xs
xsm
sm
md
lg

‘ทาทา’ กับประชาธิปไตยดัดจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


เมื่อมีผู้ใช้อินสตาแกรมได้โพสต์ว่า #ดักตบอีช่อช่อง Arrival วิธีเอาชนะความเกลียดแบบอยู่หมัด ให้มึงคนเดียว #อีช่อหนักแผ่นดิน #อีช่อคอสั้น #อีช่อคางทูม #อนาคตใหม่กับพวกมึงกูไม่เอา

จากนั้นมีข้อความจากอินสตาแกรม “TATAAMITAYOUNG” ก็เข้าไปคอมเมนต์ว่า “รบกวนด้วยค่ะ!”

นั่นแหละศีลธรรมจริยธรรมจากผู้เคร่งศีลของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตยก็เดือดพล่านว่า เป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง

แน่นอนความรุนแรงไม่ควรถูกนำมาใช้กับฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง เช่นเดียวกับที่จ่านิวโดนกระทำ ผมเองก็เพิ่งเขียนบทความว่า ถ้าเราสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับฝ่ายที่มีความเห็นต่างกับเรา ก็เท่ากับเราทำให้การใช้ความรุนแรงเป็นความชอบธรรม และเมื่อฝ่ายเราถูกกระทำมันก็จะกลายเป็นความชอบธรรมไปด้วย

แต่ผมถามว่า นายพรานนักล่าแม่มดในโซเชียลของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยนั้น เกลียดชังความรุนแรงจริงหรือ หรือว่าจริงแล้วไม่พอใจที่นักร้องสาวคนมีชื่อเสียงมีทัศนคติที่เป็นลบกับฝ่ายตัวเอง แล้วคนเหล่านั้นเคยมีความเห็นอย่างไรกับถ้อยคำทำนองว่า “เอาสลิ่มไปรมแก๊ส”

สลิ่มหมายถึงคนเสื้อหลากสี (บอกไว้เผื่อฝ่ายที่อ้างว่าประชาธิปไตยยังแยกไม่ออกว่าเป็นกลุ่มไหนจนพูดแบบเหมารวมกันหมด) ที่เคยออกมาต่อต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน 2554 แล้วถูกอาวุธเอ็ม 79 ยิงใส่จนมีผู้เสียชีวิต นี่ต่างหากที่เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง

ถามว่าสิ่งที่ผู้โพสต์อินสตาแกรมถึง “ช่อ” นั้นเป็น ไซเบอร์ บูลลี (cyber bully)หรือไม่ คำตอบก็บอกว่า ใช่ แม้สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่ถามว่า พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นเป็นปกติของทั้งสองฝ่ายการเมืองที่มีความแตกแยกในสังคมไทยไหม คำตอบก็คือ มีการกระทำ ไซเบอร์ บูลลี (cyber bully) ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

แต่เราก็ต้องยอมรับว่า เมื่อฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนเป็นผู้กระทำซึ่งมีอยู่ดาษดื่นเรากลับมองไม่เห็น แต่พอฝ่ายตรงข้ามกับตัวเองทำ ถ้ายิ่งเป็นคนมีชื่อเสียงแล้วเราจะรู้สึกเดือดแค้นและเรียกหาความถูกต้องชอบธรรมศีลธรรมจริยธรรมขึ้นมาทันที

ถ้าถามว่าทาทายังมีเจตนาจะทำเช่นนั้นหรือสนับสนุนให้กระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ แน่นอนในความหมายของไซเบอร์ บูลลีมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่ถ้าถามว่าทาทาเจตนาจะทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ ผมว่า นัยของมันเป็นเพียงการเล่นสนุกมากกว่า หรืออย่างมากที่สุดก็คือ การแสดงออกถึงการไม่ยอมรับพฤติกรรมของผู้ที่ถูกกล่าวถึงในฐานะคนในสังคมคนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากอีกฝ่ายเช่นเดียวกัน

แต่สังคมไทยก็จะตีค่าว่าดาราเป็นบุคคลสาธารณะการออกมาแสดงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมีพลังและสามารถชี้นำสังคมได้ ก็จริงนะ แต่เราเคยมีความคิดเดียวกันนี้กับดาราคนสาธารณะที่มีความเห็นคล้ายกัน แต่เป็นคนสนับสนุนความคิดของฝ่ายตัวเองหรือไม่ว่าสิ่งนั้นไม่ควรกระทำ คำตอบที่ทุบโต๊ะได้เลยว่า ไม่ อย่างเก่งก็ทำเป็นนิ่งเฉยเสีย

อันนี้ผมหมายถึงทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ

สิ่งสำคัญคือ เราต้องยอมรับว่า วันนี้สังคมไทยไม่ว่าจะมีสถานะอย่างไรมีทางเลือกสองทางเท่านั้นคือไม่ซ้ายก็ขวา อาจจะบอกว่าคนที่มีใจกลางๆ ไม่เข้าข้างฝ่ายไหนไม่สนใจเรื่องการเมืองแบ่งฝ่าย ก็คงจะมีบ้างแต่มีน้อยมาก ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เป็นกลางจริงๆ หรอก ก็สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั่นแหละ เพียงแต่อาจจะไม่แสดงออกแจ่มชัด แบบคนคลั่งสีคลั่งฝ่าย

พอทาทาแสดงออกก็กลายเป็นล้าหลัง ทั้งที่ทั้งสังคมมันยืนอยู่ในจุดเดียวกันนั่นแหละ

วันนี้ต่างฝ่ายต่างก็ถือว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก แน่นอนต่างก็มีเหตุผลแสดงความชอบธรรมทั้งสองฝ่ายที่เอามาโต้แย้งกัน แต่เท่าที่สังเกตทั้งสองฝ่ายยังมีคนไม่น้อยที่พอเป็นฝ่ายตรงข้ามกระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำก็อ้างเหตุผล และหลักการมาบริภาษได้อย่างมีหลักมีเกณฑ์ แต่ฝ่ายเดียวกันนั้นกลับยึดหลักการและกลับตาลปัตรความเห็นไปอีกทาง

