xs
xsm
sm
md
lg

ฝนทิ้งช่วงภัยแล้งลามหนัก “ป่าสักชลสิทธิ์”น้ำเหลือแค่4%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สถานการณ์ภัยแล้งวิกฤติหนัก หลังจากฝนทิ้งช่วง "เขื่อนป่าสักฯ" น้ำในเขื่อนเหลือแค่ 4% ชุมชนเก่าโผล่จากน้ำ ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำพร้อมใช้งาน แค่ 7.77% ชาวบ้านครวญหนักยิ่งกว่าปี 58 ส่วนที่เชียงใหม่ ผู้ว่าฯ สั่งการทุกภาคส่วนเตรียมการรับมือ เพื่อไม่ให้พืชผลการเกษตรเสียหาย

จากสถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในเขื่อนหลักในภูมิภาคต่างๆ ลดระดับลงอย่างน่าเป็นห่วง รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ก็มีปริมาณน้ำเหลือน้อยเช่นกัน

นายศุภชัย มโนการ ผู้อำนวยการส่งน้ำและบุรุงรักษาเขื้อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงวิกฤตหลังจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ล่าสุดปริมาณน้ำสะสมอยู่ในอ่างเก็บน้ำร้อยละ 4.82 หรือมีน้ำสะสมอยู่ที่ 46 ล้านลบ.ม. จากความจุทั้งหมดที่ 960 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่มีฝนตกลงมาในลุ่มน้ำป่าสักเลย ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงอ่างของเขื่อน แต่ทางเขื่อนป่าสักฯ จำเป็นต้องระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน เพื่อรักษาระบบนิเวศและใช้ในการอุปโภคบริโภค จากสภาพน้ำที่ลดลงของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในปีนี้ทำให้มองเห็นชุมชนเก่า บ้านเรือน วัด ที่ถูกน้ำท่วมจมอยู่ใต้เขื่อนโผล่ขึ้นมาให้ได้เห็นอีกครั้งในรอบหลายปี และจะเป็นจุดท่องเที่ยวอีกจุดของเขื่อนในช่วงหน้าแล้ง

สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรีในปีนี้ มีปริมาณน้ำน้อยเท่ากับปี 58 ที่แล้งหนัก มีปริมาน้ำสะสมอยู่ใยระดับเดียวกัน และขณะนี้ทางเขื่อนป่าสักได้มีการทำการลักน้ำเพื่อผันน้ำไปช่วยหมู่บ้านท้ายเขื่อนให้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้อย กรมชลประทาน โดย สำนักงานชลประทานที่ 10 จึงได้ดำเนินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ 3 อำเภอ ของ จ.ลพบุรี ได้แก่ อ.สระโบสถ์ อ.โคกเจริญ และ อ.โคกสำโรง โดยทำการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่งน้ำตามระบบท่อไปยังพื้นที่ดังกล่าว อำเภอละ 10,000 ไร่ รวมพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ ในขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำได้ลดระดับลง จึงส่งผลให้การเดินเครื่องสูบน้ำทำได้อย่างจำกัด จากปกติเคยสูบได้วันละประมาณ 20,000 ลบ.ม. แต่ตอนนี้สูบได้เพียงวันละประมาณ 8,333 ลบ.ม. ถึงอย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ยังคงเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของราษฎรในพื้นที่

เขื่อนสิริกิติ์ เหลือน้ำให้ใช้แค่7.7%

ส่วนที่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งในเขื่อนขนาดใหญ่ของภาคเหนือ ขณะนี้ มีระดับน้ำพร้อมใช้งาน 517.35 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 7.77% ระบายน้ำวันละ 19 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 6,142.65 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 64.59%

นายคำหล้า ดอกพุฒ รักษาการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) น้ำหมัน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ตั้งแต่อ.ท่าปลา อพยพออกมาจากพื้นที่เดิมเพื่อมอบพื้นที่ให้กับกรมชลประทานสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ราวปี 2511 ก็ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องโดยราวปี 58 เคยประสบภัยแล้งอย่างหนัก แต่ปีนั้น น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ก็ยังพอมี อปท.ที่ประสบภัยแล้ง ยังสามารถนำรถบรรทุกน้ำจากการระบายน้ำมาตามคลองพระราชดำริ ไปช่วยชาวบ้านได้

แต่ปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ไม่มีเลย เหลือใช้งานเพียง 6-7% เท่านั้นเอง นอกจากนี้แรงดันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ที่ปล่อยมาช่วย อปท. และชาวบ้าน ก็มีไม่พอ อปท.และชาวบ้าน ต้องนำรถแบ็กโฮ ไปขุดเพื่อทำเป็นร่องให้น้ำค่อยๆระบายออกมาบริเวณท้ายเขื่อน บริเวณช่องเขาขาด ต.ท่าปลา อ.ท่าปลา แล้วใช้เครื่องสูบน้ำออกมาใส่รถบรรทุกน้ำ

"ปัญหาภัยแล้งปีนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่ ต.น้ำหมัน ที่เดือดร้อน แต่ชาวอ.ท่าปลา ตลอดจนคนภาคเหนือ ก็ประสบปัญหาไม่น้อยไปกว่ากัน วันนี้แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนมาแล้วกว่าเดือน แต่กลับไม่มีฝนตกลงมาเลย โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อนสิริกิติ์ ก็ไม่มีฝนตกมาเติมน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ให้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภค ขนาดฤดูฝนยังไม่มีฝนและน้ำ เหลืออีกกว่า 10 เดือน ถึงจะพ้นฤดูแล้งของปี 2563 ดังนั้นปีหน้าทั้งปี จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างแน่นอน เว้นเสียว่าจากนี้ไปจะเกิดฝนตกแล้วมีน้ำมาเติมอ่างเก็บน้ำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นเท่านั้นถึงจะผ่อนคลายความแห้งแล้งได้บ้างไม่มากก็น้อย"

ผู้ว่าเชียงใหม่สั่งทุกภาคส่วนรับมือ

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าสภาพฝนที่ตกในปี 2562 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ตั้งแต่ช่วงเริ่มฤดูฝนถึงปัจจุบัน ปริมาณฝนตกสะสมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 50-65 และมีการตกเป็นเฉพาะบางจุดไม่กระจายครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ขาดความต่อเนื่องทำให้มีน้ำท่าไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีน้อยมาก จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและทำความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวอีกกว่า 300,000 ไร่ ในช่วงนี้ขอให้ชะลอการปลูกไว้ก่อน ส่วนกระชังปลาควรชะลอการปล่อยปลาชุดใหม่ ลงกระชังขณะที่ไม้ผลไม้ยืนต้นให้เฝ้าระวังและบริหารจัดการเรื่องน้ำอย่างเหมาะสมให้ไม้ผลต่างๆ สามารถอยู่ได้โดยไม่ยืนต้นตายเพื่อให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรน้อยที่สุด

ด้านของการประปาน้ำอุปโภคบริโภคน้ำเพื่อการเกษตรมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงโดยไม่ตื่นตระหนก สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ยังมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย เจ้าหน้าที่ชลประทานได้มีการลงพื้นที่เพื่อการทำความเข้าใจให้กับประชาชนในการกำหนดมาตรการเพื่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการให้ความร่วมมือซึ่งหากทุกภาคส่วนช่วยกันอาศัยความร่วมมือจะไม่เกิดปัญหาการแย่งน้ำและลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ซึ่งในขณะนี้เจ้าหน้าที่ชลประทานมีมาตรการในการดูแลประตูน้ำเพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเสมอภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น