ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ในวงการเภสัชกรรมยุคปัจจุบันนั้นมีความก้าวหน้าและทันสมัยไปมากกว่าคนในรุ่นก่อนๆ มาก เพราะสามารถทำยาให้เกิดความปลอดภัย มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ
แต่การทำยาให้มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพนั้นก็มักจะตามมาด้วยต้นทุนการผลิตที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ซึ่งก็ส่งผลทำให้ต้นทุนในการผลิตยานั้นแพงขึ้นด้วย ซึ่งสวนทางการทำสมุนไพรตามภูมิปัญญาทางการแพทย์ของแต่ละประเทศที่แม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรฐานหรือประสิทธิภาพเท่ากับยาสมัยใหม่ แต่ก็มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่ายาแผนปัจจุบันเช่นกัน
การผลิตยาที่นับวันจะถูกกฎกติกาที่เพิ่มมาตรฐานสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ผู้ที่จะผลิตยาได้นั้นก็จะเป็นบริษัทยาขนาดใหญ่ที่พร้อมในการลงทุนหรือประกอบการมีกำไรมากที่มีความพร้อมในการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ผลิตยารายเล็กรายน้อยที่อยู่ไม่ได้ก็ค่อยๆถูกกลืนหายไปในที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกว่าจะได้ยาตัวหนึ่งมานั้นจะต้องมีการลงทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทดลองในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง ซึ่งห้องทดลองเหล่านี้ก็ต้องมีการลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกัน เมื่อดำเนินการมาแล้วจึงจะมีโอกาสที่จะมาทดลองใช้กับมนุษย์กลุ่มเล็กๆ และทำวิจัยเพิ่มในมนุษย์จำนวนมากขึ้น นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่ากว่าจะผลิตมาเป็นยาตัวหนึ่งได้นั้นนอกจากจะต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลแล้ว ยังจะต้องใช้เวลานานมากด้วย นั่นหมายถึงบริษัทยาเหล่านั้นจะต้องมีเงินหนาสายป่านยาวอีกด้วย
มาตรฐานยาที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็ด้วยเหตุผลสำคัญว่า “เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค”
แม้แต่ยาที่ใช้มานานแล้วก็ยังมีสิทธิที่จะถูกเรียกเก็บถ้าพบว่ามีการปนเปื้อน มีสารพิษ มีผลข้างเคียง หรือโฆษณาเกินสรรพคุณ
ตัวอย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2559 วารสารทางการแพทย์ชื่อ American Journal of Health-System Pharmacy ซึ่งจะทำการตรวจทานตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยและบทความโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดยาและการปฏิบัติร้านขายยาเฉพาะสำหรับโรงพยาบาล ได้ระบุว่าจากผลิตภัณฑ์ยาในประเทศสหรัฐอเมริกาเวลา 30 เดือน ระหว่างปี พ.ศ. 2555 - 2557 จำนวน 21,210 รายการ พบว่ามีจำนวน 3,045 รายการ หรือประมาณร้อยละ 14.4 พบว่า มีโรงงานจำนวน 348 แห่งที่มีการเรียกยาคืนหรือถูกเรียกยาคืน โดยเหตุผลที่มีการเรียกคืนได้แก่ เกิดการปนเปื้อน ฉลากไม่ถูกต้อง มีผลข้างเคียง ผลิตภัณฑ์ชำรุด และความแรงของยาไม่ถูกต้อง [1]
ตัวอย่างผลการเรียกคืนข้างต้นได้ส่งผลกระทบต่อยาทั่วโลกด้วย โดยตัวอย่างดังที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 25ที่องค์การอาหารและยาได้เรียกคืนยาลด ความดันโลหิตสูง ว่าสหรัฐอเมริกา และแคนาดาได้มีการเรียกคืนยารักษาโรคความดันโลหิตสูง “ลอซาร์แทน” เนื่องจากพบสารก่อมะเร็งในสารตั้งต้นการผลิตยาดังกล่าวในหนูทดลอง กลุ่มไนโตรซามีน คือ N-Nitroso-Nmethyl-4-aminobutyric Acid (NMBA) บางรุ่นของบริษัท Hetero Lab Limited (Unit-l) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ผลิตประเทศอินเดีย
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีบริษัทยา 9 แห่งที่มีการผลิตหรือนำเข้ายาลอซาร์แทน โดยมีทะเบียนตำรับที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในประเทศ 18 ตำรับ แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีเพียง 1 บริษัท คือ บริษัท เบอร์ลิน ฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี จำกัด ที่ได้นำเข้าวัตถุดิบตัวที่มีปัญหามาจากประเทศอินเดีย จำนวน 8 รุ่นการผลิต และผลิตเป็นยาสำเร็จรูปแล้ว 2 ทะเบียนตำรับ รวม 142 รุ่นการผลิต ในขณะเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ. 2561 ก็มีการเรียกเก็บคืนยารักษารักษาโรคความดันโลหิตสูง คือ ยาวาลซาร์แทน [2]
การใช้สมุนไพรตัวใดตัวหนึ่งมากเกินในระยะยาวแล้วไม่มีสมุนไพรใดในโลกไม่มีผลข้างเคียง ยิ่งถ้าสกัดสารสำคัญตัวใดตัวหนึ่งออกมาอย่างเข้มข้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นแล้ว ผลข้างเคียงก็ย่อมมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
