ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)” ว่าด้วยเรื่อง “กันชา” มีข้อความเป็นครั้งแรกปรากฏในใน “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” ซึ่งถูกรวบรวมโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย จางวางกรมแพทย์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ความว่า
“ กันชา แก้ไขผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่นเสียงสั่น เปนด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ เอาตรีกฏุก ๑ จันทน์ทั้ง ๒ ใบสะเดา ๑ ใบคนทีเขมา ๑ พริกล่อนเสมอภาค ใบกัญชาเท่ายาทั้งหลายทำผง เอาน้ำมะพร้าว น้ำผึ้ง น้ำส้มส้า น้ำตาลทราย กระทือสด น้ำเบญจทับทิม ต้มละลายกินหายแล” [1]
ข้อความข้างต้นอยู่เป็นคัมภีร์สรรพคุณเภสัชที่กล่าวถึงสรรพคุณของกัญชาเป็นการเฉพาะเป็นครั้งแรก ในคัมภีร์การแพทย์แผนไทย และแสดงให้เห็นว่ากัญชาที่นำมาใช้นั้นลดระบบความร้อน (ปิตตะ) จึงส่งผลทำให้ช่วยลดระบบการเคลื่อนไหว (วาตะ)ที่มากเกินผิดปกติ (วาโยกำเริบ) และทำให้เกิดการนอนหลับ
ความจริงแล้วการแพทย์แผนไทยนั้นสืบทอดปรัชญามาจากหมอ “ชีวกโกมารภัจจ์” คือไม่มีพืชชนิดใดที่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ เหตุผลก็เพราะการแพทย์แผนไทยนั้นได้วิเคราะห์ความเจ็บป่วยจากธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ และพิจารณาความผิดปกติว่ามีความกำเริบ หย่อน พิการอย่างไร หลังจากนั้นก็จะชิมรสยาและฤทธิ์สรรพคุณพืชสมุนไพรแต่ละชนิด แล้วจึงวิเคราะห์ให้ได้รู้ว่าพืชชนิดหรือส่วนที่นำมาใช้นั้นมีผลต่อธาตุทั้งสี่อย่างไร และมีผลเสียอย่างไรต่อผู้ป่วยรายนั้น รวมถึงการลดผลเสียหรือเพิ่มสรรพคุณทางยาด้วยการนำสมุนไพรอย่างอื่นมาผสมสัดส่วนต่างๆตำรับยา ซึ่งรวมถึงวิธีการปรุงยาด้วย
ดังนั้น การที่กัญชาซึ่งออกฤทธิ์ทำให้เมาและลดความร้อนลงนั้น สรรพคุณเภสัชกัญชาระบุถึงอาการว่าเกิดจากวาโยธาตุกำเริบ อันหมายถึงธาตุลมกำเริบ ดังนั้นเมื่อธาตุลมไม่ได้จำกัดเพียงแค่อากาศ หรือ ก๊าซอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่หมายถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในทางที่มากเกิน (กำเริบ)
ดังนั้น การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในลักษณะการเกร็งเกิน เช่น โรคลมชัก กล้ามเนื้อเกร็งผิดปกติ โรคพาร์กินสัน รวมไปถึงการลดความดันโลหิต (การเคลื่อนตัวของโลหิตที่มากเกินพอดี) ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสรรพคุณของกัญชาโดยพื้นฐานที่ไม่ควรมีใครสามารถไปจดสิทธิบัตรในโรคเหล่านี้ในประเทศไทยได้ เพราะเป็นสิ่งที่มีการบันทึกในการแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว
ดังนั้น การจดสิทธิบัตรของบริษัทใดที่อาจมีความหมายของกัญชาที่เกี่ยวกับวาโยธาตุกำเริบนั้น ย่อมไม่สามารถทำได้เพราะสิ่งประดิษฐ์นั้นไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การแพทย์แผนไทยในอดีตไม่เคยสกัดสารสำคัญตัวใดตัวหนึ่งออกมาเพื่อมารักษาโรค แม้แต่สกัดเป็นน้ำมันกัญชาออกมาเข้มข้นเป็นยาเดี่ยวเหมือนในยุคปัจจุบันก็ยังไม่เคยทำ แม้แต่การใช้กัญชาในคัมภีร์สรรพคุณเภสัชก็ยังใช้เป็นตำรับยาด้วยเครื่องยาหลายชนิด
หลายคนจึงมีคำถามว่าน้ำมันกัญชาจะเป็นยาของแพทย์แผนไทยได้อย่างไร แพทย์แผนไทยก็ควรใช้เฉพาะตำรับยาที่มีอยู่ในคัมภีร์เดิมเท่านั้น ซึ่งเป็นทัศนะที่มองแพทย์แผนไทยอย่างคับแคบและไม่เข้าใจว่าการแพทย์แผนไทยก็มีพัฒนาการได้
คำถามที่ชวนคิดมีอยู่ว่า “ก่อนจะมีคัมภีร์เดิม” แพทย์แผนไทยปรุงยาได้อย่างไร คนในสมัยก่อนที่เป็นผู้เขียนคัมภีร์ที่ใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันในขณะนี้คิดค้นตำรับยาได้อย่างไร?
