“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475นั้น นายปรีดี พนมยงค์ ในนามของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ประกาศว่า “พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130”
คนรุ่นใหม่อาจสงสัยว่า เหตุการณ์ร.ศ.130 คืออะไร
เหตุการณ์ปฏิวัติรศ.130(พ.ศ.2455) เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนหลายคนถูกตัดสินประหารชีวิต แต่รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต
ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์
ขณะที่นายปรีดีถือว่า สิ่งที่เขาดำเนินในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475นั้น คือการสืบทอดเจตนารมณ์ของเหตุการณ์ในปี 2455 แต่ในวันนี้มีคนกลุ่มหนึ่งที่ก่อตัวตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคอนาคตใหม่ประกาศว่า จะสืบทอดเจตนารมณ์ 2475
เขียนเป็นสมการได้ว่า ปรีดีคณะราษฎร์ปฏิวัติ2475เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของรศ.130แล้วธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจกับปิยบุตร แสงกนกกุล บอกว่า เขาและคณะจะสืบทอดอุดมการณ์ 2475
โดย 3 เรื่องที่ปิยบุตร เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ประกาศว่าจะดำเนินการเพื่อสืบต่ออุดมการณ์ 2475 คือ
1.หลักรัฐธรรมนูญนิยม เริ่มแพร่หลายหลังการปฏิวัติอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ทีมีสาระสำคัญคือ การจำกัดอำนาจผู้ปกครอง ประชาชนเป็นผู้ก่อตั้ง เนื้อหาพูดถึงสถาบันการเมืองต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิ์เสรีภาพประชาชน ทุกสถาบันการเมืองมีอำนาจได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด รัฐไม่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักการนี้ดำรงอยู่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่มาสะดุดหยุดลงหลังการรัฐประหาร 2490 และรัฐธรรมนูญถูกทำให้กลายมาเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจจนทุกวันนี้
2.หลักระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นสถานที่พูดคุยของผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา จากเสียงข้างมากในสภา และรัฐบาลก็อยู่ได้เพราะผู้แทนให้ความไว้วางใจ เราต้องทำให้ภาพลักษณ์ของระบบรัฐสภาดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น เพราะที่ผ่านมา เราถูกทำให้มองว่าภาพลักษณ์นักการเมืองมีแต่การทะเลาะ เบาะแว้ง ความวุ่นวาย การรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะนักการเมืองในสภานั้นไม่ได้เรื่อง เขาทำลายความชอบธรรมของนักการเมือง ทั้งที่เป็นอาชีพเดียวที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
3. หลักการกระจายอำนาจ คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วมีการออกกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องท้องถิ่น นั่นคือ พ.ร.บ. เทศบาล 2476 ซึ่ง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ผลักดัน เป็นต้นแบบเรื่องยุติการรวมศูนย์อำนาจ โดยให้คนท้องถิ่นเลือกผู้บริหารด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตามก็ทำไม่สำเร็จ สุดท้ายถูกส่วนกลาง ถูกกระทรวงมหาดไทยดึงอำนาจกลับ เพิ่งจะมาเกิดขึ้นอีกครั้งหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งอำนาจอยู่กับท้องถิ่นได้อีกสักพักก็ถูกดึงกลับอีก และคราวนี้เหมือนจะถอยหลัง โดยรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด
จะเห็นว่าข้อที่1 นั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ปิยบุตรเคยพูดว่า สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใด ๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ข้อที่ 2 นั้น ในภาวะปกติระบบรัฐสภาก็ดำเนินไปตามครรลองของมันอยู่แล้ว แต่พฤติกรรมของนักการเมืองและผู้ถูกอำนาจรัฐต่างๆที่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงทุกครั้งจนทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่อันเป็นสิทธิที่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย
แต่ปิยบุตรพูดราวกับว่า นักการเมืองถูกสร้างภาพลักษณ์ให้ดูวุ่นวายเหมือนกับบอกว่าพฤติกรรมความชั่วร้ายของนักการเมืองที่ประชาชนออกมาขับไล่นั้นไม่ใช่เรื่องจริง ราวกับว่า ประชาชนต่างหากที่เป็นปัญหา และจริงๆแล้วแม้ว่านักการเมืองจะเชื่อมโยงกับประชาชน แต่นักการเมืองต้องใช้อำนาจอย่างชอบธรรมด้วย ไม่ใช่อ้างว่ามาจากประชาชนแล้วจะทำอะไรก็ได้ไม่ใช่หรือ
ข้อที่ 3 ผมคิดว่า การกระจายอำนาจท้องถิ่นหยุดชะงักจริงหลังการรัฐประหาร แต่สุดท้ายเมื่อการเมืองระดับชาติคืนกลับมาสู่ประชาธิปไตย รัฐบาลก็ปล่อยให้การเลือกตั้งท้องถิ่นกลับมา และตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเราจะกลับไปสู้การเลือกตั้งท้องถิ่นระดับต่างๆในปลายปีนี้ ไม่เห็นจะต้องอ้างการสืบทอดอุดมการณ์ 2475เพื่อขับเคลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่อย่างใด
แล้วที่ปิยบุตร บอกว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ผลักดัน เป็นต้นแบบเรื่องยุติการรวมศูนย์อำนาจ คือ ผลักดัน พ.ร.บ.เทศบาล 2476 ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่ปิยบุตรไม่ได้พูดว่า ความจริงแล้วในหลวงรัชกาลที่ ๗ ก็มีแนวคิดนี้มาก่อนนายปรีดี โดยทรงมี พระราชดำริ ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองท้องถิ่น เพื่อทำการปกครองตนเองขึ้นตามแบบอย่างประเทศตะวันตกที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงให้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับประจำวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2474 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก่อนการออก พ.ร.บ.เทศบาล 2476 ซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“เรากำลังเตรียมออกพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นมาใหม่ เพื่อทดลองเกี่ยวกับสิทธิเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ ประชาชนจะมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล…ข้าพเจ้าเห็นว่าสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนควรจะเริ่มต้นที่การปกครองท้องที่ในรูปเทศบาล ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนควรจะมีสิทธิมีเสียงในกิจการของท้องถิ่น เรากำลังพยายามให้การศึกษาเรื่องนี้แก่เขา ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการผิดพลาด ถ้าเราจะมีการปกครองระบอบรัฐสภาก่อนที่ประชาชนจะมีโอกาสเรียนรู้ และมีประสบการณ์อย่างดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งใน กิจการปกครองท้องถิ่น”
แล้วจริงๆ เทศบาลก็มาจากระบบสุขาภิบาลที่วางรากฐานมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 ครั้งยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สะท้อนว่า พระมหากษัตริย์ไทยนั้นทรงให้ความสนใจกับการบริหารส่วนท้องถิ่นมาโดยตลอด และถึงทุกวันนี้การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ปิยบุตรพูดนั้นก็ยังดำเนินการอยู่ติดขัดเพียงช่วงเกิดรัฐประหารเท่านั้นเอง
แต่ถ้าจะพูดถึงการบริหารส่วนท้องถิ่นในความหมายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งปิยบุตรไม่ได้พูดถึงก็ต้องพูดกันอีกมิติหนึ่ง
ฟังไปฟังมาดูเหมือนว่า การประกาศจะสืบทอดอุดมการณ์3ข้อของธนาธรและปิยบุตรนั้นน่าจะตั้งใจเน้นย้ำตรงข้อที่1เป็นสำคัญ
ถ้าเราอ่านข้อที่ 1 ให้ดีจะเห็นนัยที่ซ่อนเร้นเอาไว้
“หลักรัฐธรรมนูญนิยม เริ่มแพร่หลายหลังการปฏิวัติอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ทีมีสาระสำคัญคือ การจำกัดอำนาจผู้ปกครอง ประชาชนเป็นผู้ก่อตั้ง เนื้อหาพูดถึงสถาบันการเมืองต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิ์เสรีภาพประชาชน ทุกสถาบันการเมืองมีอำนาจได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด”
