อกังวลใจต่างๆ ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในสังกัดกระทรวงการคลัง จึงได้พัฒนา BOND DIRECT Application ซึ่งจัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ตัวแรกของภาครัฐที่ตรงต่อความต้องการของนักลงทุนในยุคดิจิทัล โดยช่วยลดขั้นตอนในการซื้อและเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนในการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ การพัฒนา BOND DIRECT Application จะใช้แนวคิดใหม่ให้ง่ายต่อการใช้งาน การออกแบบจะอาศัยการใช้สื่อรูปภาพ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ชัดเจนเข้าใจง่ายเพื่อที่จะใช้เป็นการนำทางผู้ใช้งานโดยเฉพาะผู้สูงอายุให้ทำงานไปตามขั้นตอนที่ออกแบบไว้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการซื้อโดยไม่ต้องเรียนรู้วิธีการใช้งาน และจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักลงทุนยุคดิจิทัลที่สนใจในการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลได้โดยตรง โดยที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปต่อเข้าแถวซื้อที่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ผู้ใช้งานสามารถที่จะซื้อพันธบัตรออมทรัพย์และชำระราคาพันธบัตรออมทรัพย์ได้ทันทีโดยเชื่อมต่อกับโมบายแบงค์กิงของธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาร่วมในโครงการ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะดูการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ย้อนหลัง ติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์
ทั้งนี้ยังมีการให้สิทธิพิเศษกับผู้ที่เคยซื้อพันธบัตรออมทรัพย์เดิมซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ลงทุนประจำ โดยให้สิทธิพิเศษในการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ก่อนในวงเงินที่เคยซื้อในอดีตผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิ์ 30 วันหลังจากวันที่ครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรออมทรัพย์ที่เคยซื้อไว้ และยังมี LINE Account ชื่อ BOND DIRECT สำหรับใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับนักลงทุนกลุ่มผู้สูงอายุโดยสามารถใช้ติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ตอบคำถามข้อสงสัยผ่านแชทบอท รวมถึงการดูการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ย้อนหลังได้อีกด้วย
โดยในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 เวลา 9:00 น. ขอเรียนเชิญประชาชนนักลงทุนร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่กับการทดสอบลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่ง BOND DIRECT Application จะช่วยให้ประชาชนนักลงทุนไม่ต้องไปต่อแถวที่ธนาคารเพื่อรอลุ้นว่าจะได้รับจัดสรรพันธบัตรออมทรัพย์หรือไม่ สามารถซื้อแบบออนไลน์ได้เลย ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.pdmo.go.th/th/bond-direct-application