ตัวอย่างเช่น ประมาณ ๓๐๐ ปีก่อน สมัยกรุงศรีอยุธยา ขุนประสิทธิโอสถจีน ซึ่งชื่อก็บ่งบอกว่าเป็นหมอยาจีน ประกอบยาขนานหนึ่งชื่อ “อัคคนีวณะ” ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยตำรับยาขนานนี้นอกจากจะมีกัญชาเป็นส่วนผสมแล้ว ยังมี “โสม” (ในสมัยนั้นมีการบันทึกเรียกชื่อว่า “ยิงสม”) เป็นส่วนผสมอีกด้วย ทั้งๆที่โสมนั้นเป็นพืชสมุนไพรที่นำมาจากประเทศจีน แต่แพทย์แผนไทยก็ยังนับเอาตำรับยาขนานนี้เป็นยาแผนโบราณของประเทศไทยได้จนถึงปัจจุบัน [2]
เช่นเดียวกับยา “ควินิน” ซึ่งเป็นยาจากต่างประเทศ (ชื่อยาก็เป็นภาษาต่างประเทศ) แก้ไข้มาลาเรีย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงนำมาประยุกต์ใช้กับวิธีการบำบัดและการให้ยาในการแพทย์แผนไทยได้ โดยได้ทรงบันทึกเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๖ [3]
และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระยาพิษณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร ผู้รวบรวมและเขียนตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ให้แพทย์แผนไทยได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเมื่อปี ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) พระยาพิษณุประสาทเวช ได้เขียนตำราชื่อ “แพทย์ศาสตร์สังเขป” ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับหมอแพทย์แผนไทยในยุคนั้น โดยในตำราเล่มดังกล่าวมีการระบุอย่างชัดเจนว่าหมอแผนไทยสามารถ “ปลูกฝี” ได้ [4]
เช่นเดียวกับ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาของทหารเรือไทย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นหมอแพทย์แผนไทยที่มีชื่อเสียงที่ชาวบ้านรู้จักในนาม “หมอพร” ทรงทดลองทางวิทยาศาสตร์และรวมถึงการใช้กล้องจุลทรรศน์ด้วย ก็เพราะการมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์อย่างใหม่ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตำรับยาไทยให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และก้าวหน้าขึ้น [5]
ตัวอย่างหลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการแพทย์แผนไทยในอดีตนั้นมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และหากมีข้อมูลใหม่ หรือหากความก้าวหน้าทางวิทยาการและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย แพทย์แผนไทยในอดีตก็พร้อมที่จะพัฒนาหรือบูรณาการเข้ากับองค์ความรู้ของภูมิปัญญาได้ทันที
ดังนั้น การแพทย์แผนไทยก็คือการแพทย์บูรณาการที่พร้อมจะใช้ข้อมูลใหม่จากความก้าวหน้าในวิทยาการทางการแพทย์มาพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาเดิมได้
ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือสารสำคัญชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า แคนนาบิไดออล (Cannabidiol) หรือเรียกอย่างย่อว่าสาร ซีบีดี (CBD) ซึ่งเป็นสารสำคัญชนิดหนึ่งกลุ่มในแคนนาบินอยด์ซึ่งพบมากกว่าในพืชกลุ่มกัญชง หรือกัญชาที่พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ สาร CBD นี้ ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ต่างไปจากสาร เดลต้าไนน์ เตตระไฮโดรแคนนาบินอยด์ (THC) ซึ่งออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ทำให้มึนเมา
ถึงแม้ว่าแพทย์แผนไทยจะมีข้อถกเถียงว่าการสกัดสารสำคัญอย่าง CBD นี้ไม่ควรจะนับว่าเป็นการแพทย์แผนไทย ควรจะไปเป็นยาฝรั่งเสียมากกว่า ซึ่งถ้าเรานับเป็นยาฝรั่งเมื่อไหร่ ก็ต้องนับหนึ่งงานวิจัยไปตามลำดับของยาสมัยใหม่ คือทดลองในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง มนุษย์กลุ่มเล็ก และมนุษย์กลุ่มใหญ่ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะใช้ได้จริงแล้ว ยังถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ที่จะมีงบลงทุนสำหรับงานวิจัยในฐานเป็นยา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นประเทศไทยคงต้องตามหลังงานวิจัยต่างชาติที่มาก่อนไทยหลายสิบปี อย่างไรก็ตามหากใครคิดว่าไม่เป็นไรเพราะประเทศไทยสามารถวิจัยต่อยอดจากฝรั่งได้ก็อย่าเพิ่งลืมเรื่องสิทธิบัตรที่คนไทยจะต้องมีความเสี่ยงในเรื่องการถูกล่าอาณานิคมที่ต้องถวายบรรณาการค่าสิทธิบัตรยาให้กับบริษัทยาต่างชาติเหล่านั้น
