xs
xsm
sm
md
lg

ผ่า'อี-พาสปอร์ต' ลดป้องกันปลอม ห่วงคนไทยไปนอก ถูกห้ามเข้าเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฉเล่มหนังสือเดินทาง "อี-พาสปอร์ต"รุ่นใหม่ ลดสเปก"ความปลอดภัยคุณสมบัติปลอมแปลง" กังขาแค่อยากจะลดราคา หาผู้ชนะประมูล ไม่สนใจมาตรฐาน ห่วงปัญหาคนไทยไปนอกเสี่ยงถูกปฎิเสธเข้าเมือง

กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาโครงการจัดจ้างผลิต และให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport)โดยมีมูลค่าโครงการ กว่า 7,400 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงมากของภาครัฐ นั้น

มีรายงานข่าวระบุว่า ที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้างการทำ อี-พาสปอร์ต ครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสงสัย เรื่องการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติป้องกันการปลอมแปลงของหนังสือเดินทาง ที่ปรากฏอยู่ใน TOR เมื่อเทียบกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งก่อน (พ.ศ. 2554) กับครั้งนี้ (พ.ศ.2561) โดยได้มีการปรับลดคุณสมบัติเรื่อง Image Perforation using laser ซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านการป้องกันการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เนื่องจากเป็นคุณสมบัติที่ตรวจสอบการปลอมแปลงได้ง่าย และเป็นคุณสมบัติที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่ปรากฏการปลอมแปลงแม้แต่น้อย

ที่น่าสงสัย คือ เมื่อเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ทำไมกระทรวงการต่างประเทศ ถึงไม่เห็นความสำคัญ และเลือกที่จะตัดคุณสมบัตินี้ทิ้ง

นอกจากนี้ ยังน่ากังวลว่าเมื่อหนังสือเดินทางของประเทศไทย ถูกปรับลดคุณสมบัติด้านความปลอดภัยลง ทำให้ความน่าเชื่อถือของหนังสือเดินทางลดลง ผู้ถือหนังสือเดินทางไทย จะถูกตั้งคำถามจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมากขึ้น จนถึงขั้นถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศหรือไม่ ?

สำหรับหนังสือเดินทาง มีความสำคัญต่อผู้ถือหนังสือเดินทางอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เป็นไปได้โดยสะดวกรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายของการเดินทางไปยังต่างประเทศลดลง ตั๋วเครื่องบินจัดโปรโมชันมากมายจูงใจให้คนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

ปัจจุบันคนเดินทางข้ามประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ผู้ถือหนังสือเดินทางต้องตระหนัก คือ หนังสือเดินทางนอกจากจะเป็นเครื่องมือแสดงตัวตนของผู้ถือหนังสือเดินทางในการเดินทางไปต่างประเทศแล้ว หนังสือเดินทาง ยังเปรียบได้กับบัตรประชาชนของเรา ในการแสดงตัวตนในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งพาสปอร์ตของแต่ละประเทศ จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่รับทำพาสปอร์ตนั้น ต้องการให้พาสปอร์ต มีคุณสมบัติอะไรที่ซ่อนอยู่ภายในนั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นานาประเทศต้องการเหมือนกันคือ พาสปอร์ตจะต้องมีคุณสมบัติที่ปลอมแปลงยาก เพื่อป้องกันการปลอมแปลง เพราะหากพาสปอร์ตของประเทศใดปลอมแปลงได้ง่ายแล้ว อาจถูกเพ่งเล็งจากตรวจคนเข้าเมือง (หรือที่เรารู้จักกันในนาม ตม.) ที่มีหน้าที่ตรวจสอบคนเข้าประเทศมากขึ้น

ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศ ออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาจ้างเอกชนผลิต และให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม หรือ ภายในระยะเวลา 7 ปี แล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน ราคากลาง 12,438,750,000 บาท หรือ เล่มละ 829.25 บาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)โดยให้เหตุผลว่า มีผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียว

ต่อมาได้ออกประกาศประกวดราคา ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 กำหนดยื่นข้อเสนอ และเสนอราคา ในวันที่ 28 มี.ค.62 โดยให้ผู้ยื่นข้อเสนอเข้าสู่ระบบประกวดราอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นข้อเสนอและให้เสนอราคาภายในเวลาที่กำหนด สามารถเสนอราคาได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และประกาศผู้ชนะการเสนอราคาใน วันที่ 8 พ.ค.62 ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น