แม้ว่าในการแพทย์แผนไทยจะมีวิธี “สกัดสมุนไพร” อยู่หลายวิธี แต่ในความจริงแล้ว การสกัดสมุนไพรของแพทย์แผนไทยนั้นไม่ได้ถึงขั้นแยกสารเคมีตัวใดตัวหนึ่งออกมา และเป็นการสกัดของพืชโดยรวมทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นแพทย์แผนไทยแม้จะใช้สมุนไพรเดี่ยวได้ แต่ความเป็นจริงแล้วก็จะปรุงเป็นตำรับยาและพิกัดยาเพื่อให้สอดคล้องกับผู้ป่วยเฉพาะราย และลดผลเสียของสมุนไพรเดี่ยวตัวนั้น
ตัวอย่างสารสกัด CBD จากกัญชาหรือกัญชงนั้นได้ถูกนำมาใช้ในการ “บำบัดอาการ” โรคลมชัก ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งจากการที่ผู้เขียนได้สอบถามหมอพื้นบ้านที่เป็นครูภูมิปัญญาไทยมองว่ากัญชาในการแพทย์แผนไทยจะช่วยบำบัดธาตุลมกำเริบในมิติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่เกร็งเกิน ดังนั้นการใช้กลุ่มกัญชาจึงทำได้เพียงบำบัดอาการชั่วคราวเท่านั้น ถ้าจะแก้จะต้องมียาตัดรากเป็นการเฉพาะ [3]
แต่หลายคนที่เข้าใจว่าการสกัดสารแคนนาบิไดออล หรือ CBD นั้นยิ่งแยกสารสำคัญออกมาเข้มข้นยิ่งให้ผลดี แต่ในความเป็นจริงแล้วสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ในกัญชาหรือกัญชามีนับร้อยตัว และสารกลุ่มนี้ต่างทำงานเสริมร่วมกันไปมาเพื่อให้ต่อมภายในที่มีสารแคนนาบินอยด์ผลิตขึ้นมาเอง คำถามที่ตามมาก็คือระหว่างการแยกสาร CBD บริสุทธิ์ออกมา กับการสกัดโดยรวมที่เป็นพืชกัญชงหรือกัญชาทีมี CBD มาก อย่างไหนจึงจะให้ผลดีหรือผลเสียต่างกันเพียงไรกับการ “บำบัดอาการโรคลมชัก”
วารสารทางการแพทย์ชื่อ Frontiers in Neurology ได้ตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน 2561 ผลปรากฏเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และอาจจะทำให้ต้องหลายคนได้รับบทเรียนในหลักฐานที่ว่าสารสกัดเข้มข้นแรงที่สุด และบริสุทธิ์ที่สุดจะดีที่สุดจริงหรือไม่
ปรากฏว่างานวิจัยพบว่าสาร CBD ที่มีมากจากการสกัดโดยรวม ใช้ปริมาณ CBD ต่ำเพียงแค่ 6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน กลับได้ผลดีกว่ากลุ่มที่ใช้สาร CBD สกัดบริสุทธิ์ที่ใช้มากถึง 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน อีกทั้งสาร CBD ที่มีมากจากการสกัด ใช้ปริมาณ CBD ต่ำเพียงแค่ 6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ก็มีผลข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้สาร CBD สกัดบริสุทธิ์ที่ใช้มากถึง 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวันอีกด้วย
ผลข้างเคียงที่สกัดแบบรวมที่แสดงให้เห็นว่าการสกัดแบบรวมที่มี CBD เป็นสัดส่วนที่มากนั้น ใช้เพียงน้อยนิดก็มีประสิทธิภาพมากกว่าและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ปฏิกิริยาเช่นนี้เรียกว่า ออนทัวราจ เอฟเฟกต์ (Enturage Effect) ที่สารสำคัญของพืชโดยรวมทำงานร่วมกันทำงานได้ดีกว่าการสกัดสารสำคัญตัวใดตัวหนึ่งออกมา
เปรียบเสมือนวงดนตรีออร์เคสตรา หากดึงนักดนตรีมาโซโลเพียงคนเดียวทั้งเพลง ก็อาจจะไม่ไพเราะเท่ากับนำนักดนตรีคนนั้นมาบรรเลงโซโล่ไปกับการเล่นด้วยนักดนตรีบรรเลงเต็มวงไปด้วยกัน
ดังนั้นการใช้เครื่องมือเพื่อสกัดสารเข้มข้นตัวใดตัวหนึ่งออกมาด้วยการลงทุนงบประมาณที่สูง ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป และบางทีการสกัดแบบภูมิปัญญาไทย ร่วมกับตำรับยาไทยก็อาจจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าวิทยาการสกัดสมัยใหม่ก็เป็นได้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Hall K, Sterwart T, Chang J, Freeman MK, Characteristics of FDA drug recalls: A 30-month Analysis., American Journal of Health-System Pharmacy, 2016 Feb 15; 73(4):234-40. Doi:10.2146/ajhp150277
[2] ผู้จัดการออนไลน์, อย. เรียกคืนยาความดัน “ลอซาร์แทน” 2 ตำรับ หลังพบนำเข้าวัตถุดิบปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง, หน้าหลัก/ชุมชน-คุณภาพชีวิต/สุขภาพ, เผยแพร่: 15 มี.ค. 2562 14:25 ปรับปรุง: 15 มี.ค. 2562 16:28
[3] หมอชุบ แป้นคุ้มญาติ, จากการสอบถามและสัมภาษณ์โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, บ้านหมอชุบ แป้นคุ้มญาติในระหว่างการเรียนการสอน พระคัมภีร์ชวดาร จังหวัดอุดรธานี, เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562
[4] Pamplona FA, da Silva LR, Coan AC. Potential Clinical Benefits of CBD-Rich Cannabis Extracts Over Purified CBD in Treatment-Resistant Epilepsy: Observational Data Meta-analysis [published correction appears in Front Neurol. 2019 Jan 10;9:1050]. Front Neurol. 2018;9:759. Published 2018 Sep 12. doi:10.3389/fneur.2018.00759