xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปนคน คนปนข่าว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ข่าวปนคน คนปนข่าว
** ศึกชิงผู้ว่าฯกทม. แค่เปิดมาก็ฮือฮากันทั่วทั้งปฐพี งานนี้จะได้เห็น "ฮีโร่ถ้ำหลวงฯ" ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ลงสนามหรือไม่ โปรดติดตาม

หลังจากมีรัฐบาล ก็ถึงรอบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ตามกระแสข่าวคาดว่าจะเป็นศึกช้างชนช้างขนานแท้ จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ ว่ากันว่าจะเป็นศึกระหว่าง "ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" กับ "ชัชชาติ" ของเพื่อไทย
พรรคพลังประชารัฐ ล่าสุดยืนยันเปิดหน้าเปิดโผชัดว่า กำลังทาบทาม "ฮีโร่ถ้ำหลวงฯ" นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2562 ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขณะนี้ผู้ว่าฯ คนดังอยู่ระหว่างตัดสินใจ
ขณะที่พรรคเพื่อไทยตอนนี้เชื่อกันว่าเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก "นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์" นักการเมืองที่ชาวเน็ต ยกให้เป็นเน็ตไอดอล ด้านความแข็งแกร่ง จนได้ฉายา "คนที่แข็งแกร่งสุดในปฐพี"
ลองมาเทียบฟอร์มกันดู "ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" นั้นเป็นข้าราชการไทย ที่โกอินเตอร์ นานาชาติให้การยอมรับนับถืออย่างมากจาก "ภาวะผู้นำ" เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการช่วยเหลือโค้ชและนักฟุตบอล"ทีมหมูป่า13 ชีวิต" ออกจากถ้ำหลวงฯ จ.เชียงราย เมื่อปีที่แล้ว
ผลงานครั้งนั้น พิสูจน์ตัวตนของ"ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" ได้เป็นอย่างดี เพราะการกู้ภัยถ้ำหลวงฯ ที่กินเวลายาวนาน บีบหัวใจคนทั่วโลกนั้น ถือได้ว่าเป็นงานที่ยากทุกขั้นตอน ต้องอาศัยความเด็ดขาด ความละเอียดรอบคอบ และยังจะต้องเอาใจใส่ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ..."ฮีโร่ถ้ำหลวงฯ " เรียกได้ว่า "ภาวะผู้นำ" ที่สังคมไทยโหยหาจากตัวผู้นำมานาน แต่ไม่เคยมีสักที กระทั่งวันนี้ก็ยังมีผู้อยากจะเห็นผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ เป็นมากกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด
ปัจจุบัน"ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯพะเยา โดยพื้นฐานแล้วเติบโตมาในสายงานวิชาการ เขาเรียกตัวเองว่าเป็น "นักกำหนดยุทธศาสตร์" และ "นักวางแผน" แต่ไม่ใช่นักเผชิญเหตุ หรือนักแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยประสบการณ์เดิมนั้น ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์เติบโตมาในสายงานวิชาการ ที่กรมที่ดิน ... ทุกวันนี้นอกจากภารกิจหน้าที่ "ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" ยังเดินสาย บรรยายให้ความรู้ตามสถานศึกษา หน่วยงานราชการ และอื่นๆ เกี่ยวกับการรับมือกับภาวะวิกฤต และภาวะผู้นำ
ทั้งนี้ งานสอนหนังสือเป็นงานที่เขาบอกว่า เป็นสิ่งที่ชอบที่สุดในชีวิต โดยเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เรื่องวิศวกรรม และการสำรวจด้วยดาวเทียม ในเรื่องสารสนเทศภูมิศาสตร์ และ กฎหมายที่ดิน เคยคิดว่าวันหนึ่งที่เกษียณอายุราชการแล้ว ถ้ายังมีแรงอยู่ก็อยากเข้าไปสอนตามมหาวิทยาลัย อย่างเต็มตัว
เรียกได้ว่า งานสอนหนังสือมาจากพื้นฐานการศึกษาที่ไม่ธรรมดา ซึ่ง" ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" จบปริญญาตรี 4 ใบ พ่วงปริญญาโท 1 ใบ ประกอบด้วย วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2528) , นิติศาสตรบัณฑิต (2536) และประกาศนียบัตรกฎหมายการที่ดินและทรัพย์สิน (2535) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เทคโนโลยีบัณฑิต (เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2545), รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2556) และปริญญาโท 1 ใบ สาขาวิศวกรรมสํารวจและสารสนเทศภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (2531) ปริญญาโท จาก Master of Science (Geodetic Science and Surveying) , The Ohio State University
แม้จะร่ำเรียนมาหลากหลายศาสตร์ แต่ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ คือ ด้านภูมิศาสตร์ เทคโนโลยีการทำแผนที่ และมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา รวมถึงเรื่องของการระบายน้ำ
การทำงานของ "ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" ที่ผ่านมา เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ยอมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ส่วน "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ... เคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรไฟล์การศึกษา จบปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) จาก University of Illinois at Urbana-Champaign, USA ปริญญาโท วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) Massachusetts Institute of Technology, USA
และ บริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ ปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ้าเป็นไปตามนี้ก็นับว่า สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ ดุเดือดเลือดพล่าน อย่างแน่นอน
ชั่วโมงนี้ "ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" ยังสงวนท่าที โดยบอกว่าไม่รู้เรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด สื่อมวลชนนำไปเขียนเอง ... การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ขอไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ
ดังนั้น ก่อนจะถึงศึกจริงๆ ต้องลุ้นกันก่อนว่า "ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์" จะตอบรับสัญญาณนี้หรือไม่ ... โปรดติดตาม

** ข้อเสนอ แก้รัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการบรรจุในนโยบายรัฐบาล แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะมันจะไปเข้าทางฝ่ายค้านแล้วบานปลาย เกิดความขัดแย้งจนทำให้รัฐบาลพังได้ ดังนั้นใน1 ปีแรกนี้เชื่อว่าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หนึ่งในเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ โดย "นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรค เสนอก่อนเข้าร่วมรัฐบาล คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะมองว่า รัฐธรรมนูญ 2560นี้ ยกร่างมาเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. ประเด็นหลักๆ ที่ต้องแก้ อาทิ ที่มา และอำนาจหน้าที่ของส.ว. , การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งกฎหมายลูกเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้ง
และในช่วงที่นำเสนอนโยบายของพรรค เพื่อให้นำไปใส่ไว้ในนโยบายรัฐบาล ที่จะแถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ประชาธิปัตย์ก็ยังคงเน้นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ...ที่เป็นเช่นนี้ เพราะประชาธิปัตย์เกรงว่า หากมีการยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ แล้วยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังต้องใช้กติกาเดิม การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของหัวหน้าพรรคการเมือง ก็จะเป็นเรื่องยากที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่สามารถกุมเสียง 250 ส.ว.ไว้ได้
นอกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยังมีพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน ที่เห็นว่า "ต้องแก้รัฐธรรมนูญ"
ขณะที่นโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา ครั้งนี้ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้รับการบรรจุอยู่ ใน"หมวดพัฒนาการเมือง" ... แน่นอนว่า ในที่ประชุมการจัดทำร่างนโยบายรัฐบาลนั้น ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ พยายามกดดัน ให้มีการแก้ไขในปีแรกของรัฐบาล เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ และ พรรคร่วมรัฐบาล เห็นว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำคือ "แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน" และในช่วงแรกนี้ การเมืองต้องนิ่ง ไม่มีเงื่อนไขความขัดแย้ง เพราะจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล จนทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวม ... พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วาระสำคัญ เร่งด่วน ที่ต้องเร่งดำเนินการ
อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการทำประชามติ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ ให้ความเห็นชอบ และเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาไม่กี่เดือน พรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายค้าน ก็ตั้งธงที่จะแก้ไขแล้ว จะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ได้ เพราะฝ่ายค้านก็ตั้งท่ารอเขย่ารัฐบาลอยู่แล้ว เกรงว่าการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ จะไปเข้าทางฝ่ายค้านพอดี... มันก็จะยุ่งกันใหญ่
เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ กำลังเป็นประเด็นร้อน ทาง "นิด้าโพล" ก็ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องนี้ ปรากฏผลออกมาว่า กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 37.04 เห็นว่า จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน เพราะการได้มาของนายกรัฐมนตรี และ ส.ว. ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่แตกต่างกับการรัฐประหาร ขัดกับความต้องการของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 17.15 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะได้มีการแก้ไขหลายครั้ง ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว ควรแก้ไขที่ตัวบุคคลมากกว่า , ร้อยละ 13.43 ระบุว่า ควรใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยแก้ไข และ ร้อยละ 10.90 ระบุว่า ควรใช้ไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่า ควรแก้ไข หรือไม่
ต่อประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข หรือหากจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.01 ระบุว่า ประเด็นที่มา และอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รองลงมา ร้อยละ 42.90 ระบุว่า ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี , ร้อยละ 40.52 ระบุว่า ประเด็นการปฏิรูปประเทศ , ร้อยละ 39.00 ระบุว่า ประเด็นระบบการเลือกตั้งส.ส.
ผลโพลชัดเจนว่า สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นที่มาส.ว. และ ที่มาของนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เตรียม"ล้างมรดกบาปคสช." หลังการสลายตัวของ คสช. เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งก็คือ หลังวันที่ 25 ก.ค.นี้ ...เพราะเห็นว่าประเทศไทย ไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะปกติ ไม่อาจกลับสู่ประชาธิปไตย และ หลักนิติรัฐได้เลย หาก "มรดกบาปของ คสช." ยังคงดำรงอยู่
"ปิยบุตร" เห็นว่า มาตราที่จะต้อง"ยกเลิก"ก่อนเลยคือ มาตรา 272 และ มาตรา 279...โดยมาตรา 272 ให้อำนาจวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. เลือกนายกรัฐมนตรี และ มาตรา 279 รับรองให้การกระทำทั้งหลายทั้งปวงของ คสช. และหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 และ ชอบด้วยกฎหมาย
โดยกระบวนการแก้ไขนั้น เขาเสนอว่า ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้ไข มาตรา 256 เสียก่อน เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ง่ายขึ้น และ เสนอ ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้น กำหนดให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิก 100 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ในขั้นตอนสุดท้าย โดยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดนี้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี...
พรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 1 ปี เหมือนที่ประชาธิปัตย์ต้องการ
แต่ต้องไม่ลืมว่า "ด่านหิน" ในการแก้รัฐธรรมนูญนั้น มีอยู่ 4 ด่าน คือ 1. การแก้ไขจะต้องเริ่มจากคณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของส.ส.ทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (100 คนขึ้นไป)
2. การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ จะต้องใช้เสียง "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" ของรัฐสภา (ส.ส. 500 คน + 250 ส.ว. = 750) คือ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งใน จำนวนนี้ ส.ว.จะต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง
3. การพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ในการออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก
4. ในการโหวตวาระ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือต้องใช้ 376 เสียง และจะต้องมีเสียง ส.ส.จากทุกพรรค ในสภาเข้ามาร่วมโหวตแก้ไข แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้าน ต้องเห็นชอบด้วย ถ้าขาดพรรคใดพรรคหนึ่งไปอาจทำให้ญัตติล่ม
เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะสำเร็จได้ต้องให้ ส.ว. 250 ที่มาจาก คสช.เปิดทาง และทุกพรรคต้องสนับสนุน ...แล้วจะเป็นไปได้หรือ ในเมือรัฐบาลเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง และกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็เลือดตาแทบกระเด็น
สำหรับนักการเมือง... ย่อมรู้อยู่แล้วว่า "การเมืองไทย" ช่วงที่ต้องระวัง คือ เรื่อง "ปรับครม." ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่มีการปรับ เพราะปรับเมื่อไร เกิดแรงกระเพื่อม จนแทบทำให้รัฐบาลพังได้ และ ที่หนักหนาสาหัสกว่าการปรับครม. ก็คือการ "แก้รัฐธรรมนูญ" ที่มักจะบานปลาย จนทำให้รัฐบาลพังมานักต่อนักแล้ว ...จึงเชื่อได้ว่า ใน 1ปีแรกนี้ จะยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ

รูป -ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร - ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ - ปิยบุตร แสงกนกกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น