ลองกลับไปทบทวนสิ่งที่ หนังสือฟ้าเดียวกัน ของธนาธรพูดถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และสิ่งที่ปิยบุตรพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีตและเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนิยมแบบสหรัฐอเมริกาดู
แล้วถ้าย้อนกลับไปมอง 2475 ในความจริงแล้วในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็มีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว และได้ให้ขุนนางในขณะนั้นเตรียมร่างรัฐธรรมนูญโดยเรียกกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี หรือ ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis Bowes Sayre) ที่ปรึกษาทางกฎหมายชาวอเมริกัน เพียงแต่ทรงเห็นว่า ประชาชนไทยยังไม่มีความพร้อม และทรงมีความคิดที่จะดำเนินการเป็นขั้นตอน เพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทันใจคนหนุ่มสาวในยุคนั้น แล้วก่อการปฏิวัติโดยใช้อุบายหลอกทหารให้มารวมกันที่ลานพระบรมรูป
แต่การปฏิวัติครั้งนั้นจบลงด้วยดีเพราะในหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่ต้องการทำให้เกิดความรุนแรง แม้อาจจะรับมือกับคณะราษฎร์ได้ โดยทรงห่วงใยความรุนแรงที่จะเกิด ดังมีพระราชดำรัสว่า “... ข้าพเจ้าไม่สามารถนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่เปื้อนเลือดได้”
และความไม่พร้อมของประชาชนก็เป็นความจริง เพราะแม้คณะราษฎร์จะปฏิวัติสำเร็จ ก็ส่งมอบประชาธิปไตยให้ประชาชนแบบผ่อนส่ง ช่วงแรก สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะถูกแต่งตั้งโดยสี่ทหารเสือเท่านั้น (ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร) มาสู่รัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่กึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามแบบประชาธิปไตยทางอ้อม
และกว่าประชาชนจะได้รับการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรกก็คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 นานถึง 5 ปีหลังการปฏิวัติ ที่ประชาชนมีผู้แทนสภามาจากการแต่งตั้งของรัฏฐาธิปัตย์มาโดยตลอด
จะเห็นได้ว่า การปฏิวัติ 2475 ก็มีขั้นตอนที่ผ่อนถ่ายประชาธิปไตยกลับมาอย่างแท้จริงยาวนานกว่าจะยอมให้มีการเลือกตั้งทางตรงก็ใช้เวลา5ปีและเป็นการเลือกตั้งที่วางรากฐานการสืบทอดอำนาจเช่นเดียวกันกับการรัฐประหาร 2557 ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันนี้
ดังนั้นผมไม่เข้าใจนะครับว่า สิ่งที่ธนาธรและปิยบุตรจะสืบทอดอุดมการณ์ของ 2475 คืออะไร อะไรที่เรายังไม่ได้รับจากการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
เพราะว่าไปแล้วความผันแปรที่ทำให้เกิดการรัฐประหารนั้นก็มาจากพฤติกรรมที่ฉ้อแลอำนาจของนักการเมืองเอง และเมื่อเกิดความวุ่นวายก็มีเหตุจำเป็นให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ดังเช่นครั้งล่าสุด ถ้าทหารไม่ออกมาบ้านเมืองก็จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้ ขณะที่บางฝ่ายจับอาวุธขึ้นมาฆ่ากันกลางเมือง
อะไรคือภารกิจ 2475 ที่ยังทำไม่สำเร็จแล้วพรรคอนาคตใหม่จะสานต่อ นอกเหนือจาก 3 ข้อที่ปิยบุตรแถลงที่ผมยกมาข้างบน
แม้ในวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งสองจะพูดว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่า ภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จในวันนี้ และเราพรรคอนาคตใหม่จะสานต่อนั่นคือ การสร้างประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ภารกิจ 2475 ไม่ใช่ล้มล้างสถาบันอย่างที่เราถูกใส่ร้าย เราเชื่อมั่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงสถาพร เมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็ง
หรือว่าธนาธรและปิยบุตรต้องการอะไรที่มากกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan