xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล 19 พรรค : เรือเล็กบรรทุกหนักฝ่าคลื่นยักษ์

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


หลังจากรอคอยการกลับมาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมานาน 5 ปีกว่า ประเทศไทยก็ได้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีในระบอบเผด็จการเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสม 19 พรรค ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ โดยมีพรรคร่วมอีก 18 พรรคมีพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

ถึงแม้รัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองถึง 19 พรรคเรียกได้ว่ามากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่ก็มีเสียง ส.ส.เกินครึ่งไปเพียงเล็กน้อย จึงมีความเสี่ยงทางด้านการเมืองสูง และมีสภาพไม่ต่างไปจากเรือเล็กบรรทุกของหนักแล่นฝ่าเกลียวคลื่นใหญ่ แถมลูกเรือไม่มีเอกภาพทางความคิด และกัปตันขาดประสบการณ์ในการควบคุมเรือในภาวะที่มีคลื่นลมแรงเช่นนี้มาก่อน จึงเสี่ยงที่เรือจะอับปางได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการสืบทอดอำนาจโดยอาศัยเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่ระบอบเผด็จการได้วางไว้ จึงไม่เป็นที่ยอมรับจากนักการเมือง และประชาชนซึ่งยึดแนวทางประชาธิปไตยตามแนวของโลกตะวันตก และนี่คือจุดด้อยประการหนึ่ง

2. รัฐบาลผสม 19 พรรคแต่มีเสียงเกินครึ่งเพียงไม่กี่เสียง และแถมไม่มีเอกภาพทางความคิดเท่าที่ควรจะเป็น จะเห็นได้จากการจัดตั้งรัฐบาลกว่าจะลงตัวได้ต้องใช้เวลานาน และมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขซ้ำแล้วซ้ำอีก มีการต่อรองเกือบถึงที่สุดท้าย และถึงแม้จะจบลงได้ก็ใช่ว่าจะเงียบสงบโดยสิ้นเชิง แต่จบลงแบบน้ำนิ่งไหลลึก และนี่คือข้อด้อยอีกประการหนึ่ง

จากข้อด้อยทั้ง 2 ประการข้างต้น อนุมานได้ว่า ครม.ชุดนี้มีความขัดแย้งแตกแยกได้ง่าย ทั้งนี้เป็นไปตามสัจธรรมที่ว่า ผลประโยชน์ร่วมกันและแบ่งกันไม่ลงตัว ทำให้เกิดความขัดแย้งได้

ในทางกลับกัน ฝ่ายค้าน 7 พรรคแต่มีเสียงใกล้เคียงกับรัฐบาล และมีความเหนียวแน่นเป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นไปตามสัจธรรมที่ว่า ศัตรูร่วมกันทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่มของคนที่มีศัตรูร่วม

ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น ถ้าวันใดฝ่ายรัฐบาลขัดแย้งและแตกแยกกัน ก็จะเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายค้านโจมตีทำให้พ่ายแพ้โดยง่าย และวันที่ว่านี้จะมาถึงเมื่อฝ่ายค้านเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอในการเข้าร่วมรัฐบาล ดังนั้นในวันนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็จะมีความเห็นร่วมกับฝ่ายค้าน

ถ้าพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมอื่นซึ่งมีแนวทางการเมืองในทำนองเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐ มีความเห็นไม่สอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ความแตกแยกก็จะเกิดขึ้นในรัฐบาลทันที และถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็หมายความว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ก็จะพบกับทางตันไปต่อได้ยาก และถ้าเมื่อใดมี พ.ร.บ.สำคัญซึ่งรัฐบาลเป็นคนเสนอเข้าสภา หรือมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าสภา รัฐบาลก็จะแพ้โหวตและมีทางเลือกอยู่สองทางให้เลือกคือ นายกรัฐมนตรีลาออก หรือประกาศยุบสภา ในสองทางที่ไม่ว่าจะเป็นทางใด เส้นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จบลงและโอกาสจะกลับมาใหม่เป็นไปได้ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น