xs
xsm
sm
md
lg

มองฮ่องกงแล้วย้อนมองไทย ความขัดแย้งที่ยากจะลงรอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ขณะที่ฮ่องกงกำลังกลายเป็นมิคสัญญี สภาพไม่แตกต่างกับเมืองไทยในช่วงก่อนหน้านี้ ผมอดจะแปลกใจไม่ได้ว่า มีนักวิเคราะห์ไทยนั่งหน้าจอโซเชียลมีเดียวิเคราะห์เหตุการณ์ฮ่องกงไปต่างๆ นานา

ฝ่ายหนึ่งบอกว่า พวกชุมนุมฮ่องกงเป็นพวกชังชาติ คนพวกนี้ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามระบอบทักษิณ ฝ่ายหนึ่งบอกว่าผู้ชุมนุมเป็นพวกสลิ่มฮ่องกง คนเหล่านี้ยืนอยู่ฝั่งระบอบทักษิณ

ผมไม่ได้ศึกษาปัญหาฮ่องกงอย่างลึกซึ้งติดตามข่าวตามสถานการณ์ทั่วไปไม่อาจพูดได้ว่าสถานการณ์และสถานะของผู้ชุมนุมฮ่องกงเป็นอย่างไร ยังอดขำไม่ได้ต่อมุมมองในฮ่องกงของสองฝั่งฟากการเมืองไทย แต่ถ้าถามว่าน่าประหลาดใจไหมไม่เลยครับ เพราะสองฝั่งการเมืองไทยมีฐานความคิดผิดและถูกที่ตรงข้ามกันมานานแล้ว โดยเชื่อว่าสิ่งที่ฝ่ายตัวเองทำนั้นเป็นเรื่องที่ถูกและมองว่าฝ่ายตรงข้ามผิด

สถานการณ์ในฮ่องกงนั้นเพิ่งก่อตัว แต่เมืองไทยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว แต่โชคดีว่า 5 ปีที่ผ่านมาขยะถูกกวาดไว้ใต้พรม ทำให้สถานการณ์เหมือนจะดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วเมื่อพลิกผืนพรมก็ยังเห็นขยะอยู่เต็มไปหมด หรือจะบอกว่าคลื่นใต้น้ำยังรุนแรงอยู่ก็คงจะได้

เหตุการณ์วางระเบิดกลางเมืองหลวงของประเทศจึงเกิดขึ้นทันทีหลังรัฐบาลเลือกตั้งรับตำแหน่งไม่นาน ซึ่งจะพูดว่าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเต็มใบก็ไม่เชิง เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้ฝ่ายอำนาจรัฐจากการรัฐประหารมีแต้มต่อที่จะครองอำนาจไปอีกหลายปี นี่ต่างหากที่เป็นระเบิดเวลาที่รุนแรงกว่าที่รอระเบิดอยู่ในวันข้างหน้า

แม้สิ่งที่เราคาดหวังว่าสิบกว่าปีมานี้เราสู้รบปรบมือกันมามากพอแล้ว แกนนำผู้ชุมนุมต่างฝ่ายต่างถูกดำเนินคดีติดคุกติดตารางกันไปหมด แล้วยังมีหลายคดีที่รอการพิจารณาอยู่ ทัศนคติในการลุกขึ้นมาต่อสู้นั้นต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองยืนอยู่บนความชอบธรรม แต่กฎหมายบ้านเมืองก็ไม่ละเว้นให้ใคร เพราะล้วนแต่ต่อสู้กับผู้มีอำนาจรัฐที่มีอำนาจสั่งการได้ทั้งสิ้น

ส่วนตัวผมเสียดายที่คาดหวังว่าถ้าเรากลับสู่การเลือกตั้งเราจะกลับมาต่อสู้กันบนกติกา ยกเว้นว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลอีกจึงออกมาชุมนุม ผมจึงไม่รับรองรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาอย่างนี้ กลายเป็นกติกาที่บิดผันท้าทายชักชวนให้ฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐยากที่จะจำนน ดังนั้นผมเชื่อว่าการต่อสู้บนท้องถนนจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่ แม้ว่าหนึ่งทศวรรษกว่าๆบนท้องถนนผ่านไปแล้วอาจเลยไปถึงสองทศวรรษ

พูดตรงๆ เลยว่าบ้านเมืองยากที่จะกลับสู่ความสงบ แม้แกนนำของทั้งสองฝ่ายจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและถอดใจไปบ้างแล้ว เพราะเห็นแล้วว่าการต่อสู้ของประชาชนนั้นกลายเป็นเพียงบันไดให้คนอื่นขึ้นไปสู่อำนาจ คนเสื้อแดงต่อสู้ติดคุกติดตารางแต่ทักษิณและบริวารกลับเสวยสุขอยู่เมืองนอก คนเสื้อเหลืองหลายคนติดคุกติดตารางแต่เป็นนั่งร้านให้ผู้อื่นขึ้นมาเสวยสุขทางการเมือง

แต่ก็ยังมีกลุ่มคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เปลี่ยนหน้ามาพร้อมจะก่อหวอดชุมนุมประท้วงในเรื่องที่เขาคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนที่ไม่ยอมรับกับความไม่เป็นธรรม ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดสรรความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้การต่อสู้ลุกฮือก็คงยังมีอยู่ แค่กติกาขณะนี้ที่ผูกไว้ยาวนาน 5 ปีก็ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและกลายเป็นเงื่อนไขได้แล้ว

ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอาจอ้างว่า การให้ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยนั้น มาจากประชามติของประชาชนเสียงข้างมาก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องยอมรับ พูดแบบนี้ก็ไม่ผิดหรอก แต่ถามว่าส.ว.มาอย่างไรเล่า ก็มาจากการเลือกของคนกลุ่มเดียวที่สมัครเข้ามาสู่อำนาจรัฐต่อแล้วให้กลับไปเลือกตัวเอง ถ้าส.ว.มีที่มาโดยอิสระนั่นสิถึงจะบอกว่าเป็นกติกาที่เป็นธรรมได้ ไม่เห็นหรือครับว่า โหวตครั้งที่แล้วมีแตกแถวสักคนไหม แล้วคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติหรืออปกติ

ดังนั้นทำให้ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะปริ่มน้ำหรือไม่ จะล้มหกคะมำเพราะแพ้โหวตในสภา ใน 5 ปีนี้เลือกตั้งใหม่กี่ครั้งก็เข้ามาโหวตในสภาชนะอีก เสียงที่ว่ารัฐบาลชุดนี้อยู่ยาวไม่ใช่อายุที่จะอยู่ครบสมัยหรือไม่ แต่คือเลือกตั้งกี่ครั้งใน 5 ปีก็สามารถกลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้อีกนั่นต่างหาก

ผมคิดว่าในสถานการณ์ที่การเมืองไทยแบ่งออกเป็นสองขั้วตอนนี้นั้น เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะบริหารประเทศอย่างไรก็ได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็มีฝ่ายหนึ่งเป็นกองหนุนเสมอ และทัศนะของสังคมไทยทุกวันนี้กลายเป็นว่า ถ้าฝ่ายตัวเองมีอำนาจรัฐทำอย่างไรก็ถูกหมด แต่ถ้าฝ่ายตัวเองไม่ได้เป็นอำนาจรัฐทำแบบเดียวกันที่เคยบอกว่าถูกก็กลายเป็นผิด

