"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
สุดสัปดาห์นี้ ( วันที่ 22-23 มิถุนายน ) ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผุ้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่โรงแรม ดิแอทธนี่ ถนนวิทยุ มีผู้นำประเทศสมาชิก 9 ประเทศ เดินทางมาร่วมประชุมครบ
ทุกปี ประเทศสมาชิก 10 ประเทศจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานอาเซียน โดยเรียงตามลำดับตัวอักษร ปีนี้ถึงคิว ประเทศไทย ปีก่อนหน้านั้น คือ สิงคโปร์ ถัดจากไทย ในปีหน้า ก็จะเป็นเวียดนาม
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุดสิบปีที่แล้ว สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี สร้างความอับอายขายหน้าไปทั่วโลก เพราะแกนนำ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นำโดยนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง กับพวก บุกเข้าในโรงแรมรอยัลคลิฟ พัทยา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม ขัดขวางการประชุม ผู้นำชาติสมาชิกถูกพาตัวหนีตายออกจากโรงแรมทางเรือ และทางเฮลิคอปเตอร์
นายอริสมันต์ กับพวกรวม 13 คน ที่ก่อเหตุในครั้งนั้น ถูกศาลชั้นต้น และศาลอาญา ตัดสินจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ขณะนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจาราณาในศาลฎีกา
ประเทศไทย ถือว่า เป็น” บ้านเกิด” ของอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เว็บไซต์ กระทรวงดารต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า
เมื่อเริ่มก่อตั้งอาเซียน ในปี 2510 สภาพแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความตึงเครียด อันเป็นผลมาจากสงครามเย็น ซึ่งมีความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ระหว่างประเทศที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยกับประเทศที่ยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งด้านดินแดนระหว่างประเทศในภูมิภาค เช่น ความขัดแย้งระหว่าง มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนซาบาห์และซาราวัก รวมทั้งการที่สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซีย ทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาค
ดร. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้นได้มีบทบาทสำคัญในการเดินทางไปเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ และได้เชิญให้รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาหารือร่วมกันที่แหลมแท่น จ. ชลบุรี อันนำมาสู่การลงนามในปฏิญญากรุงเทพ เพื่อก่อตั้งอาเซียน ที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ไทยจึงถือเป็นทั้งประเทศผู้ร่วมก่อตั้งและเป็น ‘บ้านเกิด’ ของอาเซียน
อาเซียนได้ขยายสมาชิกภาพขึ้นมาเป็นลำดับ โดยบรูไน ได้เข้าเป็นสมาชิกเป็นประเทศที่ 6 เมื่อปี 2527 และภายหลังเมื่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหลืออีก 4 ประเทศ คือ เวียดนาม สปป. ลาว เมียนมา และกัมพูชา ได้ทยอยกันเข้าเป็นสมาชิกจนครบ 10 ประเทศ เมื่อปี 2542
ปฏิญญากรุงเทพ ที่ก่อตั้งอาเซียน เมื่อปี 2510 ได้ระบุวิสัยทัศน์และวางรากฐานสำหรับการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียนตั้งแต่แรกเริ่ม แต่โดยที่สถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากอยู่ในยุคของสงครามเย็น แนวคิดเรื่องบูรณาการในภูมิภาคจึงไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง แต่ต่อมาเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ประเทศในภูมิภาคจึงสามารถหันหน้าเข้าหากันและร่วมมือกันมากขึ้น ส่งผลให้แนวคิดที่จะมีการรวมตัวการอย่างเหนียวแน่นได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจกล่าวได้ว่า ข้อริเริ่มของอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียนโดยเริ่มจากเสาเศรษฐกิจ
ต่อมา ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี เมื่อปี 2546 ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสร้าง ประชาคมอาเซียน โดยมีการจัดทำแผนงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นำมาสู่การจัดทำกฎบัตรอาเซียน เพื่อวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรของอาเซียน ทำให้อาซียนเป็นองค์กรที่มีกฎกติกาในการทำงาน มีประสิทธิภาพ และเป็นองค์กรเพื่อประชาชนอย่างแท้จริ ง ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามกฎบัตรอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 และกฎบัตรฯ ได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นช่วงวลาเดียวกับที่ประเทศไทยได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน
สำหรับแนวคิดหลักสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 คือ Advancing Partnership for Sustainability หรือ"ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ประการ ดังนี้
1. ‘การก้าวไกล’ (Advancing) โดยให้อาเซียนมองและก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด และความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับ MSMEs เพื่อก้าวไปสู่ดิจิทัลอาเซียน (Digital ASEAN)
2. ‘การร่วมมือ ร่วมใจ’ (Partnership) ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลกโดยการเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนบวกหนึ่ง และโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ โดยคำนึงถึงความสมดุลและประโยชน์ต่อประชาชน และเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนี้ ตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับอาเซียนคือการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ การเชื่อมโยงประชาชน โดยเฉพาะในบริบทของปีวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. 2019 รวมถึงการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อก้าวไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN)
3. ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) กล่าวคือ การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืน ความยั่งยืนด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและมีนวัตกรรมจะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้