ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ย้อนกลับไปในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ของชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะเปิดเผยผลรายงานสถิติที่เคยมีการสำรวจในชุมชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย 1 ปี ซึ่งได้พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรนสูงถึง 17% ในกลุ่มผู้ป่วยไมเกรนนี้มีถึง 30% มีความรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย และพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สำหรับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนแยกเป็น ปัจจัยภายในร่างกาย กับ ปัจจัยภายนอกร่างกาย
ปัจจัยภายในร่างกาย ได้แก่ การอดนอน นอนน้อย หรือนอนมากไป ช่วงมีประจำเดือน เหนื่อยล้า เครียด หดหู่ใจ ซึ่งการมีอารมณ์เครียด และหดหู่ใจบางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยหรือแพทย์เข้าใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคเครียดไม่ได้เป็นไมเกรน [1]
ปัจจัยภายนอกร่างกาย ได้แก่ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ อากาศร้อนจัด การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและฤดูกาล การเดินทางข้ามทวีป และการขึ้นที่สูง นอกจากนี้ยังรวมถึง อาการจำพวก ถั่ว เนย กล้วย ไวน์แดง เบียร์ แชมเปญ หัวหอม อาหารหมักดอง อาหารรวมควัน หรือแม้กระทั่งการอดอาหาร ตลอดจนยาบางชนิด เช่น ยาโรคหัวใจ ยาฆ่าเชื้อ ยาต้านโรคซึมเศร้า วิตามินเอขนาดสูง กาเฟอีนหรือกาแฟที่เป็นได้ทั้งกระตุ้นและทำให้อาการไมเกรนดีขึ้น [1]
โดยก่อนหน้านั้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เคยสำรวจพนักงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งของประเทศไทยจำนวน 400 คน พบว่า 60% มีภาวะโรคออฟฟิศซินโดรม 3 อาการที่พบบ่อย คือ 1. ปวดหลังเรื้อรัง 2. ปวดศีรษะไมเกรน และ 3. มือชา เอ็นข้อมือหรือนิ้วมืออักเสบ นิ้วล็อก [2]
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรคปวดศีรษะไมเกรนนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และมีคนเป็นโรคนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้รายงานถึงวิธีการรักษาโรคไมเกรนให้ได้ผลโดยลดการใช้ยาเคมีลง หรือไม่ใช้ยาเคมีเลย
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปี พ.ศ. 2553 วารสารการแพทย์แผนจีนในสหรัฐอเมริกา The American Journal of Chinese Medicine ได้เผยแพร่ผลการวิจัยผู้ป่วยโรคไมเกรนจำนวน 28 คน ซึ่งจัดทำโดยศูนย์การแพทย์ภาคใต้ของไต้หวัน โดยนำผู้ป่วยจำนวน 14 คน มารักษาแบบ “กดจุดบริเวณกล้ามเนื้อรัดตัว Trigger points 5 ตำแหน่ง” เปรียบเทียบกับผู้ป่วยอีกจำนวน 14 คน ซึ่งได้รับการรักษาโดยการ “รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ” เมื่อติดตามผลเป็นเวลา 6 เดือนผลปรากฏดังนี้
เมื่อได้รับการบำบัดแล้วกลุ่มที่กดจุดลดอาการปวดลงไปเหลือเพียงแค่ 32% ในขณะกลุ่มที่รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อคะแนนอาการปวดยังเหลืออยู่ 55% เมื่อได้รับการบำบัดด้วยการกดจุดแล้วก็จะคลายกล้ามเนื้อต่อไปได้อีก 1 เดือน และผลของการรักษาก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 6 เดือน [3]
และเมื่อย้อนกลับไปดูผลการศึกษาก่อนหน้านี้ เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 วารสารการแพทย์แผนจีนในสหรัฐอเมริกา The American Journal of Chinese Medicine ได้เผยแพร่ผลการวิจัยที่ทดลองใช้ครอบแก้วแบบเจาะเอาเลือดออกตามแนวทางต้นตำรับของชาวมุสลิมหรือที่เรียกว่า “ฮิจามะ” หรือในทางการแพทย์แผนไทยเรียกว่า “การกอกเลือด” ในผู้ป่วยโรคไมเกรนเรื้อรังจำนวน 70 คน พบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน ปรากฏว่าความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรนลดลงไป 66% จำนวนความถี่ของการปวดลดลงไป 12.6 วันต่อเดือน [4]
