xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ”ยันตั้งส.ว.ไม่โมฆะ...อ้างกม.ไม่ต้องเปิดชื่อกก.สรรหาฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- "วิษณุ" แจง รธน.ไม่ได้กำหนดต้องเปิดชื่อกก.สรรหาฯ ระบุไม่มีใครเสนอชื่อตัวเอง ยันตั้งส.ว.-โหวตนายกฯ ไม่มีโมฆะ เปิดคำสั่งศาลรธน.ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการฯ ขอวินิจฉัยตั้งคกก.สรรหาส.ว.ไม่ชอบ อีกฟากตอกหน้า "วิษณุ" คำสั่ง-ประกาศคสช. เป็นร้อยๆ ฉบับ ล้วนลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยไม่จำเป็นต้องให้รธน.สั่งให้เปิดเผย ขณะที่ "ศรีสุวรรณ" เตรียมร้องป.ป.ช. เอาผิด ผอ.สำนักราชกิจจาฯ ปิดบัง ซ่อนร้อน ขณะที่ราชกิจจาฯ เผยแพร่รายชื่อส.ว. สำรอง 50 คนแล้ว

วานนี้ (11 มิ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การยื่นร้องเรียนกรณี คสช.ไม่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งอาจส่งผลให้การแต่งตั้งส.ว.เป็นโมฆะว่า รายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะในรธน. และกฎหมายประกอบรธน. ไม่ได้บัญญัติว่าด้วยเรื่องการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา โดยมาตรา 269 เขียนไว้เพียงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา เท่านั้น ซึ่งที่คสช. ยังไม่เปิดเผยหลังจากการแต่งตั้งในตอนต้น เพราะเกรงว่าจะเกิดการวิ่งเต้น ขอตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้ระบบการสมัคร แต่ให้คณะกรรมการสรรหาไปเจาะหาตัวบุคคล

อย่างไรก็ตาม คสช. จะเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.หลังจากนี้ ไม่ได้มีอะไรปกปิด หากคสช.ไม่เปิดเผย ตนจะขอเปิดเองก็ได้ ไม่ทำให้การแต่งตั้งส.ว.และการโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นโมฆะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการสรรหาส.ว.ได้สรรหาตัวเองเข้าไปเป็นส.ว.ด้วย นายวิษณุ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มี เพราะตนอยู่ในคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วย กรรมการสรรหาแต่ละคนได้เสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมขึ้นมาคนละ 50 - 60 ชื่อ โดยมีคณะกรรมการสรรหาทั้งหมด 10 คน ลาออกไป 1 คน เหลือ 9 คน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด และกรรมการสรรหาก็ไม่ได้เสนอตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ ของศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่รายละเอียด คำสั่งศาลรธน. ที่ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตาม รธน.มาตรา 231(1) ว่า คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ลงวันที่ 8 ก.พ. 62 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรธน. มาตรา 81 วรรคสอง และ มาตรา 269(1)(ข) และ(ค) หรือไม่ จำนวน 4 หน้า ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในส่วนที่อ้างถึงเหตุผลของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยื่นให้ศาลรธน.พิจารณาวินิจฉัย ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ( ผู้ร้อง) ได้แสวงหาข้อเท็จจริง และตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 พร้อมให้ คสช.ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า คำสั่ง คสช.ดังกล่าว ออกโดยอาศัยอำนาจโดยตรงตามรธน. มาตรา 269(1) มีปัญหาความชอบด้วยรธน.

1. เมื่อคำสั่ง คสช.ดังกล่าวมีฐานเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับได้ ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่รธน. มาตรา 81 วรรคสองได้กำหนดไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คำสั่งคสช.ฉบับนี้ มิได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรณีจึงมีปัญหาความชอบด้วยรธน. มาตรา 81

2. กรรมการสรรหา ส.ว. ตามคำสั่งดังกล่าวรายหนึ่ง ปรากฏเป็นข่าวทั่วไป และเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วว่า มีส่วนเป็นผู้ร่วมสนับสนุน ในการจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเสนอชื่อบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี กรรมการรายดังกล่าว จึงมีปัญหาความเป็นกลางทางการเมืองซึ่งเป็นคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ กรณีจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วย รธน. มาตรา 269(1)

3. กรรมการสรรหา ส.ว. ตามคำสั่งดังกล่าว จำนวน 6 คน ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก คสช.ด้วย เมื่อกรรมการสรรหาส.ว.รายดังกล่าว ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลผู้มีความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภา และการปฏิรูปประเทศ ไม่เกิน 400 คนแล้ว ต้องนำรายชื่อเสนอต่อ คสช. ที่ตนเองเป็นกรรมการอยู่ด้วย เพื่อคัดเลือกได้ให้ได้จำนวน 194 คน และรายชื่อสำรองอีก 50 คน การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสรรหา ส.ว. ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ในลักษณะที่มีความขัดกันแห่งผลประโยชน์ กรณีจึงมีปัญหาความชอบด้วยรธน. มาตรา 296(1) จึงทำให้ต้องเสนอเรื่องพร้อมความเห็น ให้ศาลรธน. วินิจฉัย

แต่อย่างไรก็ตาม ศาลรธน. มีความเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรธน. วินิจฉัยว่า คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ลงวันที่ 8 ก.พ. 62 ปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรธน. มาตรา 81 วรรคสอง และ มาตรา 269(1)(ข) และ(ค) หรือไม่ ซึ่งคำสั่ง คสช. ดังกล่าว มีเนื้อหาสาระสำคัญเป็นเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่กลั่นกรองเสนอรายชื่อ ส.ว.เท่นั้น ไม่ใช่การออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับ เป็นการทั่วไป คำสั่ง คสช. ดังกล่าว จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรธน. มาตรา 231(1) ที่ศาล รธน.จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจง คำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. ไม่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ทำให้การสรรหาส.ว.เป็นโมฆะ นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลเว็บไซต์ราชกิจจาฯ ระบุว่า เรื่องที่จะนำลงประกาศในราชกิจจาฯ นั้น จะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1. เรื่องที่กฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องประกาศในราชกิจจาฯ 2. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พี่ต้องส่งไปลงพิมพ์ในราชกิจจาฯ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 3. เรื่องที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องประกาศ หรือส่งพิมพ์ ในราชกิจจาฯ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สมควรเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

กรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ลงนามคำสั่ง ที่ 1/2562 เมื่อ 8 ก.พ.62 เข้าเงื่อนไข ข้อที่ 3 ซึ่งจะต้องประกาศในราชกิจจาฯ ประกอบกับการสรรหาให้ได้มาซึ่งส.ว. เพื่อเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประเทศชาติ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนำรายชื่อ ส.ว.ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง การดำเนินการจึงต้องเปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมา ทำให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ใช่ปกปิดซ่อนเร้น ด้วยเจตนาไม่สุจริตทางการเมือง

ข่าวแจ้งว่า เมื่อย้อนไปตรวจสอบคำสั่ง ของหัวหน้าคสช. และ คสช. นับตั้งแต่ยึดอำนาจ เมื่อ 22 พ.ค.57 พบว่า หลายร้อยคำสั่ง และ ประกาศ ล้วนแต่ลงพิมพ์ในราชกิจจาฯ ทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ยังประกาศในราชกิจจาฯ เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 13/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลหรือนิติบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. 28 พ.ค.57 ก็ประกาศในราชกิจจาฯ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณี การสรรหา ส.ว.ที่ไม่มีการประกาศรายชื่อบัญชีสำรอง และไม่พบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. ในราชกิจจานุเบกษาว่า เรื่องการไม่ประกาศบัญชีสำรอง ตนเคยร้องต่อป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว เมื่อ2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งก็จะติดตามต่อเนื่อง และจะร้องป.ป.ช.เพื่อเอาผิด ผอ.สำนักราชกิจจานุเบกษาฯ ที่ไม่นำประกาศคสช. ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 /2562 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. มาลงเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ ทั้งที่กฎหมายบัญญัติ

“เรายอมไม่ได้ เพราะมันมีผลต่อการประกาศบัญชีสำรอง อีก 1บัญชี ที่ยังไม่ประกาศ และอำนาจหน้าที่ของคสช. ก็ใกล้จะหมด เนื่องจากจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามารับหน้าที่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่มีการแก้ไข ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรธน. ผู้ที่เกี่ยวข้องก็อาจต้องรับผิดชอบ ฐานละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

"ที่รองนายกฯวิษณุ เป็นหนังหน้าไฟ ไปการันตีให้รัฐบาลอยู่เสมอ เรื่องนี้สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ท่านเป็นนักกฎหมายย่อมรู้อยู่ว่า การกระทำเช่นนั้น มันส่อไปที่เจตนาไม่ดี ท่านพยายามบอกให้ประชาชนเคารพกฎหมาย แต่เรื่องนี้ท่านกลับไม่เคารพกฎหมายเสียงเอง มันเหมือนแม่ปู กับลูกปู ผมคิดว่าประชาชนคงประเมินได้ว่า คสช. ชุดนี้มีเจตนารมอย่างไรต่อการบริหาร และดูแลบ้านเมือง" นายศรีสุวรรณ กล่าว

*** คลอดรายชื่อส.ว.สำรอง 50 คน

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2/2562 เรื่อง ประกาศรายชื่อบุคคลสำรอง สำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คนนั้น

จากรายชื่อทั้ง 50 คน พบมีบุคคลมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ทั้งรัฐมนตรี กกต. อดีตบิ๊กข้าราชการตำรวจ ทหาร สื่อ นักวิชาการ อาทิ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ,นายวิวัฒน์ ศัลยกำธรรมช.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ,นายประพันธ์ คูณมี ทนายความ นายสมชาย มีเสน ผู้บริหารเครือเนชั่นกรุ๊ป, พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตรองผบ.ชน. เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น