ผู้นำตุรกี ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ปฏิบัติการหักจะงอยปากอินทรี สหรัฐอเมริกาอย่างแรง เมื่อเดินหน้าสั่งซื้อระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศ เอส-400 จากรัสเซียมาประจำการ โดยไม่ฟังคำเตือนหรือผลอะไรที่จะตามมาจากเสียงขู่คำราม
ถือเป็นการเสียหน้าอย่างมาก เพราะตุรกีเป็นสมาชิกของกลุ่มนาโต มีฐานทัพอากาศสหรัฐฯ อยู่ในประเทศ แต่ไม่ซื้ออาวุธประเภทเดียวกันจากสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้สั่งซื้อฝูงเครื่องบินรบสหรัฐฯ เอฟ-35 ทันสมัยที่สุด เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ก็ชวด
โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะยัวะจนหนวดกระดิก ถือว่าโดนลองของอย่างแรง หมิ่นแสนยานุภาพของพญาอินทรี ชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก แต่ทำให้เพียงแค่สั่งระงับการขาย เอฟ-35 ทำให้บริษัทล็อคฮีท ผู้ผลิต เสียโอกาสสร้างรายได้ก้อนใหญ่
เมื่อตุรกีทำอย่างนี้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อตอบโต้ สหรัฐฯ ต้องประกาศมาตรการคว่ำบาตรบางอย่าง แต่ทรัมป์ทำเป็นไม่รู้สึก อ้อมแอ้มเพียงแต่ว่าน่าเสียดายที่ล็อคฮีทต้องเสียรายได้ อยากขายก็อยาก เมื่อตุรกีไม่เกรงศักดิ์ศรีพญาอินทรี ก็ทำอะไรได้ยาก
กลุ่มสนธิสัญญานาโตตาเหลือก เพราะสมาชิกดันไปเอาอาวุธสำคัญ คือระบบป้องกันขีปนาวุธจากชาติฝ่ายตรงข้ามมาประจำการ ก็ทำให้เกิดความเสี่ยง สหรัฐฯ เองก็กลัวว่าถ้าขายเครื่องบินรบ เอฟ-35 ก็เสี่ยงที่จะโดนถอดเอาความลับไปให้รัสเซียรู้หมด
ตุรกีมีแผนสั่งซื้อเครื่องบินรบจากสหรัฐฯ มากกว่า 100 ลำ ทรัมป์ต้องยกเลิกหมด!
ระบบเอส-400 ของรัสเซีย เหมาะสำหรับสอยเครื่องบินรบ เอฟ-35 โดยเฉพาะ แม้แต่อินเดียก็ยังสั่งซื้อจากรัสเซียเช่นกัน ไม่สนใจคำปรามของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ก็ไม่มองว่าไหนๆ ตุรกีซื้อมา น่าจะเอามาดูว่าระบบของรัสเซียดีหรือมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร
การที่เออร์โดกันห้าวจัด ไม่ยอมเป็นลูกไล่ของสหรัฐฯ มีจุดยืนแข็งขืน หลายครั้ง คงเป็นเพราะคิดง่ายๆ ว่า มีรัสเซียเป็นเพื่อนใกล้บ้าน ยังดีกว่ามีศัตรูจ่อประตูบ้าน และมีมิตรอย่างสหรัฐฯ อยู่ห่างไกล แถมยังทำทุกอย่างเพื่อจ้องขายอาวุธราคาแพงให้มิตรร่ำรวย
เช่นซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นลูกค้าชั้นดี งบประมาณเยอะ และสหรัฐฯ ก็ประกาศตลอดเวลาว่าอยากให้มิตรประเทศเช่นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวันลงทุนในการป้องกันประเทศเอง ถ้าจะให้สวย ก็ต้องซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ด้วย ทรัมป์มีแต่ได้กับได้
กรณีผู้นำตุรกีเปลี่ยนท่าที หันไปหารัสเซียเพราะก่อนหน้านี้เคยโดนรัสเซียเล่นงานด้วยมาตรการเศรษฐกิจแบบนิ่มๆ หลังจากเครื่องบินรบตุรกีสอยเอาเครื่องบินรบรัสเซียในน่านฟ้าใกล้ซีเรีย ทำให้พญาหมีขาวรู้สึกขุ่นเคือง แถลงข่าวคำรามฮึ่มๆ น่าหวาดเสียว
ตามมาด้วยมาตรการให้คนตุรกีเข้าไปรัสเซียลำบาก ห้ามคนรัสเซียมาเที่ยวตุรกีการค้าขายลำบาก ทำให้เออร์โดกันต้องยอมอ่อน ขอโทษขอโพยสำหรับการยิงเครื่องบิน ไปเจรจากับผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้ดียิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