จะเห็นได้จากงานวิจัยว่า “การกดจุด” และ “การครอบแก้วแบบเจาะเอาเลือดออก” นั้นเป็นวิธีการที่ปรากฏในงานวิจัยว่าสามารถรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีประสิทธิภาพสูงมากที่สุดในระดับใกล้เคียงกัน ถ้าทำอย่างถูกต้องและถูกวิธี
แต่การ “กดจุดบำบัด” ของประเทศไทยนั้นอาจได้ผลเลิศยิ่งกว่างานวิจัยในต่างประเทศ ทั้งนี้วารสารสำนักแพทย์ทางเลือก ของ สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข Journal of Bureau of Alternative Medicine ฉบับเดือนกันยายน - ธันวาคม 2552 ได้เผยแพร่ผลการวิจัย ที่เก็บข้อมูลย้อนหลังของโรงพยาบาล 13 แห่ง ระหว่างเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2552 โดยศึกษาผู้ป่วยจำนวน 1,086 คน ปรากฏว่า
โรคปวดศีรษะไมเกรนดีขึ้น 96.92 %, โรคปวดคอ บ่าดีขึ้น 95.52%, ปวดหลังดีขึ้น 91.60 %, ปวดเข่า ตึงเส้นขาดีขึ้น 89.86 %, ปวดแขน ไหล่ดีขึ้น 85.71 %, เส้นท้องตึง 85.00 % , แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก 83.33 % [5]
แพทย์แผนไทยประยุกต์ แวสะมิง แวหมะ รองคณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมและไมเกรน กรุงเทพแพทย์แผนบูรณาการสหคลินิก ถนนสีลมซอย 9 กรุงเทพมหานคร ค้นพบจากการลงมือปฏิบัติรักษาจริงกับผู้ป่วยโรคไมเกรนมานานกว่า 15 ปี ได้ให้ความเห็นว่า:
“ในอดีตที่ผ่านมาเรามักกล่าวถึง “ตัวกระตุ้น”โรคไมเกรนจากปัจจัยภายในและภายนอก แต่ในปัจจุบันสาเหตุการเกิดโรคไมเกรนส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่พบทางคลินิกมักพบว่า ผู้ชายและผู้หญิงจำนวนมากเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนมีสาเหตุจากสภาวะกล้ามเนื้อเกร็งตัวชนิดไม่คลายตัว สาเหตุดังกล่าวนี้เป็นผลจากความเครียดในสภาวะความเร่งรีบในสังคมเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น การหักโหมในการทำงาน พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา นอกจากนั้นผู้หญิงอีกจำนวนมากปวดศีรษะไมเกรนอันมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินอันเป็นผลมาจากอาหารและความเครียดในปัจจุบัน รวมถึงการใช้ยาคุมกำเนิดและการใช้ยาที่เกี่ยวกับฮอร์โมน ซึ่งคนเหล่านี้มักจะปวดศีรษะไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนเป็นประจำ
การบูรณาการองค์ความรู้ “กดจุดตามสัญญาณ” ในแนวทางของแพทย์แผนไทยประยุกต์นั้นช่วยรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมากอยู่แล้ว แต่เมื่อมาผสมผสานกับการครอบแก้วแบบเจาะเอาเลือดออกของอิสลาม (ฮิจามะ) หรือที่การแพทย์แผนไทยเรียกว่า “การกอกเลือด” ได้ส่งผลทำให้การรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก จนถึงขั้นไม่ต้องใช้ยาเคมีเพื่อลดอาการปวดอีกเลย
การปวดศีรษะไมเกรนจากออฟฟิศซินโดรมหรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่หดรัดตัว มีโอกาสที่จะทำให้เกิดแรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้ (หย่อนหรือพิการ ตามนิยามการแพทย์แผนไทยเนื่องจากเกิดการอั้นของเลือดลม)
การวินิจฉัยจะต้องแยกแยะให้ได้ว่า เส้นหลอดเลือดตีบอันเป็นเหตุที่ทำให้ปวดศีรษะนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อรัดตัว หรือเกิดจากลิ่มเลือด/ไขมันอุดตันในหลอดเลือด หรือเกิดขึ้นจากทั้งสองสาเหตุร่วมกัน เมื่อวินิจฉัยแยกแยะถูกแล้วจึงรักษาที่ต้นเหตุให้ถูกต้องตามแนวทางของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
