xs
xsm
sm
md
lg

จ่อปิดจ๊อบเตาขยะกทม.1.3หมื่นล. ชงเจ้าเก่าวิน-ปูดถูกร้องตั้งแต่ปี56

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กทม.แจง"เตาเผาขยะ1.3 หมื่นล้าน"โปร่งใสหลัง 3 กก.ไขก๊อกชิ่งถูกป.ป.ช.ปูดหลังตั้งกก.ใหม่ไม่นาน ชงเรื่อง"กรมบัญชีกลาง"เร่งปิดจ๊อบ ทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนที่ป.ป.ช.-สตง. คาดเอกชนรายเดิมได้อานิสงส์คะแนนเทคนิค 90% ฉลุยเข้าป้ายที่หนองแขม ส่วนที่อ่อนนุชได้บริษัทในเครือ เผยที่ตั้ง 2 บริษัทห้องติดกัน ที่อาคารย่านยานนาวา แถมมี“ซีอีโอ” คนเดียวกัน ปูดกทม.ร่างหนังสือประกาศผลไว้แล้ว "อัศวิน"มอบ"จักรพันธุ์"เซ็นแทน เผย"ว่าที่ผู้ชนะ" เคยถูกร้องเรียนโครงการเก่าที่หนองแขม ตั้งแต่ปี 56 พิรุธ มท.ทวงถามหลายครั้ง กทม. ก็ยังตอบไม่เคลียร์

จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากล ของโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) วงเงินงบประมาณโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 13,140 ล้านบาท ในกรณีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาเพียง 5 คนรับผิดชอบทั้ง 2 โครงการ รวมไปถึงมีการร้องไปเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้รับการร้องเรียน และเข้าตรวจสอบโครงการดังกล่าว ส่งผลให้กรรมการฯ ที่เป็นข้าราชการ 3 ใน 5 ราย ขอลาออก โดยให้เหตุผลว่า ติดภารกิจอื่นและไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการพิจารณาผลการประกวดราคา ก่อนมีการแต่งตั้งบุคคลใหม่เข้าไปแทนนั้น

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทน ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ชี้แจงว่า การพิจารณาแต่งตั้งกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ของทั้ง 2 โครงการ ทำตามระเบียบของทางราชการ ป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่กระทบต่อความเป็นกลางในการพิจารณาคุณสมบัติ และข้อเสนอของงานโครงการดังกล่าว โดยขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการรายงานผลการพิจารณา และขออนุมัติให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

แหล่งข่าวจาก กทม.เปิดเผยว่า เหตุที่ขรก.ทั้ง 3 คน ขอลาออกจากการเป็นกรรมการฯ แม้อ้างในใบลาออกว่า ไม่มีความรู้ความสามารถโดยตรงเกี่ยวกับโครงการ แต่น่าจะเลี่ยงการถูกตรวจสอบจากป.ป.ช. ที่อาจต้องถูกสอบสวนทั้งทางวินัย และอาญา เพราะมีข้อวิจารณ์ว่า โครงการส่อไปในทางไม่ถูกต้องมากกว่า และที่ผ่านมาผู้บริหารกทม. ก็กดดันเร่งรัดผลการพิจารณา เพื่อขออนุมัติโครงการอย่างหนัก ภายหลังการลาออกของกรรมการฯ 3 ราย ทางสำนักสิ่งแวดล้อมกทม. ก็ได้แต่งตั้งกรรมการใหม่มาแทน ได้แก่ 1. นายวุฒิเลิศ มณีโรจน์ ผอ.กองโรงงานกำจัดมูลฝอย ที่เป็นผู้ลงประกาศเชิญชวนประกวดราคาจ้างเหมา และเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาเกณฑ์ทีโออาร์ รวมทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา 2. นายอพอลโล่ แสงเนียม วิศวกรโยธาชำนาญการ ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม กองกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม และ 3. นายพงศ์ปรีชา สีหะรัตน์ นายช่างโยธาอาวุโส ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม กองกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม ส่วนกรรมการอีก 2 ราย ที่ไม่ได้ลาออก คือ รศ.ดร.สมรัฐ เกิดสุวรรณ และ ผศ.ดร.กรองแก้ว เลาหลิดานนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ทั้งคู่ และมีส่วนร่วมมาตั้งแต่กระบวนการศึกษาโครงการ ที่ กทม.จ้าง มจพ. เป็นที่ปรึกษา ตลอดจนการกำหนดหลักเกณฑ์ในทีโออาร์ ที่มีข้อครหาดังกล่าว

