xs
xsm
sm
md
lg

ผลประโยชน์ : เหตุทำให้อุดมการณ์เปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในที่สุด ผลการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่ต้องการปิดทางมิให้ธุรกิจการเมืองเข้าสู่อำนาจรัฐ โดยอาศัยอำนาจเงินแล้วทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นเผด็จการทางสภา และเปิดทางให้เผด็จการเข้าสู่อำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตย เพื่อถ่วงดุลกับกลุ่มทุนการเมือง และนี่เองที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ในระบอบเผด็จการได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยมีรูปแบบที่ผิดแผกแตกต่างไปจากของประเทศในโลกตะวันตก ซึ่งคนรุ่นใหม่ได้ยึดคืนเป็นแบบอย่าง และต้องการให้ประเทศไทยเป็นเช่นนั้น และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้นักการเมืองต้องการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนว่าแก้ไขแล้วจะทำให้การเมืองไทยกลับคืนสู่ยุคที่นายทุนครอบการเมือง เฉกเช่น 10 กว่าปีที่ผ่านมา และทำให้กลายเป็นเหตุให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่วังวนอีกหรือไม่ ต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญโดยที่ไม่มีการขจัดปัจจัยซึ่งเป็นต้นเหตุให้นักธุรกิจการเมืองให้หมดไปรับรองได้ว่า การเมืองไทยจะหนีไม่พ้นวงจรแห่งการเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยซึ่งเป็นต้นเหตุดังต่อไปนี้

1. ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า ยังไม่รู้และไม่เข้าใจเนื้อหาของความเป็นประชาธิปไตย จะเห็นได้จากการเลือก ส.ส.โดยยึดผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ตนเองได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของที่นักการเมืองแจกเพื่อแลกกับคะแนนที่จะลงให้ หรือจะเป็นนโยบายประเภทลด แลก แจก แถมในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นโอกาสให้นายทุนทางการเมืองเข้าสู่อำนาจรัฐได้โดยอาศัยอำนาจเงิน

2. นักการเมืองส่วนใหญ่เข้าสู่วงการเมืองเพื่อมุ่งแสวงหาอำนาจรัฐ และใช้อำนาจที่ได้มาแสวงหาประโยชน์ จึงต้องพึ่งทุนเงินจากนายทุนทางการเมือง ดังนั้นจึงเท่ากับทำให้ระบอบประชาธิปไตยตกอยู่ภายใต้อำนาจทุน

ถ้าเหตุปัจจัย 2 ประการยังคงอยู่ ถึงแม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ ก็คงหนีไม่พ้นถูกครอบงำด้วยระบบทุน ซึ่งไม่ต่างไปจากธุรกิจการค้าที่มีการลงทุน และมีการถอนทุน ทั้งในรูปแบบของการกินตามน้ำ และทวนน้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุอ้างให้เผด็จการเข้ามาโค่นล้ม เมื่อมีประชาชนลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลที่มาจากระบบทุน

แต่การแก้ปัญหาด้วยการเปิดทางให้เผด็จการเข้ามาถ่วงดุล ดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ใช่ว่าจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคพลังประชารัฐ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่มีเสียงเกินครึ่งไปไม่กี่เสียง จึงไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควรจะเป็น และแถมมีแนวโน้มจะขาดเอกภาพในการบริหารด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้จากการเจรจาในการจัดตั้งรัฐบาล เปลี่ยนเงื่อนไขหลายครั้งหลายหน

2. ในทันทีที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือก เสียงสะท้อนจากผู้คนในสังคมแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ

2.1 ฝ่ายที่สมหวัง อันได้แก่ผู้ที่นิยมชมชอบพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเห็นว่า 5 ปีในการเป็นรัฐบาล มีผลงานเป็นที่พอใจและผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำรัฐบาลใน 5 ปีที่ผ่านมา และต้องการให้เป็นต่อ

2.2 ฝ่ายที่ผิดหวัง อันได้แก่ผู้ที่เป็นฝ่ายไม่นิยมเผด็จการ และแม้กระทั่งผู้ที่นิยมเผด็จการ แต่ไม่พอใจผลงานของรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ

2.3 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่สมหวังและผิดหวัง ตามข้อ 1 และข้อ 2 โดยอนุมานจากผู้ที่ลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ และพรรคแนวร่วมซึ่งชูพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

จำนวนผู้ที่ลงคะแนนให้ 7 พรรคการเมือง ฝ่ายค้านโดยรวมทั้งผู้ที่ลงคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์เข้าด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่า ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมีมากกว่าฝ่ายที่ต้องการให้เป็น

ด้วยเหตุนี้ ถ้าวันใดที่การทำงานของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นที่พอใจ ประกอบกับการเกิดปัญหาภายใน เนื่องจากเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จะทำให้รัฐบาลมีอันต้องจบลงก่อนครบเทอมก็เป็นไปได้ เพราะจะต้องไม่ลืมความจริงที่ว่าผลประโยชน์ไม่ลงตัว ทำให้ข้อตกลงเปลี่ยนได้ และในทางตรงกันข้าม ผลประโยชน์ที่ลงตัวทำให้อุดมการณ์เปลี่ยนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น