เช่นเดียวกับเรื่อง “กัญชา” ก็เป็นสมุนไพรตัวหนึ่งในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโรคไมเกรนที่เกิดจากความเครียด นอนไม่หลับ หรือเกิดความผิดปกติของสารสื่อประสาทอันเนื่องมาจากความบกพร่องของสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในร่างกายได้ ถ้าการปวดศีรษะไมเกรนมาจากสาเหตุดังที่กล่าวมานี้ การเลือกพันธุ์กัญชาที่มีสารสำคัญที่เหมาะสมและกำหนดปริมาณการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมก็สามารถนำมาช่วยลดความถี่และความรุนแรงในการปวดศีรษะไมเกรนได้เช่นกัน”
สำหรับเรื่องอาหารก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ เพราะถ้าผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนสามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝง (IgG) ได้ ก็อาจจะช่วยลดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้อีกด้วย อย่างน้อยคือช่วยการอักเสบที่เกิดขึ้นจากอาหารที่ไม่พึงประสงค์
วิธีการคือตรวจเลือดเพื่อดูผลจากห้องแลปว่าในจำนวนอาหาร 200 กว่าชนิดนั้น ผู้ป่วยควรจะเลี่ยงอาหารอะไรบ้าง เพราะอาหารเหล่านี้สามารถสร้างการอักเสบให้เกิดขึ้นจนสามารถเป็นสาเหตุของการปวดศีรษะไมเกรนได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น วารสารด้านโรคปวดศีรษะ Cephalalgia ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ว่าด้วยเรื่องการทดลองแบบสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนจำนวน 30 คน โดย 2 สัปดาห์แรกรับประทานอาหารได้อิสระ และ อีก 6 สัปดาห์รับประทานควบคุมอาหารต้องห้ามตามผลการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ผลปรากฏว่าจำนวนวันที่ปวดศีรษะไมเกรนลดลงจาก 10 วัน เหลือ 7.5 วัน ในขณะที่จำนวนครั้งที่มีการปวดศีรษะไมเกรนจาก 9.2 ครั้ง เหลือ 6.2 ครั้ง [6]
สรุปให้เป็นภาษาชาวบ้านคือการควบคุมอาหารจะช่วยลดความถี่และจำนวนวันที่เกิดโรคไมเกรนให้ลดลงได้ประมาณ 30 %
ทั้งนี้ สาเหตุของโรคที่แตกต่างกันก็ย่อมต้องนำไปสู่การรักษาที่แตกต่างกัน โดยวารสารทางการแพทย์อีกหลายฉบับให้ความสนใจในเรื่องปัญหาของหลอดเลือดที่อาจสัมพันธ์กับโรคปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งก็ต้องมีการบำบัดรักษาซึ่งมุ่งเป้าไปที่ปัญหาของการอักเสบของหลอดเลือดด้วย
วารสารทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมอง Stroke ฉบับปี พ.ศ. 2554 ได้รายงานเอาไว้ว่า “โรคปวดศีรษะไมเกรนที่เห็นแสงออร่า ได้พบรายงานอย่างต่อเนื่องว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกเพิ่มขึ้นเป็น 216%”[7] โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงซึ่งปวดศีรษะเห็นแสงออร่าถ้ายิ่งเป็นถี่มากขึ้นก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบมากขึ้นไปอีก [8] [9]
ไม่เพียงแต่โรคหลอดเลือดสมองตีบเท่านั้น กลุ่มผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคไมเกรนที่เห็นแสงออร่านั้น ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอีกด้วย [10] [11] [12]
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิธานพบว่า “กลุ่มผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนแต่ไม่เห็นแสงออร่านั้นยังไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก” [13] [14] และสำหรับผู้ชายที่ปวดศีรษะไมเกรนกับโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกนั้นงานวิจัยก่อนหน้านี้ยังมีความขัดแย้งกันและยังไม่ได้ข้อยุติ [13] [15] [16]
จนกระทั่งเมื่อมีงานวิจัยระดับชาติของประเทศเดนมาร์ก ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 ซึ่งได้ติดตามความสัมพันธ์ของโรคไมเกรนกับโรคหลอดเลือดทั้งหลาย ซึ่งติดตามผลการศึกษาต่อเนื่อง 19 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 ถึง พ.ศ. 2556 ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคไมเกรนมากถึง 51,032 คน จากประชากรทั่วไปที่สำรวจจำนวน 510,320 คน พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ประชาชนที่ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้น 49%, เสี่ยงเป็นโรคเส้นโลหิตสมองตีบเพิ่มขึ้น 226%, เสี่ยงเป็นโรคเส้นโลหิตสมองแตกเพิ่มขึ้น 94%, เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดดำตีบตันเพิ่มขึ้น 59%, เสี่ยงภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วผิดจังหวะเพิ่มขึ้น 25%
แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะกล่าวโดยสรุปว่าโรคไมเกรนคือ “สัญญาณ” การเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดโดยรวม แต่ความเสี่ยงสูงที่สุดก็ยังคงเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ และงานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้ยังได้ระบุเอาไว้ด้วยว่าความเสี่ยงจะสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนแบบเห็นแสงออร่า [17]
บทเรียนจากงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาของผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคไมเกรนแบบเห็นแสงออร่านั้น จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “หลอดเลือด”เพิ่มเติมมากขึ้นกว่าการรักษาโรคไมเกรนทั่วไปตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะกรณีเช่นนี้การปวดศีรษะไมเกรนแบบเห็นแสงออร่าเป็น “ปลายเหตุ” แต่ต้นเหตุมาจาก “ปัญหาหลอดเลือดตีบ”
สำหรับการปรับวิถีชีวิตของกลุ่มที่เป็นโรคไมเกรนที่เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองนั้น ควรปรับอาหารที่เน้นพืชผักมากขึ้น รับประทานธัญพืชครบส่วนมากขึ้น รับประทานผลไม้(ไม่หวาน)มากขึ้น หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง หลีกเลี่ยงแป้งขัดขาวหรือน้ำตาลที่มากเกิน [18] และหลีกเลี่ยงไขมันผัดทอดจากไขมันไม่อิ่มตัว [19] รวมถึงการทำคีเลชั่นโดยใช้สาร EDTA เพื่อละลายลดโลหะหนักออกจากหลอดเลือดเพื่อทำให้ภาวะหลอดเลือดตีบลดลง ก็มีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้อีกประมาณ 23% [20]
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นข้อมูลในเวลานั้นว่าการเกิดโรคไมเกรนมีสาเหตุที่มีความแตกต่างกันได้หลากหลายประการซึ่งย่อมนำไปสู่วิธีการบำบัดรักษาแตกต่างกัน และในหลายกรณีพบว่าการบูรณาการรักษาด้วยหลายวิธีการตามสาเหตุของโรคปวดศีรษะไมเกรนที่แตกต่างกันก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนได้ดีขึ้น
แต่สำหรับกัญชากับโรคปวดศีรษะไมเกรนนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการสารกัญชาในร่างกายที่เรียกว่า เอ็นโดแคนนาบินอยด์ลดน้อยลงหรือพร่องไปก็ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีความพยายามจากนักวิจัยในการศึกษาหากลไกการทำงานดังกล่าวมากขึ้นเป็นลำดับ ดังปรากฏตัวอย่างในวารสารทางเภสัชศาสตร์ที่ชื่อ Frontier in Phamacology ฉบับเมื่อเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562 [21] ซึ่งพบว่าประวัติศาสตร์การใช้กัญชาของมนุษย์ในอดีตนั้นได้ถูกนำมาใช้เพื่อบำบัดรักษาการปวดศีรษะมานานแล้ว อีกทั้งยังมีรายงานกรณีศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยที่พบว่ากัญชาช่วยการบำบัดการปวดศีรษะได้ [22]
วารสารทางด้านเภสัชบำบัดที่ชื่อว่า Pharmacotherapy ฉบับเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2559 ได้รายงานผู้ใหญ่ซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนจำนวน 121 คน และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในคลินิกที่มลรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าให้ใช้กัญชาในการป้องกันและบำบัดระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 - กันยายน พ.ศ. 2557 โดยมีการเยี่ยมคนไข้ติดตามผลอย่างน้อย 1 ครั้ง ผลปรากฏดังนี้