ที่สำคัญ ฝ่ายข่าวกรองของรัสเซียเคยเตือนเออร์โดกันว่าจะโดนรัฐประหาร และมีต้นตอมาจากฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในประเทศนั่นแหละ จะเป็นจริงหรือไม่ เออร์โดกันไม่เปิดเผย แต่ได้จัดการปรามปรามจับกุมพวกผู้ก่อการ ไล่ออกจากตำแหน่งหลายหมื่นคน
ประหารชีวิตด้วยการจับแขวนคอก็มี หลายคนต้องเผ่นหนีตายออกไปต่างประเทศ และเออร์โดกัน ได้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญมีเสียงสนับสนุนให้ตัวเองเป็นผู้นำมีอำนาจเต็ม
ที่เออร์โดกันแค้นหนัก คือสหรัฐฯ ให้ที่พักพิงตัวการต่อต้านรัฐบาลตุรกี ไม่ยอมส่งตัวให้ แม้นายเฟตุลเลาะห์ กูเลน ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้เป็นหัวโจกต้านผู้นำตุรกี
ทรัมป์ต้องกลืนเลือดหลายอึก เพราะหลังจากพวกก่อรัฐประหารล้มเหลว ตุรกีแสดงท่าทียืนเคียงข้างรัสเซียในเรื่องต่างๆ จัดเป็นกลุ่มมิตรซึ่งมีซีเรีย อิหร่าน จีน เกาหลีเหนือ และดูแล้วยังมีปัญหากับอิสราเอล และตุรกีกลายเป็นมิตรแปลกแยกในกลุ่มนาโต
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทรัมป์ต้องหาแพะ ด้วยการโยนอึได้บารัค โอบามา ว่าไม่ได้จัดการซื้อขายอาวุธให้ตุรกี และมีมาตรการจูงใจไม่ให้ตุรกีซื้ออาวุธของรัสเซีย แต่มีข่าวแว่วก่อนหน้านี้ตุรกีสนใจจะซื้ออาวุธแพทริออตของสหรัฐฯ แต่เจอเงื่อนไขยุบยิบเรื่องเยอะก็เลยเลิก
และตุรกีก็มีเงื่อนไขเช่นกันว่าถ้าจะซื้อจรวดแพทริออต สหรัฐฯ ต้องพร้อมโอนถ่ายเทคโนโลยีให้ตุรกีด้วย นี่เป็นประเด็นเพราะตุรกีมีศักยภาพในการผลิตอาวุธ และมีฐานอุตสาหกรรมด้านป้องกันประเทศแข็งแกร่งระดับหนึ่ง ผลิตอาวุธปืนส่งออกได้อีกด้วย
ตัวทรัมป์เองก็ชอบผู้นำมีสไตล์เผด็จการแบบเออร์โดกันเช่นกัน และใช้แนวการทูตแบบความสนิทสนมส่วนตัวเพื่อเจรจาเชื่อมความสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อยากประกาศมาตรการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจ หรือทำอะไรรุนแรงกับตุรกี ไม่ทำให้เออร์โดกันลำบาก
ถ้าทรัมป์ทำอย่างนั้น เท่ากับว่าเป็นการผลักดันให้เออร์โดกันเข้าใกล้รัสเซียมากยิ่งขึ้น และเกิดความร้าวฉานในกลุ่มนาโต จะมีปัญหากับฐานทัพสหรัฐฯ ในตุรกีด้วย เพราะฐานทัพนี้เองเหมือนเป็นหอกข้างแคร่ที่ทำให้รัสเซียต้องกังวลว่าจะโดนโจมตีง่าย
ทรัมป์จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสายเหยี่ยว จอห์น โบลตัน รวมทั้งนักการเมืองรีพับลิกัน เดโมแครตต่างก็กระตุ้นให้ทรัมป์ใช้มาตรการลงโทษตุรกี แต่ก็ยังไม่กล้าทำ ลังเลอยู่จนบัดนี้
ทรัมป์อ้างว่าต้องปรึกษากระทรวงกลาโหมและฝ่ายความมั่นคงก่อน แม้แต่นักการเมืองในสภาคองเกรสและวุฒิสภาก็ยังไม่ฟันธงว่าควรลงโทษตุรกีอย่างไร ว่าที่รัฐมนตรีกลาโหม มาร์ก เอสเปอร์ พูดได้แต่ว่าการตัดสินใจของตุรกี “ผิดและน่าผิดหวัง”
นักวิเคราะห์ยังมองว่า เอส-400 ของรัสเซีย เป็นภัยต่อเครื่องบินล่องหนของสหรัฐฯ สามารถเอาชนะเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้ แม้ทรัมป์จะยังอิดออดที่จะหักกับเออร์โดกัน และไม่มีใครกล้าเตือนทรัมป์ว่าตัวเองโดนผู้นำตุรกีเล่นเกมปั่นหัวอยู่อย่างเป็นต่อ