“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ความร้อนแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เลือก พรรคอนาคตใหม่ นั้น ไม่รู้ว่าลดลงหรือไม่ หลังจุดยืนของพรรคการเมืองนี้ชัดเจนว่ามีความมุ่งหมายที่จะรื้อถอนโครงสร้างของสังคมไทยที่พวกเขามองว่าล้าหลังคร่ำครึให้หมดไปจากสังคมไทย
แต่เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นจะทำอย่างไร เพราะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคที่เป็นกระแสฟีเวอร์ของคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าหลายคนที่มองว่านี่น่าจะมาเป็นผู้ปกครองบริหารบ้านเมืองของเรา มักจะนำเสนอในเชิงนามธรรม เช่น เราต้องเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เราไม่สามารถทำงานในแบบเดียวกันได้ บางงานมีรายต่ำบางงานมีรายได้สูง เราไม่มีทางที่จะมีความสามารถเท่ากัน เราไม่สามารถมีการศึกษาที่เท่าเทียมกัน และความไม่เท่าเทียมโดยธรรมชาติกับสภาพแวดล้อม
ในวงการธุรกิจที่ธนาธรเติบโตมาก็ไม่เคยมีความเท่าเทียม แม้แต่ในองค์กรที่ธนาธรบริหารก็ไม่มีความเสมอภาพเท่าเทียม และใช่ว่าทุกคนในองค์กรต้องได้ในสิ่งที่ตัวเองเรียกร้องเสมอ ถ้าคนงานเรียกร้องมากก็เลิกจ้างปิดบริษัทเพื่อให้ไม่มีทางเลือกซึ่งธนาธรเองเคยใช้วิธีนี้มาแล้ว
ธนาธรบอกว่า เราต้องถอนทหารออกจากสามจังหวัดภาคใต้ มันเป็นคำพูดที่ได้ใจคนจำนวนหนึ่ง แต่ถามว่า เราได้คิดอย่างซับซ้อนรอบด้านของปัญหาไหมหรือเป็นไอเดียที่ปิ๊งออกมา แล้วจะเกิดความสงบได้เพราะแนวทางนี้จริงหรือ
หลายสิ่งจึงเป็นวาทกรรมที่แฝงแรงจูงใจด้วยทักษะการตลาดของทีมงาน แต่มันฉุดความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่เขาเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เขาเห็นและเติบโตมาในทางการเมืองในระยะ10กว่าปีมานี้ ประจวบกับช่วงวัยของคนหนุ่มสาวที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงความแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ เพื่อสร้างทางออกแล้วก้าวเดินไปในทางที่ตัวเองเชื่อมั่น
ผมจึงไม่แปลกใจกับท่าทีเช่นนี้ของคนรุ่นใหม่ในการตอบรับพรรคอนาคตใหม่ เพราะทุกชีวิตที่ผ่านวัยนี้ล้วนแล้วแต่ผ่านความฉาบฉวยที่มีสีสันมาแล้วทั้งนั้น ห่วงแต่คนรุ่นเก่าที่ผ่านโลกมามากแต่ยังเคลิ้มตามคำพูดของคนที่ประกาศจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยวาทกรรมและลีลาของนักแสดง
แน่นอนว่าพรรคอนาคตใหม่ประกาศภายในพรรคจะเลิกวัฒนธรรมแบบเครือญาติเลิกเรียกพี่น้องลุงป้าน้าอา โดยจะเริ่มจากในพรรคก่อน ธนาธรบอกว่าไม่ต้องเข้าวัดมัสยิดและโบสถ์ เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในใจเราเอง หาไม่รู้ว่าวัดมัสยิดโบสถ์นั้นมันเป็นรากเหง้าของมนุษย์ ที่สะท้อนว่าเรามีอดีตที่สืบสายโยงใยมาและเติบโตมาในวัฒนธรรมอย่างไร
หรือสร้างความฝันแบบแฟนตาซีเรื่องไฮเปอร์ลูป เพื่อให้ดูเท่าทันโลกและทันยุคสมัย
วาทกรรมที่ปรุงแต่งทำให้เชื่อว่า พวกเขาจะสามารถนำพาสังคมผ่านกระแสโลกาภิวัตน์ กระแส disruptive technology การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ โดยสร้างกระแสต่อต้านความเชื่อแบบเดิมๆ anti-establishment ถอดทิ้งอดีตรากเหง้าจารีตประเพณีของสังคมไว้ข้างหลัง
พวกเขาปลุกกระแสเหวี่ยงข้างแบบสุดขั้วเพื่อให้สังคมปะทะกัน เพราะต่างปกป้องรักษาความเชื่อและอุดมการณ์ของแต่ละฝ่าย เขาสร้างวาทกรรมของความขัดแย้งในระยะสิบกว่าปีมานี้ว่าเป็น “ทศวรรษที่สูญเปล่า” ซึ่งน่าสนใจว่าแล้วมันจะยุติความขัดแย้งโดยการประกาศรื้อถอนโครงสร้างของสังคมอย่างถอนรากถอนโคนและลบล้างความเชื่อของคนในสังคมที่มีความเห็นต่างจากวาทกรรมของเขาได้อย่างไร