ทุกวันนี้เรื่องเดียวกันฝ่ายหนึ่งบอกว่าขาวฝ่ายหนึ่งบอกว่าดำ แต่เป็นไปไม่ได้หรอกที่ผ้าสีใดสีหนึ่งในสายตาของคนปกติจะสามารถมองเป็นสีที่ต่างกันได้ในมุมมองเดียวกันในแสงส่องสว่างที่เท่ากัน ดังนั้นมันต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ผิดแน่

แน่นอนผมก็ชัดเจนว่ายืนอยู่ฝ่ายไหน คงถอนตัวเองออกได้ยาก และพยายามตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยหลักการความเห็นและทัศนะของตัวเอง แน่นอนว่าบางครั้งผมก็พยายามจะหาเหตุผลมาสนับสนุนฝ่ายตัวเอง แต่ต้องไม่ทำในสิ่งที่มันฝืนมโนสำนึกจนเคยไป ไม่ใช่ว่า ผมเป็นคนดี เพราะในชีวิตส่วนตัวก็เหมือนกับปุถุชนทั่วไปที่กระทำในสิ่งที่ผิดพลาดและไม่เหมาะไม่ควรมา แต่ถ้าเราจะตอบโต้คนที่เห็นต่างด้วยหลักการใดหลักการหนึ่ง หลักการนั้นมันต้องใช้กับฝ่ายของตัวเราเองด้วย

ปัญหาสำคัญของสังคมไทยวันนี้ก็คือ ไม่มีใครที่ยอมรับว่าฝ่ายตัวเองเป็นฝ่ายผิด นักการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนกระทำในสิ่งที่ไม่ชอบก็เงียบเฉย เพียงเพราะว่าเขามาจากการเลือกตั้งซึ่งเชื่อว่านั่นเป็นความชอบธรรม นักการเมืองที่ตัวเองชอบทำสิ่งที่ไม่ชอบเราก็นิ่งเฉยเพียงเพราะเราเชื่อว่า เขาเป็นคนดีไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับที่เราเกลียด

กลายเป็นว่า ที่มาความชอบมีความหมายมากกว่าการกระทำ มาจากเลือกตั้งโกงได้ถ้าไม่ชอบคราวหน้าไม่ต้องเลือก อีกฝ่ายเชื่อว่าถ้าไม่มาจากการเลือกตั้งเขาจะไม่โกงถ้าโกงต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นเพราะนักการเมืองมันเลว ซึ่งเป็นตรรกะที่บิดเบี้ยวทั้งสองฝ่าย

ไปดูเถอะครับตรรกะเหล่านี้เกิดจากตัวพ่อตัวแม่ของทั้งสองฝ่ายด้วยซ้ำ ไม่เว้นแม้แต่นักรัฐศาสตร์ในสถาบันการศึกษาที่มีคำนำหน้าว่าศาสตราจารย์หรือไม่ก็ตาม

จำได้ไหมตอนที่ฝ่ายผม พันธมิตรฯ ชุมนุมถูกเอ็ม 79 ยิงทุกวัน อาจารย์มหาวิทยาลัยลงชื่อกันนำโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรกะปิ บอกว่ารัฐต้องจัดการกับพันธมิตรฯ ที่ใช้ความรุนแรง ทั้งที่พันธมิตรฯ ถูกกระทำทั้งยิง ปาระเบิด ลอบทำร้าย แต่พอฝ่ายที่มีทัศนคติทางการเมืองตรงกับตัวเองพวกลงชื่อชุดเดียวกันนี่แหละก็ออกแถลงการณ์ปกป้องจากรัฐ ทั้งที่เอาเอ็ม 79 ยิงใส่ฝ่ายตรงข้ามออกจากที่ชุมนุม ซึ่งสะท้อนว่า เป็นทัศนคติทางวิชาการที่กลับกลอกเพราะการเลือกข้างทางการเมืองเท่านั้นเอง

เวลาเห็นฝั่งนี้เต้นแร้งเต้นกาเพราะถูกฝ่ายตรงข้ามกับตัวบริภาษในโซเชียลมีเดียก็มักจะงัดเอาหลักการศีลธรรมจริยธรรมขึ้นมาท่องจำเหมือนขโมยแอบใส่เครื่องแบบตำรวจ แต่จริงๆ แล้วทัศนคติแบบเดียวกันที่ตัวเองบริภาษก็เกิดจากฝ่ายตัวเองทุกวันเช่นเดียวกัน

ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องของความชอบธรรมไม่ชอบธรรมที่เกิดจากจิตใต้สำนึกจริงๆ หรอก แต่มันเกิดจากหัวใจย้อมสีแล้วใส่แว่นสีปิดบังตาตัวเอง ถ้าบอกว่ามันเป็นกันทั้งสองฝ่าย ก็คงต้องบอกว่าจริง ถ้าจะหาคนกลางๆ มาตัดสินว่าฝ่ายไหนมีความชอบธรรม ฝ่ายไหนมีเหตุผลมากกว่า ฝ่ายไหนมีหลักการมากกว่า นับเป็นเรื่องที่ยากในสังคมไทยวันนี้

ก็ลองดูสิขนาดพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยมันยังเลือกหัวหน้าพรรคตัวเองไม่ได้เลย กลายเป็นเพียงพวกประชาธิปไตยดัดจริตเท่านั้นเอง แล้วพวกบูชาพรรคนี้มันเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้ยังไง

...
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น