1. “ความถี่” ในการปวดศีรษะไมเกรนต่อเดือนลดลงจาก 10.4 ครั้ง เหลือ 4.6 ครั้ง โดยผู้ป่วยทั้งหมดได้ใช้กัญชาทุกวัน ซึ่งมีการใช้มากกว่า 1 รูปแบบสำหรับการป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน
2. คนไข้ปวดศีรษะไมเกรนจำนวน 48 คน (คิดเป็นร้อยละ 39.7) ที่มีอาการดีขึ้น โดยที่พบมากที่สุดในการป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนนั้น คือ “ลดความถี่ในการปวดศีรษะไมเกรนน้อยลง”จำนวนทั้งสิ้น 24 คน (คิดเป็นร้อยละ 19.3) และไม่ปวดศีรษะไมเกรน 14 คน (คิดเป็นร้อยละ 11.6)
3. รูปแบบการใช้กัญชาด้วยการ ”สูบกัญชา”หรือ “สูดกัญชา” ได้ถูกนำมาใช้เป็นปกติสำหรับการบำบัดอาการ “ปวดศีรษะไมเกรนรุนแรง” โดยพบว่ารูปแบบดังกล่าวนี้ทำให้อาการปวดศีรษะไมเกรนหายไป
4. ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนจำนวน 14 คน (คิดเป็นร้อยละ 11.6) รายงานว่าได้รับรายงายผลเชิงลบของการใช้กัญชา โดยรายงานผลเชิงลบที่พบมากที่สุดคือคือทำให้มีอาการง่วงนอนจำนวน 2 คน (คิดเป็นร้อยละ 1.7) และรายงานผลเสียอันเนื่องมาจากความยุ่งยากในการควบคุมผลที่เกิดจากการใช้ปริมาณกัญชาในรูปแบบเฉพาะ “การรับประทาน” ทั้งในเรื่องเวลาในการออกฤทธิ์และฤทธิ์ของกัญชาจำนวน 2 คน (คิดเป็นร้อยละ 1.7)
งานวิจัยดังกล่าวนี้จึงสรุปว่าความถี่การปวดศีรษะไมเกรนลดลงจากการใช้กัญชา อีกทั้งแนะนำว่าสมควรให้มีการทำการวิจัยไปข้างหน้าในเรื่องของความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลอันเนื่องมาจากสายพันธุ์ รูปแบบการใช้กัญชา และปริมาณการใช้กัญชาเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องการใช้กัญชาในการป้องกันและบำบัดรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนต่อไป [23]
แต่สำหรับประเทศไทยแล้วมีการใช้กัญชาใต้ดินมานานแล้ว หากมีการรวบรวมองค์ความรู้การใช้กัญชาใต้ดินอย่างเป็นระบบ แล้วนำมาบูรณาการจากองค์ความรู้หลายศาสตร์ที่นำมาใช้ในการป้องกันและบำบัดรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนที่การแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนไทยประยุกต์ทำได้ผลดีอยู่แล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากสามารถพ้นความทุกข์ทรมานจากการปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างแน่นอน
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา, ผศ.พญ.สิวาพร จันทร์กระจ่าง,DR.Sheena K.Aurora, เผยคนไทยเป็นไมเกรนสูงกว่าร้อยละ 17 พบในหญิงมากกว่าชายถึง 3 เท่าตัว, MGR Online, หน้าแรกผู้จัดการ Online/สุขภาพ, 6 มีนาคม 2560
[2] นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย, ออฟฟิศแย่ทำ “สุขภาพ”แย่ เผย 3 อาการสุดฮิตวัยทำงาน แนะ 4 วิธีสร้างสถานที่ทำงานน่าอยู่, ASTVผู้จัดการออนไลน์, หน้าหลัก/ชุมชน-คุณภาพชีวิต/สุขภาพ/ข่าว, 25 สิงหาคม 2558
[3] Lisa Li-Chen Hsieh et al., Effect of Acupressure and Trigger Points in Treating Headache: A Randomized Controlled Trial. The American Journal of Chinese Medicine, Volume 38, Issue 01, 2010
[4] Alireza Ahmadi, David C. Schwebel, and Mansour Rezaei,
The Efficacy of Wet-Cupping in the Treatment of Tension and Migraine Headache,The American Journal of Chinese Medicine, January 2008, Vol. 36, No. 01 : pp. 37-44
[5] สมเกียรติ ศรไพศาล, ยิ่งศักดิ์ จิตตะโคตร์, สีไพร พลอยทรัพย์, สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ประสิทธิภาพการกดจุดบำบัด (The Effectiveness of Accupressure), Journal of Bureau of Alternative Medicine, Vol.2 No.3 September-December 2009 : pp 11-13
[6] Alpay K, Ertaş M, Orhan EK, Üstay DK, Lieners C, Baykan B. Diet restriction in migraine, based on IgG against foods: A clinical double-blind, randomised, cross-over trial. Cephalalgia . 2010;30(7):829-837.