หรือเขานั่นแหละที่จะสร้างความขัดแย้งครั้งใหญ่โดยมีความรุนแรงและมิคสัญญีรออยู่เบื้องหน้า
ใช่ไหมว่า คนเรามีอนาคตใหม่ที่ไร้อดีตเก่าไม่ได้ ทุกการเคลื่อนของเวลามันสะสมอดีตไว้เบื้องหลังเสมอ
แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ คนเหล่านี้คือ คนรุ่นเดียวกับเขา มีความเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการ เขาเห็นนักการเมืองเก่าแล้วเอือมระอา เขาตกใจที่คนอายุ 60 กว่ากำลังวางแผนจะเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้เขาเดินตาม ทั้งที่โลกหมุนเร็วจนยากจะคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปในห้วงเวลาได้
แล้วการเมืองที่กำลังย่ำเดินอยู่ตอนนี้ก็กำลังเดินอยู่บนรอยเท้าเดิมของการเมืองเก่า ยังทำแบบเดิมคิดแบบเดิม แม้หัวหน้ารัฐบาลคนใหม่จะเคยเดียดฉันท์นักการเมืองอย่างรุนแรง แต่ตัวเองกำลังทำแบบเดียวกันนักการเมืองที่เคยพูดถึง
สภาพการเมืองทำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงการต่อรองผลประโยชน์กันในหมู่ผู้มีอำนาจ เลือกคนที่มีประวัติด่างพร้อยมาทำงาน ไม่เอาคนมีความสามารถมาบริหารประเทศ แต่กลายเป็นการต่อรองด้วยระบบผลประโยชน์แบบมาเฟียในการตั้งรัฐบาล ราวกับว่าประเทศนี้เอาใครมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้
พี่เป็นไม่ได้เอาน้องมาเป็น พ่อเป็นไม่ได้เอาเมียเอาลูกมาเป็นแทน หรือทำงานเป็นไหมไม่รู้แต่ให้เพราะเป็นส.ส.มาหลายสมัย หรือนำส.ส.ชนะเลือกตั้งมาได้หลายคน
มันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในอำนาจสูงสุดของประเทศที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองและนำพาประเทศไปบนกระแสโลกที่มีความแข่งขันรุนแรงที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถอย่างเอกอุ แต่กลับใช้ “โควตาก๊วน” มากำหนดแทนความสามารถและความเหมาะสม
การอ้างว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่ประชาชนเลือกมา แต่เขาเลือกคนนั้นมาเป็นผู้แทนไม่ได้หมายความว่าเขาเลือกคนในครอบครัวนั้นใครก็ได้มาเป็นรัฐมนตรี เขาเลือกผู้แทนคนนั้นเพราะระบบอุปถัมภ์ความสามารถในการเข้าถึงเขาและสามารถดูแลผลประโยชน์ให้เขาในท้องถิ่นก็ทำหน้าที่ผู้แทนไปสิ
แต่การเลือกตำแหน่งผู้บริหารประเทศกระทรวงต่างๆ นั้นมันต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถไม่ใช่หรือ
แล้วระบบเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่การคัดคนเก่งคนดี แต่เป็นการเลือกคนที่มีผู้สนับสนุนมากกว่าเท่านั้น ส่วนความเก่งและดีนั้นเป็นโชคชะตา ถ้าคนที่ได้รับเลือกเป็นคนเก่งคนดีด้วยก็โชคดีไป ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก แต่เราก็เห็นว่าความสามารถของเธอนั้นไม่ได้มากตามเสียงที่สนับสนุน กลายเป็นชะตากรรมที่ประเทศต้องรับไป
ซึ่งสะท้อนว่าความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจาความรู้และความสามารถที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ
การเมืองแบบการต่อรองแย่งชิงผลประโยชน์นี้แหละที่ทำให้คนรุ่นใหม่เขาเอือมระอา และหลงไปกับความเชื่อฉาบสีสันว่าจะนำพาพวกเขาไปในอนาคตที่ดีกว่า ด้วยวิธีที่ไม่คำนึงว่าแนวทางแบบนั้นมันจะทำความแตกแยกใหญ่หลวงขึ้นในสังคม
