xs
xsm
sm
md
lg

ถกครม.ศก.นัดแรก16ส.ค.-ธปท.หนุนตั้งกก.ร่วมคุมบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กตู่" กระตุ้นครม. เร่งใช้จ่ายงบฯ 62 หวั่นเสียเปล่า ย้ำต้องทำโครงการถึงมือประชาชนให้มากที่สุด ยันไม่นิ่งนอนใจ บาทแข็งค่า เตรียมประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดแรก 16 ส.ค.นี้ ย้ำทุกกระทรวงร่วมมือหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลก ด้าน ผู้ว่า ธปท. หนุนตั้งคณะกรรมการร่วมดูแลการเงิน-การคลัง หวังรับมือสงครามการค้า เชื่อไม่แทรกแซงการทำงาน กนง.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมครม.ว่า ได้มีการหารือการใช้จ่ายงบประมาณปี 62 ซึ่้งในไตรมาสสุดท้าย มีงบฯที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ต้องไปทบทวนว่า ใน 2 เดือนที่เหลือจะทำโครงการอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบกับภาคประชาชน เพราะถ้าตกไป ก็จะเสียไปเปล่าๆ ฉะนั้น จะปรับงบประมาณเหล่านี้อย่างไร ในการที่จะลงไปสู่ชาวบ้าน สู่ประชาชนให้มากที่สุด

"วันนี้ค่าเงินบาท ก็อยู่ประมาณ 30 บาทเศษ อาจยังแข็งอยู่บ้าง ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แล้วมีหลายอย่างด้วยกัน เรามีเงินสะสมจำนวนมาก เงินเกินดุลจำนวนมาก บัญชีเดินสะพัดเยอะ ตัวนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เงินเราเข้มแข็งที่สุด ยืนยันว่า รัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ วันนี้ได้พูดคุยกันเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณในช่วง 2 เดือน ให้เกิดการใช้จ่าย เพื่อให้เงินลงไปในระบบให้มากยิ่งขึ้น และเตรียมการจัดทำงบประมาณปี 63" พล.ประยุทธ์ กล่าว

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรี ได้ฝากในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการสั่งการให้ดูแลด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องกระจายรายได้ไปสู่ระดับกลาง และระดับล่าง โดยให้เม็ดเงินลงไปสู่ระดับล่างให้ได้ และให้ ครม.ช่วยพิจารณาแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำจิตอาสาขับเคลื่อนพร้อมกับภาครัฐ โดยขอความร่วมมือประชาชนและภาคเอกชน ร่วมมือคู่ขนานกันไป

นอกจากนี้ ในที่ประชุมครม. ยังได้กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ทุกกระทรวงช่วยกัน โดยให้ทุกกระทรวงดูในเรื่อง BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อนำมาเป็นโมเดลในการแก้ไขเศรษฐกิจฐานราก โดยจะเป็นการแก้ไขมาตรการระยะกลาง และระยะยาว โดยจะมีการประชุมครม.เศรษฐกิจครั้งแรกในวันที่ 16 ส.ค.นี้

นอกจากนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานที่ประชุม ครม.ว่า นอกเหนือจากการตั้ง ครม.เศรษฐกิจแล้วยังมีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ธปท., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การเข้าไปควบคุม

ธปท. หนุนตั้งกรรมการร่วมดูแลค่าบาท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างประเทศ ความผันผวนทางเศรษฐกิจนั้นยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรมีความร่วมมือกันในหลายๆ มิติ และยืนยันว่า เรื่องดังกล่าว จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคณะกรรมการอีกชุด ที่ธปท.ได้เคยเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนเก่า โดยได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดกลไกของการมองในเรื่องนี้ เนื่องจาก ธปท.กำกับดูแล ธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก และนอนแบงก์บางประเภท ก.ล.ต.กำกับดูแลตลาดทุน คปภ.ดูแลประกันภัย ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ดูแลสหกรณ์ กระทรวงการคลังดูแลนอนแบงก์บางประเภท แต่หากจะดูระบบการเงิน จะมีความเชื่อมโยงกันสูง ดังนั้น ธปท.จึงได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการที่เสนอในขณะนี้

“คณะกรรมการที่จะต้องมีอันแรก คือ เรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน เพื่อดูให้แน่ใจว่า การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะในภาคที่ยังไม่ค่อยมีผู้กำกับดูแลที่ชัดเจน หรือ ธนาคารเงา ได้รับการกำกับดูแลในทิศทางเดียวกัน และลดความเสี่ยงในระยะยาวได้ แต่ยืนยันว่า คณะกรรมการเสถียรภาพ กับคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องความผันผวนเป็นคนละคณะกรรมการกัน”

ส่วนการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อครั้งที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีบรรยากาศทางการค้าที่ตึงเครียดมากขึ้น ประกอบกับเริ่มเห็นผลกระทบจากราคาพลังงานที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อผ่อนไปมาก และอาจทำให้เงินเฟ้อปีนี้ ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ประมาณการไว้ที่ 1-4% อันที่สองเริ่มเห็น ภาคการเงิน โดยเฉพาะจากภาคการส่งออก มีการชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจ และจากภาพบรรยากาศกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้นอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปที่การจ้างงาน การบริโภค การลงทุนภายในประเทศได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นกนง.จึงตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง


กำลังโหลดความคิดเห็น