xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะมีความสุขมากกว่าใคร พ่อแม่ที่ให้เงินลูกหรือพ่อแม่ที่ได้เงินจากลูก?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
รองศาสตราจารย์ ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นายวศิน แก้วชาญค้า
ศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ลูกแทบทุกคน โดยเฉพาะลูกคนไทยเชื้อสายจีน ในประเทศไทยมักถูกสอนกันมาว่า เงินเดือนเดือนแรก ต้องให้พ่อแม่เท่านั้นให้เขาดีใจ จริง ๆ แล้วพ่อแม่ไม่ได้ต้องการเงิน แต่ได้ความสุขใจ เอาไปคุยกับคนอื่น ๆ ได้สามวันแปดวัน เรียกว่าได้หน้านั่นแหละ คนเป็นพ่อเป็นแม่นั้นการได้เงินจากลูกทำให้เกิดความสุขใจ เงินที่ลูกให้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจพ่อแม่

ในอีกทางพ่อแม่บางครั้งจะรู้สึกใจหายหากลูกบอกว่าต่อไปนี้จะไม่ต้องมาขอเดินพ่อแม่อีกแล้วนะ ทำงานแล้วรับผิดชอบดูแลตัวเองได้ พูดง่าย ๆ การเลิกขอเงินพ่อแม่นี้เปรียบเสมือนการตัดสายสะดือครั้งที่สองหลังจากตัดสายสะดือครั้งแรกเมื่อแรกคลอด

ในทางกลับกัน ลูกที่โตแล้ว แต่เงินไม่พอใช้ ยังต้องขอเงินพ่อแม่ใช้อยู่ก็มี เช่น ลูกบางคนที่รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะพ่อแม่สั่งไว้ว่าให้ซื่อสัตย์สุจริต หากเงินไม่พออย่าไปโกงแผ่นดินหรือโกงประชาชน ให้มาขอเงินพ่อแม่ใช้แทนแบบนี้ก็มี

หรืออีกแบบคือการที่ลูกทำงานแล้ว รายได้ก็ดี แต่ใช้เงินมือเติบ รายได้ต่ำ รสนิยมสูง ใช้เงินเกินตัวไปมาก ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง อาจจะออกเที่ยวกลางคืนทุกคืน ดื่มเหล้า หรือเล่นพนัน แบบนี้เงินมีเท่าไหร่ก็หมด หาเงินได้ ไม่สำคัญเท่ากับใช้เงินเป็น ลูกที่ขอเงินพ่อแม่อย่างหลังนี้อาจจะทำให้พ่อแม่ไม่สุขใจเท่าไหร่นัก

ในอีกมุมหนึ่ง การที่ลูกยังต้องขอเงินพ่อแม่ใช้เป็นการที่พ่อแม่ยังไม่ตัดสายสะดือจากลูกแม้ว่าลูกจะโตแล้วมากแค่ไหน ก็ยังคงเป็นเด็กในโอวาทและการปกครองดูแลเลี้ยงดูของพ่อแม่ เพราะยังต้องขอเงินพ่อแม่ใช้อยู่ ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าตนยังมีอำนาจเหนือกว่าลูก เป็นเรื่องของการแสดงอำนาจที่จะควบคุมลูกได้บ้าง อย่างน้อยก็ไม่ให้เงินใช้ก็ยังทำได้

ผลการศึกษาการเกื้อกูลและโครงสร้างครอบครัวในครอบครัวผู้สูงอายุไทยโดย รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์และนายวศิน แก้วชาญค้า จาก Panel data ส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจ Health, Aging, and Retirement in Thailand (HART) ในปี 2015 และปี 2017 ซึ่งสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้สูงอายุไทยในหลากหลายมิติ ได้นำข้อมูลในส่วนของครอบครัวและระบบการเกื้อกูล และส่วนของความคาดหวังในชีวิต/ความพึงพอใจในชีวิต มาศึกษา ได้ตัวอย่างที่มีข้อมูลสมบูรณ์ครบถ้วนสำหรับใช้ศึกษาต่อจำนวน 2,172 หน่วยตัวอย่างมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายอย่าง

ประการแรก ครัวเรือนครึ่งหนึ่งของการสำรวจ (50%) มีการเกื้อกูลในครอบครัว เช่น พ่อแม่ให้เงินลูก หรือ ลูกให้เงินพ่อแม่ หรือทั้งสองทาง เรียกว่าการเกื้อกูลแบบสองทาง ร้อยละ 9.94 ส่วนการเกื้อกูลทางเดียวโดยจากบุตรไปยังผู้สูงอายุ ร้อยละ 35.41 และการเกื้อกูลทางเดียวจากผู้สูงอายุไปยังบุตร ร้อยละ 4.65 จะเห็นได้ชัดเจนว่าพ่อแม่หรือผู้สูงอายุได้รับการเกื้อกูลหรือได้เงินใช้หรือเลี้ยงดูจากลูกร้อยละ 35 ส่วนพ่อแม่ที่ยังให้เงินลูกใช้มีเพียงร้อยละ 4.65 เท่านั้น

