หลังจากรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 มีสถานะเป็นรัฐบาลโดยสมบูรณ์ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 16 กรกฎาคม เพียงวันเดียว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ออกแถลงการณ์ในนามนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ แสดงความยินดีกับรัฐบาลชุดใหม่ของไทย พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ เฝ้ารอที่จะได้ร่วมงานกับรัฐบาลไทยชุดใหม่ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของการเป็นพันธมิตร และหุ้นส่วนในระดับทวิภาคีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
อีกสองวันต่อมา นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานสภายุโรป นายฌอง โคลัด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ส่งสารแสดงความยินดีต่อพล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เป็นผลสำเร็จ
แม้จะเป็นเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติของมิตรประเทศ ที่จะแสดงความยินดีต่อผู้นำ และรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สำหรับรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ที่นายกรัฐมนตรี เป็นคนเดียวกับหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศด้วยอำนาจพิเศษ ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ และเป็นนายกฯ “คนนอก” ที่ถูกฝ่ายค้านโจมตีว่า สืบทอดอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ท่าทีของสหรัฐฯ และอียูในครั้งนี้มีความหมายอย่างยิ่ง
เพราะมันคือการรับรองยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าสู่อำนาจอย่างถูกต้องตามกติกาประชาธิปไตย ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ คสช.และรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เป็น “รัฐบาลพลเรือน” ดังคำกล่าวของนายเดวิด อาร์ สตีลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่เข้าพบนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม
ความเชื่อมั่นในสถานะของประทศไทย ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ถูกตอกย้ำเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อสถาบันจัดอันดับเครดิต ฟิทช์ เรทติ้งส์ ขยับ “Outlook” หรือมุมมองความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ และสกุลเงินบาทระยะยาวจากระดับ “มีเสถียรภาพ” (Stable Outlook) เป็น “เชิงบวก” (Positive Outlook) และคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ และสกุลเงินบาทระยะยาวที่ระดับ BBB+
อันดับความน่าเชื่อถือของระดับความเสี่ยงที่ประเทศต่างๆ จะผิดนัดชำระหนี้ เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของนักลงทุนในการตัดสินใจว่า จะให้รัฐบาลกู้เงินหรือไม่ และจะคิดดอกเบี้ยเท่าไร มีประมาณ 20 อันดับ แบ่งเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงต่ำมากถึงปานกลาง และกลุ่มความเสี่ยงสูง อันดับสูงสุด คือ AAA อันดับ BBB+ ของไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ
ประเทศไทยอยู่ในระดับ BBB+ มาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนมุมมอง คือ แนวโน้มที่อันดับเครดิตจะได้รับการปรับสูงขึ้นหรือลดลง หรืออยู่ที่เดิมในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
มุมมองเครดิตของไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ หรือคงที่มาตั้งแต่ปี 2555 การที่ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับมุมมองจากมีเสถียรภาพเป็นเชิงบวกหมายความว่า มีแนวโน้มที่ประเทศไทย จะได้รับการเลื่อนอันดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ ในปัจจุบันขึ้นไปอีก 1 ขั้นเป็น A– ในอนาคตอันใกล้
ปัจจัยที่ฟิทช์ เลื่อนมุมมองเครดิตของไทยเป็นเชิงบวก คือ
ฟิทช์มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยสะท้อนจากความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศ และภาคการคลังสาธารณะ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประเทศไม่อ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน ขณะที่ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญได้รับการแก้ไขภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงมีอยู่ โดยขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลผสม
ความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศของไทยเป็นจุดแข็งหลักต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ สะท้อนได้จากการที่สกุลเงินบาทไทยแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าร้อยละ 4.5 เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนและการลงทุนในตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน 2562
นอกจากนี้ รัฐบาลบริหารทางการคลังได้อย่างเข้มแข็งภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ฟิทช์คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีงบประมาณ 2561 เป็นร้อยละ 40.7 ในปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากรัฐบาลเร่งการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
การขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.4 ของจีดีพี เนื่องจากรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการเพื่อผู้มีรายได้น้อยและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วยคลี่คลายความไม่แน่นอนทางการเมือง และมีส่วนช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องของนโยบายที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน
ฟิทช์จะติดตามสถานการณ์สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทยได้แก่ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทย การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย และการพัฒนาทุนมนุษย์
ฟิทช์เป็น 1 ใน 3 สถาบันจัดอันดับเครดิตที่มีอิทธิพลต่อตลาดการเงินโลก อีกสองรายคือ มูดี้ส์ และเอสแอนด์พี ซึ่งจัดอันดับเครดิต และมุมมองเครดิตของไทย เหมือนกับฟิทช์ โดยทั่วไปอันดับเครดิตของประเทศต่างๆ ของทั้ง 3 สถาบันจะเหมือนกัน เพราะใช้หลักเกณฑ์คล้ายกัน
เมื่อฟิทช์ปรับมุมมองเครดิตของไทยเป็นเชิงบวกก่อน ทั้งมูดี้ส์ และแอสแอนด์ พี ก็น่าจะปรับตามในไม่ช้านี้