xs
xsm
sm
md
lg

"ลุงตู่"ไม่ได้มาเล่นๆ จ่อคุมพปชร.ลุยเลือกตั้ง !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ในตอนแรกที่ได้ยินข่าวว่า "บิ๊กตู่" หรือ"ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ค่อยเชื่อถือนัก อาจจะมีเจตนาปล่อยข่าว เพื่อหยั่งท่าทีบางอย่าง แต่เมื่อได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามถึงเรื่องนี้ว่า "กำลังให้ที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาดู ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ขอให้ใจเย็นๆ พร้อมทั้งกล่าวว่า ที่ผ่านมา 5 ปี ก็ผ่านงานการเมือง งานบริหารราชการแผ่นดิน รับฟังความเห็นทุกภาคส่วน
ส่วนที่มองว่าผมไม่สันทัดทางการเมืองนั้น ผมก็ทำมาแล้ว 5 ปี อาจจะมีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ผมก็ยอมรับ แต่ผมก็ต้องดำเนินการต่อไป อยากเรียนว่าไม่มีใครเก่งตั้งแต่เกิด ทุกอย่างต้องอาศัยการเรียนรู้ การเอาใจใส่ "
คำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องการจะมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในอนาคตไม่นานนี้ รวมไปถึงยืนยันถึงประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
น่าสนใจก็คือ ข่าวเรื่องการมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะตัวเขาเป็นคนพูดเอง ในลักษณะที่ว่ากำลังปรึกษาฝ่ายกฎหมายพิจารณาถึงความเหมาะสม ความหมายก็คือ กำลังรอช่วงจังหวะเวลาเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานข่าวที่ว่า เขากำลังเขียนใบสมัคร เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐในเร็วๆ นี้
**เอาเป็นว่านาทีนี้ถือว่าเป็นไปได้สูงมากทีเดียว ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต้องมาวิเคราะห์กันถึงเหตุและผลว่า ทำไมเขาต้องเดินในทางแบบนี้ คำตอบก็เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ แตกต่างจากนายทหารคนอื่น หรือ "ผู้นำกองทัพคนอื่น" โดยเฉพาะผู้นำที่เคยรัฐประหาร หรือ"เผด็จการ" คนอื่นๆในอดีต เพราะที่ผ่านมาเขาได้สรุปบทเรียน และที่สำคัญมีการศึกษาและทำการบ้านมาอย่างดี
อย่างที่เคยรับรู้กันมานานแล้วว่า บรรดานายทหารที่ ทักษิณ ชินวัตร หวั่นไหว และจับตามองมาโดยตลอดก็คือ "บิ๊กตู่" คนนี้แหละ เพราะเคยเห็นกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนเตรียมทหาร โดย ทักษิณ เป็นรุ่นพี่ ตท.10 ขณะที่ บิ๊กตู่ เป็น ตท.12 ห่างกันแค่ 2 รุ่นเท่านั้น ถือว่าไม่ไกลนัก แม้ว่าต่อมา ทักษิณ จะแยกไปทางสายธุรกิจการเมือง จนตั้งพรรคไทยรักไทย และก้าวขึ้นสู้ตำแหน่งนายกฯ อย่างที่รู้กัน ขณะที่ รายหลังยังเติบโตในกองทัพบก และในที่สุดก็มาที่เก้าอี้นายกฯ เช่นเดียวกัน
**แต่ที่น่าสนใจก็คือ ผ่านมา 5 ปีแล้ว ในสถานะ"ผู้นำเผด็จการ" จากผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต่อเนื่องมาในสถานการณ์ใหม่ ที่ได้รับเสียงโหวตจากสมาชิกรัฐสภาให้เป็นนายกฯ สมัยที่สอง เขาก็ยังได้รับความนิยม แม้ว่าจะตกลงไปบ้าง แต่ก็ยังถือว่ามีแรงหนุนอย่างแน่นหนาไม่น้อยก็แล้ว
และอาจเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผลการเลือกตั้ง แล้วทำให้พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร "ไม่ชนะขาด" เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุจะเป็นเพราะฝ่าย ทักษิณ วางยุทธศาสตร์พลาดเอง ที่แตกแบงก์ย่อยกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรผลการเลือกตั้งที่ออกมาทำให้มองอีกมุมหนึ่งคือ "การเมืองกลับเข้าสู่จุดสมดุล" มีการถ่วงดุลกันอีกครั้งหนึ่ง และเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ที่พรรคในเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความแตกต่างจากนายทหารคนอื่น นั่นคือ มีลูกล่อลูกชนทางการเมือง ไม่ต่างจากพวกนักการเมืองอาชีพ และนับวันหากสังเกตให้ดี จะมีการเผยบทบาทอย่างเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับ "สถานการณ์ใหม่" อยู่ตลอดเวลา
เหมือนกับที่เห็นความเคลื่อนไหวในตอนนี้ เมื่อเข้าสู่"โหมดประชาธิปไตย" เขาก็ต้องปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ใหม่ เตรียมนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงในวันข้างหน้า เพื่อนำทัพในการเลือกตั้ง แน่นอนว่าการเป็นหัวหน้าพรรคอาจเป็นการปิดจุดอ่อนที่ถูกกล่าวหาค่อนขอดในช่วงที่ผ่านมา และว่าหากบทบาทใหม่ที่ว่านี้มาถึงวันใด นั่นก็ย่อมหมายความว่าเขาพร้อมอย่างเต็มที่แล้วในทางการเมืองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงเครือข่ายต่างๆในมือที่วางเอาไว้อย่างพร้อมสรรพ
เพียงแต่ว่า ด่านสุดท้ายขึ้นอยู่กับประชาชนจะเอาด้วยหรือไม่ ซึ่งผลงานและบทบาทของเขาทั้งอดีต และปัจจุบัน รวมไปถึงอนาคตเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น