ประการที่สอง จำนวนเงินที่บุตรมอบให้แก่ผู้สูงเฉลี่ยที่ 21,600 บาท/ปี และจำนวนเงินที่ผู้สูงอายุมอบให้แก่บุตรเฉลี่ยเท่ากับ 27,000 บาท/ปี ซึ่งตั้งข้อสังเกตได้ว่าพ่อแม่ที่ให้เงินลูกนั้นแม้จะมีสัดส่วนน้อยมากแต่มักจะให้เงินลูกมากกว่าเงินที่ลูกให้พ่อแม่โดยเฉลี่ย และน่าจะพออนุมานได้ว่าพ่อแม่ที่ให้เงินลูกใช้อยู่มักจะมีฐานะทางการเงินที่ดีกว่า

ประการที่สาม โครงสร้างครอบครัวแบบขยาย (Extended family) และมี 2 Generations ในครอบครัวร่วมกัน มีแนวโน้มที่พ่อแม่จะให้เงินเกื้อกูลแก่ลูก และในทางกลับกันมีแนวโน้มที่ลูกจะไม่ให้เงินพ่อแม่

เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าลูกยังไม่มีฐานะทางการเงินมั่นคงเพียงพอที่จะแยกออกไปอยู่เองเป็นครอบครัวเดี่ยว (Nuclear family) และยังต้องพึ่งพิงทางการเงินจากพ่อแม่อยู่ ทำให้เกิดครอบครัวขยาย พ่อแม่นอกจากจะเกื้อกูลทางการเงินให้ลูกที่ยังมีฐานะทางการเงินไม่มั่นคงพอที่จะให้เงินพ่อแม่แล้ว ยังต้องใช้เงินพ่อแม่อีกด้วย นอกจากนี้พ่อแม่อาจจะต้องช่วยเลี้ยงดูหลานตลอดจนช่วยเหลือเกื้อกูลทางการเงินในการเลี้ยงดูหลานให้กับลูกของตัวเองด้วย และสำหรับคนแก่แล้วหลงหลานรักหลานยิ่งกว่าลูกของตัวเอง เห็นมามากมาย การที่ได้ช่วยเหลือทางการเงินกับลูกและหลาน ตลอดจนการมีลูกหลานอยู่ในบ้านเดียวกันยิ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจควบคุมปกครองดูแลลูกหลาน และมีความรู้สึกอบอุ่นใจที่มีลูกหลานอยู่รอบกายมากมาย โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีเงินหรือมีฐานะดี

ประการที่สี่ การเกื้อกูลทางการเงินจากผู้สูงอายุไปยังบุตรมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในชีวิตของพ่อแม่สูงมาก การที่พ่อแม่มีฐานะทางการเงินดีก็อาจจะมีความสุขมากพอสมควรแล้วเมื่อสูงวัย ไม่ลำบากต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูตัวเอง แต่การที่มีฐานะการเงินดีพอที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลทางการเงินให้กับลูกได้ ยิ่งช่วยให้สุขใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการมีอำนาจปกครองดูแลเลี้ยงดูลูก หรืออีกส่วนหนึ่งเพราะได้อยู่พร้อมกันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว พ่อแม่และลูกหลาน

ประการที่ห้า ครอบครัวขยายที่อยู่ด้วยกันสามรุ่น (พ่อแม่ ลูก และหลาน) หรือมากกว่าสามรุ่น มีแนวโน้มที่พ่อแม่จะมีความสุขในชีวิตมาก ซึ่งเหตุผลน่าจะคล้ายกับประการที่สามและสี่ที่เพิ่งกล่าวไป

ดังนั้นผลการศึกษากลับย้อนแย้งกับสามัญสำนึกโดยทั่วไปที่เราเชื่อกันว่า พ่อแม่จะได้หน้าและมีความสุขเมื่อลูกให้เงินใช้ แต่กลับกลายเป็นว่าพ่อแม่ที่มีฐานะดีอยู่แล้วซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก แต่ลูกหลานยังอยู่อาศัยในชายคาบ้านเดียวกันและยังต้องใช้เงินหรือได้เงินจากพ่อแม่เป็นการเกื้อกูลกลับมีความสุขมากกว่า ส่วนหนึ่งคือครอบครัวที่มีฐานะดีมั่นคง มักจะมีการศึกษาดี และลูกหลานได้เรียนหนังสือดีและทำงานดี แต่ชีวิตเมื่อเริ่มต้นทำงานอาจจะยังไม่ได้เข้มแข็งทางการเงินมากนัก ในอีกด้านการที่พ่อแม่ยังแข็งแรงมีรายได้ ทำงานได้ หรือหาเงินได้ ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและมีความหมาย มีความสุขในชีวิตมากอย่างชัดเจน การที่พ่อแม่ซึ่งโดยพื้นฐานของจิตใจต้องการเป็นผู้ให้อยู่แล้วมากกว่าต้องการได้รับ ทำให้การได้เกื้อกูลทางการเงินกับลูกหลานช่วยให้ชีวิตมีความสุขใจมากยิ่งขึ้น

