xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญมาตรา 270 ตัดก่อนตายเตือนก่อนวายวอดสำหรับรัฐบาลหรือเครื่องประหารความชอบธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนั้นขาดเสถียรภาพ และมีโอกาสที่สภาจะล่มได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน จะต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง แต่การมีงูเห่าที่อาจจะย้ายฝั่ง หรือการที่วิปรัฐบาลคุมเสียง ส.ส. ไม่ได้ดีมากนัก เกิดการต่อรองก่อนการยกมือให้ หรือแม้กระทั่งการขาดประชุม เข้าห้องน้ำก่อนมีการลงมติ หรือแม้แต่การเจ็บป่วยของ ส.ส. ก็อาจจะทำให้เกมในสภามีความสุ่มเสี่ยงสูงและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือในอีกนัยประธานรัฐสภาย่อมเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง

อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก็ออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นและสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มีเครื่องตัดไฟในรัฐสภา ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด ป้องกันสภาล่ม และป้องกันการพ่ายแพ้โหวตในสภาผู้แทนราษฎร อันนำไปสู่มารยาททางการเมืองแห่งการต้องจำใจลาออกของรัฐบาล หากพ่ายแพ้การลงมติในกฎหมายสำคัญ อันได้แก่ พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นอาทิ

มาตรา 270 บทเฉพาะกาล ได้กำหนดว่ากฎหมายใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศไทย ไม่ว่าการพิจารณาในรัฐสภาจะอยู่ในขั้นไหนก็ตามหากยังไม่สิ้นสุด สามารถถอนออกมา โดยมีคณะกรรมการร่วมตัดสินชี้ขาดเพียงห้าคนคือ 1. ประธานวุฒิสภาเป็นประธาน 2. รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนใดคนหนึ่ง 3. ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 4. ผู้แทนคณะรัฐมนตรีคนหนึ่ง และ 5. ประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะเป็นกรรมการ

คณะกรรมการร่วมทั้งห้าคนนี้ ตัดสินชี้ขาดด้วยเสียงข้างมาก และเป็นอันยุติให้ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการตามมาตรา 270 โดยต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศโดยสองสภา (สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา) หรือ 750 คน

เนื่องจาก คสช. หรือต่อมาคือรัฐบาลมีเสียงที่เกิดจากการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และยังมี ส.ส. พรรครัฐบาลอีกประมาณ 250 เสียง ดังนั้นถึงแม้ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลจะแปรพักตร์หรือตีรวม ไม่เข้าประชุม หรือยกมือตามฝ่ายค้าน หรือป่วย หรือถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือถูกพิพากษาเรื่องถือหุ้นสื่อมวลชน หากยังเหลือ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพียง 125 คน เมื่อรวมกับ 250 เสียงสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีความน่าจะเป็นที่จะแตกแถวน้อยมากก็ได้เสียงเท่ากับ 375 เสียง เท่ากับกึ่งหนึ่งของสองสภา ทำให้สามารถผ่านกฎหมายทุกฉบับที่รัฐบาลเสนอโดยอาศัยมาตรา 270 นี้

คณะกรรมการร่วมที่จะวินิจฉัยว่ากฎหมายใดสามารถถอนออกมาพิจารณาร่วมสองสภาตามมาตรา 270 ได้นั้น มีองค์ประกอบที่น่าจะเป็นคนของรัฐบาลคือ 1. ประธานวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาโดยกรรมการสรรหาที่แต่งตั้งโดย คสช. 2. รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนใดคนหนึ่ง ซึ่งมาจากฝั่งรัฐบาล 3. ผู้แทนคณะรัฐมนตรีคนหนึ่ง และ 4. ประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะเป็นกรรมการ ซึ่งมาจาก สส. ฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นจะมีเสียงเท่ากับ 4 ต่อ 1 หรือแม้กระทั่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญแปลงร่างเป็นงูเห่าไปหรือป่วยตายไป ก็ยังมีเสียง 3 ต่อ 2 หรือ 3 ต่อ 1 ในกรณีป่วยตาย ก็ยังถอนกฎหมายมาพิจารณาสองสภาร่วมกันได้ และอาศัย สว. 250 เสียงกฎหมายทุกฉบับก็จะผ่านไปได้

ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินประจำปี ซึ่งรัฐบาลต้องนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ผ่านไปให้ด้วยเสียง ส.ส. อย่างน้อย 250 เสียงจาก 500 เสียง ในแต่ละปี และหากไม่ผ่านการพิจารณา รัฐบาลต้องลาออก ในบางครั้งก็เกิดการชิงยุบสภาก่อนเกิดการแพ้โหวต พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน หากคุมเสียง ส.ส. ไม่ได้ สมมุติว่ามีการนำ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน เข้าไปพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เห็นอาการไม่ดี ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภา (คือ 100 ส.ส. หรือ 50 ส.ว. อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ยากอะไร เพราะ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลหรือ ส.ว. จำนวนเท่านี้น่าจะหาได้ง่ายมาก) ก็ร่วมกันลงชื่อให้ นำ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน เข้ามาพิจารณาตามบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญได้ โดยให้เหตุผลว่า

การปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังที่ได้ระบุไว้ในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยที่การปฏิรูปประเทศต้องอาศัยงบประมาณ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญโดยที่มีงบประมาณเพียงพอและต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรให้ถอน พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรออกมาใช้มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น แล้วนำเสนอให้คณะกรรมการร่วมตามมาตรา 270 พิจารณา

เนื่องจากประเด็นการปฏิรูปประเทศกว้างใหญ่ไพศาลและครอบคลุมทุกด้านของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นการอ้างเหตุผลเพื่อใช้มาตรา 270 เพื่อพิจารณากฎหมายทุกฉบับก็ย่อมทำได้ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ

ดังนั้นมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทำหน้าที่ เครื่องตัดไฟฟ้า ตัดก่อนตาย เตือนก่อนรัฐบาลวายวอด และรัฐบาลจะไม่มีทางแพ้โหวตกฎหมายใด ๆ ในสภา และอยู่ได้ยาวนานโดยไม่มีทางเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด โดยมีวุฒิสภาเป็นตัวช่วยสำคัญ

การตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด แพ้เสียงโหวตในสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่กระเพื่อมเพราะสัตว์การเมืองจะออกฤทธิ์มากเกินไป

แต่ต้องขอให้สติผู้มีอำนาจหน้าที่ในบ้านเมืองว่า แม้เครื่องตัดไฟฟ้าจะมีประโยชน์มากเพียงใดก็ตาม แต่หากนำมาตรา 270 มาใช้บ่อย ๆ จะทำให้ขาดความชอบธรรม และเมื่อขาดความชอบธรรมมากขึ้นไปเท่าใด ๆ ก็ตาม รัฐบาลและผู้มีอำนาจก็จะพังทลายและอยู่ต่อไปในตำแหน่งไม่ได้

ดังนั้นจงทำทุกสิ่งด้วยความชอบธรรม แล้วความชอบธรรมจะเป็นเกราะคุ้มครองป้องกัน ไม่เช่นนั้นมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะกลายเป็นเครื่องประหารรัฐบาลและผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่ลุแก่อำนาจและใช้อำนาจโดยขาดความชอบธรรม แม้จะไม่ผิดกฎหมายเลยก็ตาม โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!!!



กำลังโหลดความคิดเห็น