สิ่งที่เห็นชัดเจนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ คนที่เขาเลือกอนาคตใหม่นั้นเขาไม่เอาทหาร ไม่ชอบการปกครองแบบเผด็จการ เขามองถึงการเอารัดเอาเปรียบ แม้จะเลือกตั้งกันใหม่ใต้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่มันชัดเจนว่าเป็นการสร้างกฎกติกาขึ้นมาเพื่อการสืบทอดอำนาจด้วยการใส่เสื้อคลุมประชาธิปไตยเท่านั้นเอง
แน่นอนว่า ชัยชนะของอนาคตใหม่บางส่วนนั้นผ่อนถ่ายมาจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติและทำให้คะแนนเหล่านั้นถูกเทมาให้ เลือกตั้งครั้งหน้าหากพรรคเพื่อไทยส่งครบทุกเขตถึงจะวัดความนิยมของอนาคตใหม่อย่างแท้จริง แต่ผลจากการเลือกตั้งการเลือกข้างมันสะท้อนชัดว่า ในเชิงปริมาณคนกลุ่มเดิมในสังคมยังยึดมั่นฝักฝ่ายและเป็นสองขั้วกันอย่างชัดเจน
สิ่งที่เกิดขึ้นมันจึงมีแต่จะเพิ่มความขัดแย้งที่ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าบางคนออกจากมนตร์และมายาของการตลาดการเมืองของอนาคตใหม่ได้
แน่นอนล่ะเรายังไม่เห็นความสามารถของเขาและทีมงาน พวกเขาอาจจะนำพาประเทศได้ดีกว่า ด้วยวิธีที่เท่าทันโลกทันยุคในฐานะคนรุ่นใหม่ที่จะนำพาประเทศในยุคสมัยของตัวเอง ถ้าแค่นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่พวกเขานำเสนอนั้นมันไม่ใช่แค่การเข้ามาบริหารประเทศ แต่พฤติกรรมนั้นกลับจะนำพาไปสู่ความขัดแย้ง เพราะเขาต้องการโค่นล้มระบอบและทำลายความเชื่อและศรัทธาของคนในสังคมส่วนใหญ่
เชื่อว่าผู้มีอำนาจหลายคนมองเห็นปัญหาและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่น่าเสียใจ กลับไม่ได้แก้ไขสิ่งที่นักการเมืองเก่าทำให้สังคมเบื่อหน่ายเอือมระอา และคิดเพียงว่าอำนาจนั้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่จะแบ่งปันกัน โดยไม่สนใจว่าคนที่เข้ามาทำงานบริหารประเทศจะนำพาสังคมในโลกยุคนี้ได้หรือไม่
กระบวนการยุติธรรมองค์กรอิสระต่างๆ ที่เป็นองค์กรของรัฐไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ความยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมกันนั้นกลายเป็นเชื้อไฟที่ทำให้อีกฝ่ายใช้จุดไฟขึ้นมาในสังคมได้ง่าย และเชื่อว่าผู้มีอำนาจทุกคนรู้ว่านี่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งหลักที่ถูกใช้เป็นพาหะนำพาสังคมให้มีความเชื่อแบ่งเป็นสองขั้วทุกวันนี้
ดังนั้น ไม่มีทางเลยที่ความสงบจะเกิดขึ้น มีแต่ความสงบจะจบที่ลุงตู่ และความวุ่นวายความขัดแย้งจะตามมาจนเกิดการปะทะกันของความสองยุคสองความเชื่อที่ต่างเชื่อว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก เป็นการปะทะที่ลงลึกไปถึงจิตวิญญาณของคนในสังคม ขุดล้างทำลายรากเหง้าจารีตประเพณีแบบเดิมๆให้หมดไป ด้วยข้ออ้างเสรีภาพและความเท่าเทียมกันซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามในจินตนาการและความใฝ่ฝันของมนุษย์
แม้วันนี้ ผมยังคิดว่าวันนี้เรายังมีสังคมส่วนใหญ่ที่จะต้านทานความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากความชวนเชื่อนั้นได้ แต่อ่อนล้าเต็มทน ในระยะยาวเรามองเห็นภยันตรายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงและยากจะรับมืออยู่เบื้องหน้า
เพราะการเมืองที่เราเห็นซึ่งผ่านบทเรียนมาแล้วกลับไม่เรียนรู้จดจำความเลวร้ายที่พวกตัวเองได้ร่วมกันก่อยังมีพฤติกรรมที่น่าเอือมระอาแบบเดิม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เขาเชื่อว่า อนาคตที่รออยู่ข้างหน้านั้นจะดีกว่าแม้จะไม่รู้เลยว่า จะนำพาพวกเขาไปหนทางไหน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan