หน่วยงานเอ็นจีโอของเกาหลีใต้ได้เปิดเผยรายงานว่าในเกาหลีเหนือได้มีอย่างน้อย 318 แหล่งที่รัฐบาลได้ใช้สำหรับประหารชีวิตผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดในข้อหาต่างๆ และการประหารได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายปี มีทั้งการยิงเป้า แขวนคอ
สำนักข่าวบีบีซี ได้รายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกรวบรวมโดย “คณะทำงานยุติธรรมช่วงเปลี่ยนผ่าน” หลังจากได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนเกาหลีเหนือ 610 รายซึ่งได้หลบหนีออกนอกประเทศได้สำเร็จในช่วงเวลากว่า 4 ปี
รายงานดังกล่าวได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในหลายสิบปีการสังหารประชาชนในข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลากหลาย มีทั้งการขโมยวัว ดูรายการทีวีของเกาหลีใต้ การประหารชีวิตเกิดขึ้นหลายจุด เช่น ริมแม่น้ำ สนามหญ้า ตลาด โรงเรียน สนามกีฬา
การประหารชีวิตแต่ละครั้ง จะมีประชาชนมากกว่า 1 พันคนไปเฝ้าชม เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง รายงานดังกล่าวอยู่ภายใต้หัวเรื่อง “กำหนดชะตากรรมของคนตาย” ซึ่งได้นำออกมาเผยแพร่ในวันอังคารที่ผ่านมา พร้อมกับชี้ว่าโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องปกติ
เกาหลีเหนือเป็นประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์ มีกฎเข้มงวดสำหรับประชาชน ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ประชาชนอยู่ในภาวะไร้สิทธิ เผชิญปัญหาความอดอยาก โดยเฉพาะในชนบท รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณไปสำหรับพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์
เกาหลีเหนือมีกองทัพแข็งแกร่ง ทหารประจำการมากกว่า 1 ล้านคน จัดอยู่ในประเทศชั้นนำของโลก การทุ่มเทพัฒนากองทัพเริ่มเต็มที่หลังจากสงครามเกาหลี
การพัฒนาจรวดนำวิถีติดหัวรบนิวเคลียร์ได้สร้างความกังวลให้ประเทศในคาบสมุทรเกาหลีและใกล้เคียง โดยเฉพาะญี่ปุ่น โดยชาติมหาอำนาจ เช่นสหรัฐฯ ได้พยายามให้เกาหลีเหนือลดกำลังและศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์แต่ยังไม่สำเร็จ
รายงานเรื่องประหารชีวิตยังระบุด้วยว่าบางครั้งญาติพี่น้อง หรือลูกของผู้ถูกประหารถูกสั่งให้ชมการประหาร หลังจากเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ยอมมอบศพของผู้ถูกประหาร และยังไม่เปิดเผยแหล่งฝังศพให้ญาติๆ ได้รับรู้เพื่อเคารพตามพิธีกรรม
ผู้ที่เคยถูกสั่งให้ชมการประหารในที่สารธารณะ มีอายุน้อยที่สุดคือ 7 ขวบเท่านั้น
บางครั้งการประหารชีวิตก็ทำในสถานที่คุมขัง เช่นในคุก หรือค่ายกักกันแรงงาน ซึ่งผู้ที่ถูกลงโทษให้ใช้แรงงานก่อนการประหารส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเกี่ยวกับคดีการเมือง มักถูกบังคับให้ทำงานเหมืองแร่ และตัดลากซุงในป่า
มีรายหนึ่งที่ได้หลบหนีออกมาจากค่ายแรงงานในยุคต้นๆ ของปี 2000 เปิดเผยว่าผู้ถูกคุมขัง 80 รายถูกสั่งให้ชมการประหารชีวิตสตรี 3 รายซึ่งถูกจับกุมตัวได้หลังจากพยายามหลบหนี โดยข้ามชายแดนเข้าไปในประเทศจีน
เจ้าหน้าที่ของกระทรวงว่าด้วยความมั่นคงได้ประกาศให้พวกที่ถูกสั่งให้ชมการประหารว่า “ที่ได้เห็นนี้อาจขึ้นกับพวกเอ็ง” การประหารชีวิตถือว่าเป็นแก่นแท้ของมาตรการที่จะสร้างความหวาดกลัว ไม่ให้ประชาชนทำอะไรที่ไม่พึงปรารถนา
หรือการกระทำอันใดก็ตามที่รัฐบาลไม่ชอบนั่นเอง!