เป็นเรื่องยากที่ความขัดแย้งร้าวลึกของสังคมไทยจะกลับมาคืนดีกันได้ แล้วช่วยกันร่วมมือตรวจสอบรัฐบาล เพราะในการเมืองภาคประชาชนนั้นล้วนแล้วแต่เลือกฝักฝ่ายการเมืองของตนเอาไว้แล้ว ไม่ได้เป็นการเมืองภาคประชาชนแบบบริสุทธิ์ เหมือนที่ฮ่องกงแม้เราจะมองว่าเป็นฝ่ายประชาชนต่อสู้กับอำนาจรัฐหรือประชาชนต่อสู้กันเอง แต่เชื่อเถอะว่าก็ต้องมีฝ่ายการเมืองเข้าไปถือหางอยู่เบื้องหลังเสมอ

ฝั่งเสื้อแดงเชื่อมั่นใจสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยที่มาจากอำนาจของประชาชน แต่บูชาการเลือกตั้ง ฝั่งเสื้อเหลืองนั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธสิทธิเสรีภาพ แต่ยอมรับกฎเกณฑ์กรอบกติกาของรัฐ ยอมรับรัฐบาลที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่ว่าจะมาจากเส้นทางไหน ทั้งสองฝ่ายล้วนมีส่วนดีส่วนด้อยหากสามารถประสานกันได้แล้วก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า

แต่เป็นเรื่องยากตราบที่ฝั่งเสื้อแดงยังก้าวข้ามทักษิณไปไม่พ้น เพราะเป็นเรื่องที่คนอีกฝั่ง
ยากจะยอมรับได้ ทุกวันนี้ประชาธิปไตยของฝั่งเสื้อแดงจึงเป็นเพียงคำอ้างเท่านั้น แต่กลับไม่มีเสรีภาพแม้ในพรรคการเมืองของตัวเอง เพราะถูกชี้นำโดยทักษิณและบริวารของทักษิณ

ขณะเดียวกันฝั่งเสื้อเหลืองกลับชื่นชมในอำนาจนิยมที่มาจากรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังและยอมลิดรอนสิทธิ์ของตัวเองบางด้านลงไป เพราะเชื่อว่าไม่โกงเมื่อเทียบกับรัฐบาลทักษิณที่ถูกศาลตัดสินแล้วหลายคดี แต่ไม่ตั้งคำถามว่าหรือจริงๆ แล้วเราไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลแบบนี้ได้กันแน่

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ประชาชนแปรสภาพเป็น “ติ่ง” ที่พร้อมจะหลับหูหลับตาเชียร์ฝ่ายที่ตัวเองชื่นชอบ โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงและเหตุผลมาประกอบการตัดสินใจไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม แต่เต็มไปด้วยอคติและอารมณ์แบบล้วนๆ

ตอนนี้อำนาจทั้งสองฝ่ายจึงมีดุลกำลังที่ใกล้เคียงมีพลเมืองที่ใกล้เคียงกันมาก หากวัดผลจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ว่าไปแล้วถ้านับคะแนนรวมแล้วฝั่งทักษิณยังจะชนะอยู่ด้วยซ้ำไป แม้จะลดลงมาจำนวนหนึ่งถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งอื่นๆ ซึ่งสะท้อนว่า ประชาชนสองฝั่งยังยืนหยัดอยู่ในฟากการเมืองของตัวเองที่พร้อมจะเผชิญหน้ากันตลอดเวลา

ด้านหนึ่งสะท้อนว่า 5 ปีของรัฐบาลรัฐประหารนั้น ไม่สามารถทำความเข้าใจกับมวลชนฝั่งตรงข้ามได้ ไม่ว่าจะหว่านโปรยประชานิยมแบบเดียวกับทักษิณลงไปเท่าไหร่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจมวลชนของฝั่งทักษิณได้เลย แม้จะใช้วิธีดึงตัวส.ส.ของฝั่งทักษิณมาเป็นพวกเพื่อสนับสนุนตัวเองแล้วก็ตาม

กลายเป็นความล้มเหลวที่ทำให้การเมืองไทยยังคงติดล่มของความขัดแย้งต่อไปในทศวรรษที่สองของยุคสมัยแห่งความแตกแยกทางการเมือง