ปัญหาคือมีพ่อแม่ที่มีฐานะมั่นคงทางการเงินและให้เงินเกื้อกูลลูกหลานพึ่งพิงได้จากการสำรวจมีไม่มากนักเพียงร้อยละ 4.65 เท่านั้น และสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น (Aged society) ที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้เตรียมพร้อมทางการเงินหลังการเกษียณ หลายคนยังต้องทำงานอยู่เพียงเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพของผู้สูงวัยเท่านั้น

สำหรับลูกเมื่อได้อ่านบทความนี้แล้วก็หาได้สมควรที่จะไม่ให้เงินช่วยเหลือเกื้อกูลพ่อแม่แต่อย่างใด ถึงผลการวิจัยจะบอกว่าพ่อแม่มีความสุขในชีวิตหากได้ให้เงินช่วยเหลือเกื้อกูลลูกหลาน ซึ่งพ่อแม่ที่ฐานะทางการเงินดีมั่นคงจนเกื้อกูลทางการเงินลูกหลานได้นั้นมีไม่มากนัก การให้เงินพ่อแม่ของลูกหลานไม่ใช่เพียงแค่ความสุข หรือการได้หน้าได้ตา แต่อาจจะหมายถึงการดำรงชีวิตโดยสมควร มีเงินไปทำบุญ เข้าวัดเข้าวา หรือออกไปเที่ยวกับเพื่อนได้บ้าง หรือขั้นต่ำที่สุดพ่อแม่จะได้มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค หรือเช่าที่อยู่อาศัยได้ โดยมีชีวิตไม่ยากลำบากมากจนเกินไป

สำหรับลูกที่มีพ่อแม่ฐานะทางการเงินดี และตัวเองก็มีฐานะทางการเงินดี อย่าปฏิเสธการช่วยเหลือเกื้อกูลทางการเงินจากพ่อแม่ ซึ่งช่วยให้พ่อแม่มีความสุข แต่หากไม่เดือดร้อนเรื่องเงินก็ควรเก็บเงินนั้นไว้เผื่อจำเป็นต้องใช้ในการรักษาพยาบาลพ่อแม่ยามป่วยไข้ หรือแม้กระทั่งจัดงานศพตามสมควรให้กับพ่อแม่ ในอีกด้าน การเกื้อกูลทางการเงินกลับให้พ่อแม่แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจจะเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจพ่อแม่ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับลูกที่พ่อแม่มีฐานะการเงินดีมั่นคง แต่ตัวเองยังมีฐานะการงานหรือฐานะทางการเงินไม่มั่นคง ควรต้องสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บเงิน ออมเงิน มีวินัยทางการเงิน หาเงินได้ ไม่สำคัญเท่ากับใช้เงินเป็น และจงวางแผนเกษียณอายุโดยการวางแผนการเงินและการออมให้ดี อย่าต้องให้ตกเป็นภาระแก่ลูกหลานในอนาคตได้ อยากเป็นพ่อแม่ที่มีความสุขเพราะมีเงินพอที่จะดูแลตัวเองได้ และดูแลลูกหลานได้ด้วยหรือไม่ จะคาดหวังได้อย่างไรว่าลูกหลานจะให้เงินเลี้ยงดู และยิ่งไม่ควรคาดหวังเลยว่ารัฐบาลจะเลี้ยงดูผู้สูงอายุได้

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น (Aged society) เราผ่านภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) มานานแล้ว และกำลังจะมีปัญหาต่อไปอีกมาก ทำอย่างไรจะให้ผู้สูงอายุไทยในอนาคตซึ่งก็คือพ่อแม่ของเราและตัวเราเองในอนาคตมีความมั่นคง และยั่งยืนได้ ศูนยวิจัยผู้สูงอายุ สำนักวิจัย นิด้า จัดสัมมนาวิชาการประจำปี ในวันที่ 25 นี้ เข้าร่วมงานได้ฟรี เหลือที่นั่งอีกไม่มากนัก ในงานมีหัวข้อนำเสนอที่น่าสนใจ เช่น การใช้บริการสุขภาพของผู้สูงอายุ การทำงานของผู้สูงอายุและการเกษียณ ความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบจะได้รับบำนาญจากกองทุนการออมแห่งชาติอย่างยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งน่าจะช่วยตอบคำถามและเตรียมพร้อมสำหรับสังคมไทยในการรับมือกับภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้นที่จะมาถึงในอีกไม่นานได้ดีมากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และมั่นคงมากขึ้น

ถามตัวเองดูว่ามีความพร้อมกับการเป็นผู้สูงอายุหรือยัง และจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระกับสังคมและลูกหลาน หรือในทางกลับกัน แข็งแรง มั่นคง ฐานะการเงินดี พึ่งพาดูแลตนเองได้ และช่วยเหลือเกื้อกูลลูกหลานได้ แล้วเราจะมาพูดคุยกันในงานสัมมนาในประเด็นเหล่านี้ครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น