ซึ่งหากคิดไปเช่นนั้นบริษัทยาต่างชาติคงจะพอใจเป็นอย่างมาก เพราะบริษัทยาเหล่านั้นอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรในการใช้สาร CBD ในการรักษาได้โรคได้จำนวนมาก เพราะนอกจากสาร CBD จะช่วยลดการอักเสบแล้ว ยังทำให้ลดความเครียด ลดอาการเกร็งลงโดยไม่ต้องเมาเหมือนสาร THC อีกด้วย
เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมาวารสารทางการแพทย์ ชื่อ The Permanente Journal ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในการทดลองในมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่จำนวน ๗๒ คน โดยส่วนใหญ่ให้ใช้สาร CBD ที่วันละ ๒๕ มิลลิกรัม โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอาการวิตกกังวลเมื่อใช้สาร CBD แล้วเป็นเวลา ๑ เดือน มีผลทำให้อาการวิตกกังวลลดลงถึงร้อยละ ๗๙.๒ และรักษาระดับการลดลงของการวิตกกังวลต่อเนื่องได้จนจบงานวิจัย ในขณะที่คะแนนการนอนดีขึ้นในการใช้ CBD ในเดือนแรกถึงร้อยละ ๖๖.๗ (แม้ว่าในเรื่องการนอนผลการวิจัยยังขึ้นๆลงๆก็ตาม) ในขณะที่มีการแพ้ยาประมาณ ๓ คน โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้สรุปว่าสาร CBD อาจจะมีประโยชน์สำหรับกลุ่มโรควิตกกังวล ซึ่งจะต้องมีการวิจัยทางคลินิกที่มีการควบคุมต่อไป [6]
ซึ่งแม้ว่าสาร CBD จะไม่ได้ทำให้นอนหลับเหมือนกับสาร THC แต่เพียงแค่ว่าสาร CBD ช่วยลดอาการวิตกกังวลเพียงประการเดียวโดยไม่ต้องหลับหรือเมา ก็ถือว่ามีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตในยุคสังคมเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยความเครียดจำนวนมาก จริงหรือไม่?
เช่นเดียวกับงานวิจัยในเรื่องโรคออทิสติก ซึ่งในรอบ ๓ ทศวรรษมานี้ มีผู้ป่วยที่เป็นโรคออทิสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นมามากขึ้นกว่าเดิมถึง ๓ เท่าตัว [7]-[11] ปรากฏว่าเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมาวารสาร Scientific Reports ได้รายงานผลของกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคออทิสติกจำนวน ๑๘๘ คน ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๘ - พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่เข้าโครงการในการใช้น้ำมันกัญชง ซึ่งมีสัดส่วนสารสำคัญคือ CBD ประมาณร้อยละ ๓๐.๑ และสาร THC ประมาณร้อยละ ๑.๕ โดยค่าเฉลี่ยในการใช้หยอดใต้ลิ้นต่อครั้งคือสาร CBD ๗๙.๕ ± ๖๑.๕ มิลลิกรัม ในขณะที่ค่าเฉลี่ยสาร THC อยู่ที่ ๔.๐ ± ๓.๐ มิลลิกรัม โดยมีการใช้ ๓ ครั้งต่อวัน
ปรากฏผลการวิจัยผู้เข้าโปรแกรมการวิจัยจนครบจำนวนมีร้อยละ ๓๐.๑ มีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ, ร้อยละ ๕๓.๗ มีอาการดีขึ้นปานกลาง, ร้อยละ ๖.๔ มีอาการดีขึ้นเพียงเล็กน้อย (รวม ๓ กลุ่มที่มีอาการดีขึ้นร้อยละ ๙๐) และกลุ่มที่ไม่เปลี่ยนแปลงร้อยละ ๘.๖ ซึ่งมีผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงอย่างน้อย ๑ อาการที่แตกต่างกันไปร้อยละ ๒๕.๒ โดยผลข้างเคียงทั่วไปคืออาการกระสับกระส่ายหรือนอนไม่หลับ [12]
ซึ่งอาการข้างเคียงนี่แหละต้องอาศัยภูมิปัญญาไทยในการปรุงยา เพื่อให้ได้ตำรับยาแผนไทยขนานใหม่ที่ลดผลข้างเคียงเหล่านี้ให้น้อยลง