ถามว่าวันนี้มีหนทางใดบ้างที่จะพาประชาชน 2 ฝั่งออกจากความขัดแย้ง คำตอบที่ตอบได้แบบเร็วๆก็คือยังมองไม่เห็นหนทาง แต่ถ้าถามว่า จำเป็นไหมที่ประชาชนสองฝ่ายจะหันหน้าเข้ากัน ตอบได้ว่าไม่จำเป็นถ้าความขัดแย้งนั้นพ้นออกจากอคติเป็นความขัดแย้งที่มองความอยุติธรรมด้วยสายตาเดียวกัน เพียงแต่วันนี้สองฝั่งมองสิ่งเดียวกันด้วยมุมมองเดียวกันด้วยแสงสว่างที่เท่าเทียมกันแล้วเห็นเป็นสีที่ไม่เหมือนกัน และยึดมั่นกับตัวบุคคลจนพร้อมที่จะเผชิญหน้ากันด้วยกำลังตลอดเวลา

ความแตกต่างและมุมมองที่หลากหลายแม้เป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ต้องอยู่บนหลักการและเหตุผลที่ชอบธรรม ยึดมั่นในกติกาเดียวกัน เชื่อมั่นในความดีความถูกต้องเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

ผมเชื่อว่าบางครั้งอาจจะต้องรอเวลาให้คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้น แม้จะต้องรอเวลาเกิดสองศตวรรษของความขัดแย้งผ่านไปก็ตาม เพราะโดยพื้นฐานแล้วผมเชื่อว่า ต่างฝ่ายต่างหวังดีต่อชาติบ้านเมืองและเชื่อว่าฝ่ายของตัวเองถูก แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมันบ่งบอกว่า บางครั้งทั้งสองฝ่ายละเลยเหตุผลไปเป็นการตัดสินด้วยการเลือกข้างมากเกินไป

ดังนั้นก็หวังว่าถ้าสังคมผลัดรุ่นในวันข้างหน้าเหตุผลหลักการและความชอบธรรมจะกลับมาเป็นพื้นฐานของสังคมอีกครั้ง

เพียงแต่หวังว่าการผลัดรุ่นของคนรุ่นใหม่จะไม่ยิ่งเป็นปัญหาที่เกิดขั้นแบบฮ่องกงที่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ถูกทัดทานด้วยอำนาจที่แข็งตึงจนไม่มีทางออกกลายเป็นการปะทะกันด้วยความรุนแรง และหวังว่า สังคมไทยในวันข้างหน้าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้

ผมพูดเสมอว่ายังโชคดีที่คนไทยไม่ได้โกรธเกลียดกันทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์แบบรวันดาหรือในศรีลังกา เราเพียงแต่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งยอมให้ฝ่ายประชาธิปไตยแม้จะใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ฝ่ายหนึ่งยอมให้ฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เชื่อว่าใช้อำนาจอย่างชอบธรรมกว่า

ถ้าเราล้มลงก็มีคนไทยคนหนึ่งที่มีน้ำใจพร้อมจะยื่นมือไปฉุดเราให้ลุกขึ้นมา และเขาอาจมีความคิดทางการเมืองต่างกับเรา เมืองไทยยังมีแง่มุมที่สวยงาม แม้เรามีความขัดแย้งกันมานาน เราก็มีหลายอย่างที่ได้รับการชื่นชมว่า เป็นประเทศชั้นนำในหลายเรื่อง เรามีดีพอที่จะยืนหยัดอยู่บนโลกใบนี้แม้จะเป็นประเทศเล็กๆและมีพลเมืองเพียง60กว่าล้านคน

รอวันเพียงประชาชนจะกลับมาเป็นหนึ่งเดียว และรวมกันเป็นเชือดเกลียวที่ฉุดรั้งผู้มีอำนาจให้ใช้อำนาจที่ชอบธรรม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น