"หลังตั้งกรรมการใหม่ไม่นาน ก็ทราบว่า กทม.ได้ทำเรื่องเสนอผลคะแนนด้านเทคนิคการประกวดราคาโครงการดังกล่าว ซึ่งมีน้ำหนักคะแนน 90% ไปยังกรมบัญชีกลาง ขณะนี้รอกรมบัญชีกลางรวมคะแนนด้านราคา อีก 10% ก่อนจะประกาศรับรองผล ส่งกลับมาให้ กทม.ลงนามประกาศผู้ชนะประมูลอย่างเป็นทางการ ทั้ง 2 โครงการ ซึ่งคะแนนด้านราคาอีก 10% นั้น แทบไม่มีผลใดๆ ต่อผลการพิจารณา เนื่องจาก ทีโออาร์ให้น้ำหนักไปที่คะแนนเทคนิคถึง 90% อีกทั้งเป็นการใช้ดุลพินิจกรรมการเป็นหลักโดยกองกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมทำเรื่องอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างทั้ง 2 โครงการ รอไว้แล้ว ซึ่งผู้ว่าฯ (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.)ได้มอบให้ รองฯจัก (นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.) เป็นผู้ลงนาม ประกาศผู้ชนะประมูล" แหล่งข่าวระบุ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับผลคะแนนด้านเทคนิค ปรากฏว่า โครงการที่หนองแขมนั้น บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (บจ.ซีแอนด์จีฯ) ที่ได้คะแนนสูงที่สุด ส่วนโครงการที่ อ่อนนุช เป็น บริษัท นิวสกายเอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด (บจ.นิวสกายฯ) ที่ได้คะแนนสูงสุดที่สุด โดยบมจ.ซีแอนด์จีฯ เป็นผู้รับสัมปทานโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าโดยระบบเตาเผา ขนาด 300 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม มูลค่า 2,124 ล้านบาท เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี 59 จึงถูกมองว่าเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด จากทีโออาร์ที่กำหนดน้ำหนักคะแนนทางเทคนิค 90% ส่วน บจ.นิวสกายฯนั้น เป็นผู้ดำเนินโครงการสถานีขนถ่ายมูลฝอยย่อย รัชวิภา ของ กทม. ซึ่งก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 58 แต่ยังไม่สามารถเดินระบบได้ เนื่องจากติดปัญหาในส่วนของการกำหนดรูปแบบการกำจัดขยะ และค่าธรรมเนียม

"ทั้ง บจ.ซีแอนด์จีฯ และ บจ.นิวสกายฯ มีชื่อนายเหอ หนิง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และยังมีที่ตั้งอยู่ที่อาคารปัญจธานี ถ.นนทรี แขวงช่องนนทรี เช่นเดียวกัน โดย บจ.ซีแอนด์จีฯ ตั้งอยู่ห้องเลขที่ 127/14 ส่วนบจ.นิวสกายฯ ตั้งอยู่ห้องเลขที่ 127/15 นอกจากนี้ในรายชื่อผู้ถือหุ้น บจ.ซีแอนด์จีฯ เมื่อเดือนเม.ย.61 ปรากฏว่ามีชื่อ บจ.นิวสกายฯ ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย" รายงานข่าว ระบุ

รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า โครงการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าโดยระบบเตาเผา ขนาด 300 ตัน/วัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ที่ บจ.ซีแอนด์จีฯดำเนินการอยู่นั้น ได้ถูกนายไชยนิรันดร์ พยอมแย้ม ประธานองค์กรพิทักษ์ความเป็นธรรม ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง กระทรวงมหาดไทย ให้ตรวจสอบการดำเนินการที่เข้าข่ายไม่โปร่งใส ตั้งแต่ปี 56 โดย กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท 0101/6957 ลงวันที่ 28 ส.ค.56 ให้ กทม.ชี้แจง แต่ก็ไม่มีการตอบกลับ จึงได้มีหนังสือทวงถามมาอีก 2 ครั้ง คือ หนังสือ ที่ มท 0101/1214 ลงวันที่ 7 มี.ค.60 และหนังสือ ที่ มท 0101/202 ลงวันที่ 9 ม.ค.62 แต่จนปัจจุบันทางกทม.ก็ยังไม่ได้ตอบหรือชี้แจงใดๆ กลับไปแต่อย่างใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น