[7] Goldstein LB, Bushnell CD, Adams RJ, Appel LJ, Braun LT, Chaturvedi S, et al. Guidelines for the primary prevention of stroke: a guideline for healthcare professionals from the American Heart Association/American Stroke Association. Stroke. 2011;42:517-584. [PubMed]
[8] Kurth T, Schurks M, Logroscino G, Buring JE. Migraine frequency and risk of cardiovascular disease in women. Neurology. 2009;73:581-588. [PubMed]
[9] MacClellan LR, Giles W, Cole J, Wozniak M, Stern B, Mitchell BD, et al. Probable migraine with visual aura and risk of ischemic stroke: the stroke prevention in young women study. Stroke. 2007;38:2438-2445. [PubMed]
[10] Kurth T, Winter AC, Eliassen AH, et al. Migraine and risk of cardiovascular disease in women: prospective cohort study. BMJ2016;353:i2610. doi:doi:10.1136/bmj.i2610pmid:27247281
[11] Sacco S, Ornello R, Ripa P, et al. Migraine and risk of ischaemic heart disease: a systematic review and meta-analysis of observational studies. Eur J Neurol2015;22:1001-11. doi:doi:10.1111/ene.12701pmid:25808832
[12] Schürks M, Rist PM, Bigal ME, Buring JE, Lipton RB, Kurth T. Migraine and cardiovascular disease: systematic review and meta-analysis. BMJ2009;339:b3914. doi:doi:10.1136/bmj.b3914pmid:19861375
[13] Schurks M, Rist PM, Bigal ME, Buring JE, Lipton RB, Kurth T. Migraine and cardiovascular disease: systematic review and meta-analysis. BMJ. 2009;339:b3914.[PubMed]
[14] Spector JT, Kahn SR, Jones MR, Jayakumar M, Dalal D, Nazarian S. Migraine headache and ischemic stroke risk: an updated meta-analysis. Am J Med. 2010;123:612-624. [PubMed]
[15] Buring JE, Hebert P, Romero J, Kittross A, Cook N, Manson J, et al. Migraine and subsequent risk of stroke in the Physicians’ Health Study. Arch Neurol. 1995;52:129-134. [PubMed]
[16] Gudmundsson LS, Scher AI, Aspelund T, Eliasson JH, Johannsson M, Thorgeirsson G, et al. Migraine with aura and risk of cardiovascular and all cause mortality in men and women: prospective cohort study. BMJ. 2010;341:c3966. [PubMed]
[17] Kasper Adelborg, et al., Migraine and risk of cardiovascular diseases: Danish population based matched cohort study.BMJ 2018;360:k96, Published 31 January 2018
[18] Campbell T. A plant-based diet and stroke. Journal of Geriatric Cardiology : JGC.2017;14(5):321-326.
[19] Ramsden CE , Zamora D , Majchrzak-Hong S , et al . Re-evaluation of the traditional diet-heart hypothesis: analysis of recovered data from Minnesota coronary experiment (1968-73). BMJ2016;353:i1246.
[20] Lamas GA, Goertz C, Boineau R, et al. Effect of disodium EDTA chelation regimen on cardiovascular events in patients with previous myocardial infarction: The TACT Randomized Trial. JAMA : the journal of the American Medical Association.2013;309(12):1241-1250.
[21] Leimuranta P, Khiroug L, Giniatullin R. Emerging Role of (Endo)Cannabinoids in Migraine. Front Pharmacol. 2018;9:420. Published 2018 Apr 24. doi:10.3389/fphar.2018.00420
[22] Lochte BC, Beletsky A, Samuel NK, Grant I. The Use of Cannabis for Headache Disorders. Cannabis Cannabinoid Res. 2017;2(1):61-71. Published 2017 Apr 1. doi:10.1089/can.2016.0033
[23] Danielle N. Rhyne, et al., Effects of Medical Marijuana on Migraine Headache Frequency in an Adult Population, Pharmacotherapy, First published: 09 January 2016 https://doi.org/10.1002/phar.1673