xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นไฮสปีด3สนามบินไม่ทันก.ค. แผนส่งมอบพท.ติดท่อก๊าซ-น้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การเจรจาแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน "ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา" ระยะทาง 220 กม. ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่อง การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ซึ่งจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม โดยนัดหารือกับ กลุ่มซี.พี.ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อตรวจสอบข้อมูลร่วมกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ เนื่องจากตามแนวเส้นทางก่อสร้าง จะมีสาธารณูปโภคของหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่อยู่ใต้ดินและบนพื้นดิน ซึ่งอาจกีดขวางการก่อสร้าง หรือมีผลกระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าได้ อาทิ ท่อน้ำมัน, ท่อแก๊ส , ท่อประปา ที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งพบว่า ช่วง พญาไท-ดอนเมือง มีท่อน้ำมัน และท่อแก๊สอยู่ ส่วนสายไฟฟ้าแรงสูง พบกระจายอยู่ตลอดแนวเส้นทางประมาณ 16 จุด ซึ่งตัดกับแนวรถไฟความเร็วสูง อาจต้องขยับ หรือยกสูง เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อระบบการจ่ายไฟฟ้าของรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
โดยเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน จะประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่วน ท่อประปา จะมีปัญหาการรื้อย้ายน้อยกว่า เพื่อหารือถึงแผนการรื้อย้ายว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไร และจะมีผลต่อการก่อสร้างของซี.พี. หรือไม่ ซึ่งยอมรับว่า การลงนามสัญญากับกลุ่มซี.พี.จะไม่ทันเดือนก.ค.นี้ เพราะต้องรอให้แผนการส่องมอบพื้นที่ทั้งหมดชัดเจนครบถ้วนก่อน
"การรื้อย้ายระบบสาธาณูปโภค ที่กีดขวางการก่อสร้าง ตอนนี้ ข้อมูลยังไม่ครบ และยังต้องหารือกับหน่วยงานที่เป็นเข้าของสาธารณูปโภคอีกว่า จะใช้เวลารื้อย้ายแค่ไหน ซึ่งสัญญา ซี.พี. มีเวลาก่อสร้าง 5 ปี หลังเซ็นสัญญา แต่หากหน่วยงานบอกว่าใช้เวลาย้ายสาธารณูปโภค 5 ปี แบบนี้ ซี.พี. ก่อสร้างไม่ทัน ดังนั้นต้องไปหารือแผนงานกันให้ชัดเจน"
อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ หน่วยงานขอเช่าที่รถไฟ ในการใช้ประโยชน์ ซึ่งสัญญาเช่า ระบุว่า หากรฟท.ต้องการใช้พื้นที่ หน่วยงานนั้นๆ จะต้องดำเนินการรื้อย้าย และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายด้วย
สำหรับพื้นที่ใช้ในการก่อสร้างที่สรุปตรงกัน มีกว่า 4,300 ไร่ เป็นพื้นที่รถไฟ 3,571 ไร่ พื้นที่เวนคืน 850 ไร่ ( มีจำนวน 42 แปลง จะใช้เวลาส่งมอบ 2 ปี นับจากออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน)
โดยพื้นที่ของรฟท.จำนวน 3,571 ไร่ นั้นพร้อมส่งมอบในช่วงแรกจำนวน 3,151 ไร่ ( 80% ) ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. พื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 210 ไร่ จะเคลียร์ ภายใน 2 ปี 2. พื้นที่ติดสัญญาเช่า 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา ดำเนินการภายใน 1 ปี
ทั้งนี้ ที่ดินมักกะสัน ทั้งหมดจำนวน 142.26 ไร่ ส่งมอบช่วงแรก 132.95 ไร่ ส่วนที่เหลือประมาณ 9.31 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่พวงราง ซึ่งทางซี.พี. ต้องดำเนินการย้ายพวงรางออกไปก่อน จึงจะเข้าใช้ประโยชน์ได้ ส่วนสถานีศรีราช จำนวน 27.45 ไร่ โดยซี.พี. จะต้องก่อสร้างแฟลตบ้านพักรถไฟ ทดแทนให้ก่อน จึงจะเข้าพื้นที่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น