xs
xsm
sm
md
lg

ดอกไม้พิษที่ซ่อนอยู่ใน“ช่อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


เรื่องของ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เป็นเรื่องที่โจษจันกันถึงพฤติกรรมของในอดีต ในสมัยที่เธอยังไม่กระโจนเข้าสู่วงการการเมืองตั้งแต่จบการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิตผ่านการหล่อหลอมของนักวิชาการในยุคการเลือกข้างแบ่งขั้ว มาจนถึงทำงานในสถานีโทรทัศน์ของพานทองแท้ ชินวัตร

ถ้าเรามองแบบคนที่พอจะเข้าใจกฎหมายอยู่บ้าง ก็น่าจะตั้งคำถามว่า การแสดงออกของเธอนั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ แน่นอนการแสดงออกของเธอเป็นสิทธิเสรีภาพ ความเชื่อต่ออุดมการณ์การเมืองซึ่งเป็นสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน

แต่ในขอบเขตของรัฐแต่ละรัฐนั้นมีกฎหมายเป็นตัวกำกับ กฎหมายเป็นข้อตกลงร่วมกันของสังคมที่จะให้รัฐกำหนดระบอบการปกครองสร้างมาตรการขึ้นมาเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

ผมออกจะแปลกใจที่มีคุณปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโสออกมาพูดปกป้อง “ช่อ” ทำนองว่าทำไมต้องไปขุดคุ้ยอดีตเมื่อ 9 ปีที่แล้วของเธอมาโจมตี พร้อมทั้งยกอคติ 4 ประการ คือ 1. ฉันทาคติ 2.โทสาคติ 3. ภยาคติ 4. โมหาคติ มาตั้งคำถามว่า ปกป้อง “พ่อ” หรือโทสาคติ คือ “โกรธ” เพราะเป็นคู่อาฆาต คู่ศัตรู เคียดแค้นแล้วจ้องจับผิดเพื่อเล่นงานกัน

คล้ายกับปรเมศวร์ไม่เข้าใจว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้นประชาชนมีสิทธิ์ตรวจสอบนักการเมืองที่อาสาเข้ามาทำงานบริหารประเทศ เราต้องรู้ว่าคนที่จะอาสามานำทางเรานั้นมีพฤติกรรมอย่างไร มีทัศนคติอย่างไร ในขณะเดียวกันในทางกฎหมายจะต้องเป็นผู้ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญมาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

จะมีความเชื่ออย่างอื่น จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องอยู่ใต้บรรทัดฐานทางกฎหมายซึ่งเป็นกติกาของสังคม

แล้วผมสงสัยนะครับว่า การออกมาพูดถึงคดีความใดนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องของการดำรงสถานะอัยการหรือไม่ ผมถามสำนักงานอัยการสูงสุดนะครับว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรกระทำได้ใช่หรือไม่ แม้การแสดงออกจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ย่อมจะมี “ฉันทาคติ”อย่างใดอย่างหนึ่งได้ รักชอบนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไหนได้ เพราะต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเหมือนกับบุคคลอื่น

แต่อย่าลืมว่าหมวกที่สวมอยู่คืออัยการที่ต้องวางตัวให้สังคมเชื่อถือว่าจะสามารถให้ความยุติธรรมได้

ผมเห็นนะครับว่า อัยการบางท่านก็ออกมาเขียนบทความเขียนคอลัมน์ มีความเห็นในข้อกฎหมาย หรืออย่างที่อัยการปรเมศวร์จัดวิทยุเพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายกับประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมคิดว่าควรจะต้องระมัดระวังในความเห็นแบบเจาะจงที่อาจจะเป็นคดีในทางกฎหมายไม่ใช่หรือ แม้อัยการปรเมศวร์มาอ้างทีหลังว่าไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แต่ก็ได้แสดงความเห็นที่เป็น “ฉันทาคติ” ออกมาแล้ว

เรื่องของ “ช่อ” นั้น ผมย้ำว่าทุกคนมีเสรีภาพที่จะเชื่อในอุดมการณ์การเมืองหรือระบอบการเมืองใด แต่เมื่ออยู่ในประเทศไหนก็ต้องเคารพกฎเกณฑ์ของประเทศนั้น ความเชื่อและอุดมการณ์การเมืองที่ขัดต่อประเทศนั้นย่อมจะเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายอย่างแน่นอน เว้นเสียแต่ว่า จะลุกขึ้นมาช่วงชิงอำนาจรัฐได้แล้วเปลี่ยนเป็นระบอบที่ตัวเองต้องการ แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็ต้องแลกกับการที่ผู้กุมอำนาจรัฐและประชาชนที่มีความเชื่อมั่นในระบอบที่ตัวเองเป็นอยู่ลุกขึ้นมาปกป้องตรวจสอบและตอบโต้อย่างแน่นอน

อย่าลืมนะครับ “ช่อ” เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ที่เรียนรู้ระบบการปกครอง ระบอบการปกครอง ทฤษฎีการเมืองต่างๆ มาอย่างเข้มข้น ดังนั้นการแสดงออกของเธอสู่สังคมโซเชียลซึ่งเป็นสังคมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนี้และของโลกนั้น ย่อมไม่ใช่การ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” การแสดงออกของเธอเป็น “เจตนา” ที่ชัดเจนว่าประสงค์เป้าหมายใด

