xs
xsm
sm
md
lg

พูดอย่างทำอย่าง : พฤติกรรมที่ทำลายศรัทธา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในขณะนี้ผู้คนในสังคมไทยส่วนหนึ่ง และอาจเป็นส่วนใหญ่ของประเทศไทย กำลังเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมของนักการเมือง และพฤติกรรมของบุคคลที่มิใช่นักการเมือง แต่มีส่วนได้เสียกับการเมือง ทั้งบางคนอาจมีส่วนได้มากกว่านักการเมืองด้วยซ้ำไป

พฤติกรรมแรกที่ทำให้คนเบื่อคือ การวิ่งเต้นและต่อรองตำแหน่งทางการเมืองระหว่างพรรคกับพรรค และระหว่างคนในพรรคกับพรรคซึ่งตนเองสังกัด

การวิ่งเต้นและต่อรองไม่ว่าจะเป็นพรรคกับพรรค หรือคนในพรรคกับพรรค ล้วนแล้วแต่อ้างเพื่อจะได้เข้าไปทำงานให้กับประเทศ และประชาชนโดยรวม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่า เพื่อตนเองและพวกพ้องก่อนประเทศชาติ และประชาชน

การที่พูดว่านักการเมืองมีพฤติกรรมเช่นนี้ใช่ว่าจะเป็นการพูดที่เลื่อนลอย ไร้เหตุผลในเชิงตรรกะ แต่พูดด้วยการอนุมานจากอดีต ทั้งของพรรคและของบุคคล โดยเฉพาะพรรคและบุคคลซึ่งเคยเป็นฝ่ายบริหารมาแล้ว

พฤติกรรมที่ทำให้คนเบื่อประการที่สองก็คือ การโยนความผิดให้คนอื่นในทำนองเอาดีใส่ตัว เอาความชั่วให้คนอื่น

พฤติกรรมที่ว่านี้จะเห็นได้ในกรณีที่ความผิดพลาดเกิดขึ้น และตนเองต้องอยู่ในฐานะที่จะรับผิดชอบในการแก้ไข แต่นักการเมืองมักจะบอกว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนที่ตนเองจะเข้ามารับหน้าที่ หรือบางทีโยนให้กาลเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้สิ่งที่กำลังทำ หรือทำมาแล้วบางส่วนทำให้เกิดความบกพร่อง และผิดพลาดขึ้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมประการหนึ่งของพฤติกรรมที่ว่านี้ก็คือ ในการแต่งตั้ง ครม.และได้มีบางพรรคเสนอชื่อบุคคลบางคน ซึ่งมีชื่อในทางลบในสายตาของผู้คนในสังคมให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เมื่อข่าวนี้ปรากฏออกไป ได้มีเสียงต้านจากสื่อและประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และมีหน้าที่ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งใน ครม.ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้พูดในทำนองว่า เป็นคนที่ประชาชนเลือกมาโดยไม่ตอบให้ตรงประเด็นว่าไม่เหมาะสม และส่งกลับไปให้พรรคที่เสนอรับรู้แล้วขอให้ส่งชื่อผู้ที่เหมาะสมมาแทน แต่ภายหลังได้ปรากฏเป็นข่าวว่าได้มีการเปลี่ยนตัวบุคคลแล้ว

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกในทำนองนี้เป็นพฤติกรรมนักการเมืองผู้ช่ำชองในการบิดเบือน และเบี่ยงเบนความสมใจ เป็นการปัดความรับผิดชอบให้พ้นไปจากตนเอง หาใช่พฤติกรรมของนักบริหารไม่ เพราะนักบริหารคิดย่างไร พูด และทำอย่างนั้น หรือพูดง่ายๆ ก็ปากกับใจจะต้องตรงกัน และถ้ามีการแสดงพฤติกรรมเยี่ยงนี้บ่อยๆ จะทำให้คนฟังขาดความน่าเชื่อถือ

จริงอยู่ ในภาวะที่ต้องเอาใจพรรคร่วมรัฐบาล ผู้นำรัฐบาลจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็มีวิธีการที่จะพูดโดยไม่ทำให้ประชาชนเสียศรัทธา ซึ่งกระทำได้โดยการเชิญหัวหน้าพรรคที่เสนอชื่อผู้ที่ไม่เหมาะสมมาแถลงข่าวร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล โดยให้เหตุผลในทางบริหาร ว่าไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลใด และขอให้พรรคถอดชื่อออกไป แล้วเสนอคนใหม่มาแทน เพียงแค่นี้ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดดเด่นขึ้นในมาฐานะผู้นำที่กล้าเผชิญความจริง และมีความเด็ดขาดในการแก้ปัญหา โดยไม่โยนความผิดให้คนอื่น

ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงพฤติกรรมที่ทำให้คนเบื่อในลักษณะพูดอย่าง ทำอย่าง และการโยนความผิดให้คนอื่นของนักการเมืองมีให้เห็นบ่อยๆ จนต้องทำใจยอมรับ และจำใจต้องอยู่กับนักการเมืองแบบนี้ โดยที่ยังมองไม่เห็นว่าจะหมดไปจากการเมืองได้อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ก่อนได้อ่านข่าวพรรคประชาธิปัตย์ในยุคของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้นำคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกำลังสมองของพรรค ก็ทำให้มีความหวังว่า คนรุ่นนี้จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางการเมืองที่ประชาชนคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าแต่ต้องการเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น พอจะมีความหวังขึ้นมาบ้าง

ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. คนรุ่นใหม่ที่ว่านี้จะได้รับการยอมรับจากคนรุ่นเก่าภายในพรรค และให้โอกาสคนเหล่านี้มีบทบาทในการแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าคนภายในพรรคเปิดโอกาสให้ทำได้อย่างเต็มที่เชื่อว่า จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ดีขึ้น

2. เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงแล้ว ประชาชนซึ่งเป็นผู้นิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์ จะยอมรับและให้โอกาสทางการเมือง โดยเลือกคนเหล่านี้เข้าไปเป็น ส.ส.แทนรุ่นเก่าหรือไม่

ถ้าประชาชนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ เลือกคนเหล่านี้แทนพรรคประชาธิปัตย์รุ่นเก่า ก็ทำให้มองเห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่ได้อย่างเท่าเทียมหรือเหนือกว่าแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น