พวกที่หลบหนีได้สำเร็จเล่าว่าการประหารชีวิตส่วนใหญ่เป็นการยิงเป้าแต่ละครั้งใช้มือสังหาร 3 ราย ลั่นกระสุนใส่คนต้องโทษ 3 ชุด มีบางครั้งคนทำหน้าที่ยิงเป้าอยู่ในอาการมึนเมาสุราอย่างเห็นได้ชัด นั่นเป็นเพราะการฆ่าต้องฝืนอารมณ์และความรู้สึกมาก
มีบางครั้งการประหารชีวิตทำโดยการแขวนคอ แต่จำนวนลดลงตามลำดับ และรายงานของเอ็นจีโอระบุว่ามีการยกเลิกวิธีการแขวนคอตั้งแต่ในปี 2005
นายอีธาน ชิน เป็นผู้หนึ่งซึ่งเขียนรายงานได้บอกผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี “ดูเหมือนว่าตัวเลขของการประหารชีวิตได้มีแนวโน้มลดลง หรือเป็นเพราะรัฐบาลยังมีการประหารชีวิต เพียงแต่ทำแบบซ่อนเร้น เพราะอยากให้ถูกมองว่าเป็นประเทศอารยะ”
โทษประหารไม่มีข้อยกเว้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือก็ถูกประหารเหมือนคนทั่วไปที่กระทำผิดกฎหมาย ดังเช่นในปี 2013 อาของผู้นำ คิม จองอึน ซึ่งถูกกล่าวหากบฏ แม้กระนั้น ข่าวการประหารชีวิตมักไม่ได้รับการยืนยัน บางครั้งก็ไม่เป็นความจริง
ในปี 2013 เช่นกัน มีข่าวว่านักร้องเกาหลีเหนือ ฮยอง ซอง-วอล โดนประหารชีวิต โดยสื่อเกาหลีใต้ได้รายงานว่านักร้องคนดังกล่าวโดนฆ่าในห่ากระสุน ขณะที่สมาชิกวงออเคสตราของเธอมองการประหาร ปรากฏว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ฮยอง ซอง-วอล ได้ปรากฏตัวอีกครั้งในปี 2018 โดยเข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการเกาหลีเหนือก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงโซล เมืองหลวงเกาหลีใต้
สัปดาห์ก่อนก็มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือ นายคิม ยอค-ชอล ซึ่งอยู่ในคณะเจรจาข้อตกลงด้านอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ในช่วงที่ผู้นำเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ พบปะเจรจากันในเวียดนาม โดนประหารชีวิต เพราะล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่
แต่ก็ไม่มีการยืนยันแม้จะมีการประโคมข่าวอย่างมากในเกาหลีใต้ นายคิม ยอค-ชอล เป็นอดีตทูตเกาหลีเหนือประจำสหรัฐฯ ถือว่าเป็นคนสำคัญในรัฐบาล
จากนั้นมีข่าวอีกว่า นายคิม ยอง-ชอล ซึ่งเป็นมือขวาของผู้นำเกาหลีเหนือ ถูกส่งตัวไปเข้าค่ายแรงงานและเข้ารับการอบรม ในบริเวณใกล้ชายแดนติดกับประเทศจีน
หลายครั้งที่มีข่าวโดยสื่อเกาหลีใต้ว่าคนสำคัญในเกาหลีเหนือถูกประหารชีวิตหรือถูกทำโทษร้ายแรง ภายหลังได้ปรากฏตัว ทำให้ข่าวต่างๆ เกี่ยวกับเกาหลีเหนือต้องผ่านการกรองและตรวจสอบหลายครั้ง และเป็นการยากที่จะยืนยันว่าจริงหรือไม่จริง
ในปี 2016 มีข่าวว่าผู้นำทหาร รี ยอง-จิล ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหาคอร์รัปชัน เป็นข่าวฮือฮาหลังจากหน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้ได้รายงาน ปรากฏว่านายทหารผู้นั้นไม่ถูกประหาร แต่กลับได้รับเลื่อนตำแหน่งในไม่กี่เดือนหลังจากได้ตกเป็นข่าว