และการแสดงออกของเธอแต่ละครั้งนั้นชัดเจนว่า เธอมีความคิดต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร หรือพูดกันตรงๆ เลยว่า เธอนั้นมีความศรัทธาต่อ “ระบอบประชาธิปไตย” เพียงสั้นๆ แค่นั้นเอง

ผมไม่แปลกใจนะครับ เมื่อมีคนไปถามเรื่องนี้กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่า การกระทำของ “ช่อ” อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เพราะมีคนไปร้องเรียนไว้แล้ว ธนาธรตอบว่า เรื่องนี้ไม่กระทบต่อการทำงานของพรรค ทุกคนยังมีกำลังใจเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพรรคจะเดินหน้าต่อไป และขอร้องทุกฝ่ายอย่านำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการเมือง

แต่คำถามว่ามันใช่เหรอ “อย่านำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการเมือง” ในความเป็นปัจเจกนั้นเขาตรวจสอบ “ช่อ” เพราะอาจจะเข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย เธอแสดงความศรัทธาในระบอบแบบอื่นมากกว่าระบอบของประเทศนี้ ซึ่งเป็นความมุ่งหวังทางการเมือง

แล้วเมื่อเธอเป็นนักการเมืองในพรรคอนาคตใหม่และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนที่เข้ามาเป็นกลไกหนึ่งของอำนาจ 3 ฝ่ายในระบอบการปกครองของเรา ก็ต้องปล่อยให้เธอกระทำไปแล้วถ้าไปดำเนินการใดๆ กับเธอกลายเป็นเรื่องการนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างที่ธนาธรอ้างเช่นนั้นหรือ

หรือธนาธรพูดออกมาจาก “ฉันทาคติ” เช่นเดียวกับอัยการปรเมศวร์ คือ ความลำเอียงเพราะรักใคร่ชอบใจ เพราะมีความคิดที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับ “ช่อ” ที่สังคมตั้งคำถาม

“ธนาธร” เองก็มีคำพูดที่หลายคนสงสัยในบทสัมภาษณ์หนังสือชื่อ Portrait ธนาธร ที่มีนัยกระทบขึ้นไปสู่สถาบัน ธนาธรเป็นนายทุนของนิตยสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งชัดเจนว่า มีบทบาทในการวิจารณ์สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ใช้ความจัดเจนความสามารถในการร้อยเรียงที่ฉวัดเฉวียนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายและซ่อนนัยไว้ในฐานะงานวิชาการ

แน่นอนว่า อุดมการณ์ทางการเมืองและเป้าหมายของนิตยสารฉบับนี้นั้นผู้ดำเนินการย่อมรู้ดีว่ามีความมุ่งหวังอย่างไร

ผมย้ำอีกครั้งว่าความเชื่อความคิดเป็นสิ่งที่ไม่ผิดว่าใครจะศรัทธาอุดมการณ์การเมืองแบบไหน แต่แม้คุณจะเล่นเกมซ่อนหาหรือใช้สัญลักษณ์ในการหลีกเลี่ยงอย่างไรก็มีคนอีกฝ่ายที่ฉลาดพอจะตีความความหมายของคุณออกมาได้

ส่วนปิยบุตร แสงกนกกุล นั้นไม่ต้องพูดเลยว่า มีความคิดต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร ทัศนะของเขานั้นแสดงออกแจ่มชัดถึงเป้าหมายในการลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ที่แสดงออกต่อสาธารณะเสมอมา

วันนี้ทั้งสามคนในหนึ่ง “ช่อ” ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์ เข้าสู่การเมืองในระบบที่เปิดเผยซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องยอมรับและอยู่ใต้ระบบกติกาที่ขีดเส้นให้เดินตามกรอบที่เป็นกฎหมายของประเทศ ถ้าล้ำเส้นหรือล้ำกรอบก็ต้องถูกตอบโต้และใช้บรรทัดฐานของกฎหมายตามหลักนิติรัฐที่ตัวเองเรียกร้อง

แน่นอนธนาธรสามารถสร้างความเชื่อและความศรัทธาต่อคนจำนวนหนึ่งได้ แม้ความเห็นของธนาธรเองล้วนแล้วแต่เป็นวาทกรรมที่ไม่เคยสะท้อนวิธีการที่จะนำพาสังคมอย่างเด่นชัดในทางปฏิบัติว่า จะลงมือทำให้เกิดผลอย่างที่พูดอย่างไร แต่กลับสร้างความชวนเชื่อกับคนที่เบื่อหน่ายการเมืองแบบเก่าได้อย่างน่าประหลาดใจ ในลีลาที่มีจังหวะจะโคนแบบมีเป้าหมายซ่อนเร้นผ่านคำพูดที่ประดิดประดอยมา

ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์ อาจเป็น “ช่อ” ที่มัดรวมกันเพื่อแสดงพลังที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่เป้าหมายของตัวเอง และมีสิทธิ์จะมุ่งมั่นไปสู่อุดมการณ์ที่ตัวเองเชื่อและศรัทธา

แต่อย่าโอดครวญเมื่ออำนาจรัฐและพลังในสังคมอื่นต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบที่เขาเชื่อมั่นและศรัทธาเช่นเดียวกัน

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น