ในความเป็นจริงแล้วยาแพทย์แผนไทยมีการสกัดอยู่เหมือนกัน เพราะตำรับยาบางขนานมีการดองสุรา (หรือยุคนี้เรียกว่าการใช้เอธานอลเป็นตัวทำละลาย) มีการใช้ความร้อนไล่ของเหลวไปเหลือกลุ่มตัวยาเป้าหมาย เพียงแต่ว่าการแพทย์แผนไทยไม่ได้สกัดสารเคมีตัวใดตัวหนึ่งออกมาเพื่อการรักษาเป็นการเฉพาะเหมือนการแพทย์แผนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันการแพทย์แผนไทยจะต้องทำความรู้จักพืชกัญชาหรือกัญชงชนิดใหม่ที่มาจากการพัฒนาสายพันธุ์จนดอกของพืชกลุ่มนี้ให้น้ำมันที่มีสาร CBD มากๆ และได้สาร THC ต่ำกว่าร้อยละ ๐.๓ เพื่อให้เรียกว่าเป็นกัญชง ซึ่งแม้สกัดโดยพื้นฐานตามวิธีการแพทย์แผนไทยก็จะได้สารสำคัญที่มีแต่ CBD เป็นส่วนใหญ่ แต่การแพทย์แผนไทยจะได้เปรียบก็ตรงนี้สามารถปรุงยาเป็นตำรับเพื่อลดผลเสียทั้งหลายให้ลดน้อยลงได้
เหตุผลก็เป็นไปตามที่ “ชีวกโกมารภัจจ์” ได้เคยกล่าวไว้ในการถูกทดสอบภูมิปัญญาในทางการแพทย์อายุรเวท ซึ่งประเทศไทยสืบทอดภูมิปัญญาต่อมาเป็นการแพทย์แผนไทยในทุกวันนี้คือ
“ไม่มีพืชชนิดใดที่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นยาได้”
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] กรมศิลปากร. หอสมุดแห่งชาติ, ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่มที่ ๒ กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๒ ISBN 974-417-443-9 หน้า ๓๘๖
[2] สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ฉบับใบลาน (ตำราพระโอสถพระนารายณ์) โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ISBN 987-616-11-1079-6
[3] กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, กลุ่มงานวิชาการและคลังความรู้ กองวิชาการและแผนงาน, คำอธิบายตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ ๒ โรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙ - นนทบุรี : กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, 2561, 328 หน้า ISBN 978-616-11-3612-3
[4] พระยาพิศณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร ร.ศ. ๑๒๗, เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑, ๒, ๓, โรงเรียนแพทย์แผนโบราณในประเทศไทย สำนักวัดพระเชตุพนฯ พระนคร
[5] มูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, พระประวัติพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, ๒๕๕๘, ISBN ๙๗๘-๖๑๖-๙๑๙๑๖-๒-๙
[6] Shannon S, Lewis N, Lee H, Hughes S. Cannabidiol in Anxiety and Sleep: A Large Case Series. Perm J. 2019;23:18-041. Published 2019 Jan 7. doi:10.7812/TPP/18-041
[7] Bax M. Autism. Dev Med Child Neurol. 1994;36:659-660.[PubMed] [Google Scholar]
[8] Services, C. D. o. D. (California Health and Human Services Agency, Department of Developmental Services Sacramento, 1999).
[9] Croen LA, Grether JK, Hoogstrate J, Selvin S. The changing prevalence of autism in California. Journal of autism and developmental disorders. 2002;32:207-215. doi: 10.1023/A:1015453830880. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]
[10] Boyle CA, et al. Trends in the prevalence of developmental disabilities in US children, 1997-2008. Pediatrics. 2011;127:1034-1042. doi: 10.1542/peds.2010-2989. [PubMePubMedd] [CrossRef] [Google Scholar]
[11] Lundström S, Reichenberg A, Anckarsäter H, Lichtenstein P, Gillberg C. Autism phenotype versus registered diagnosis in Swedish children: prevalence trends over 10 years in general population samples. bmj. 2015;350:h1961. doi: 10.1136/bmj.h1961. [PMC free article] [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]
[12] Bar-Lev Schleider L, Mechoulam R, Saban N, Meiri G, Novack V. Real life Experience of Medical Cannabis Treatment in Autism: Analysis of Safety and Efficacy. Sci Rep. 2019;9(1):200. Published 2019 Jan 17. doi:10.1038/s41598-018-37570-y