xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งยืดเยื้อโอกาสยิ่งลด : อนาคตของ พปชร.

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


จากวันที่ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมมาจนถึงวันที่4 มิถุนายน เป็นเวลา 27 วันแล้ว และตลอดเวลา 27 วันที่ผ่านมา ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐต่างก็พยายามจะรวบรวมเสียง ส.ส.จากพรรคต่างๆ เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่าไม่มีฝ่ายใดก้าวไปถึงเป้าหมายคือได้เสียงเกิน 250 เสียงหรือกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. 500 คน

แต่อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายนซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนจะมีการเปิดประชุมร่วม ส.ส.และ ส.ว.เพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ทั้งสองฝ่ายก็ยังดำเนินการอยู่ เริ่มด้วยพรรคเพื่อไทย รวมตัวกับ 7 พรรคแต่มีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ถ้าไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นตัวแปรทางการเมืองอยู่ในขณะนี้เข้ามาร่วมก็เป็นอันว่าหมดโอกาสที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยปริยาย

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้รับเลือกเข้ามาได้ ส.ส.เป็นอันดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย แต่ได้ประกาศตัวเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนพรรคเพื่อไทย โดยอ้างความชอบธรรมจากการได้คะแนนเสียง (Popular Vote) มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่หลังจากได้พยายามชักชวนพรรคโน้นพรรคนี้ให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้เสียงไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วม และดูเหมือนว่าทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่ถึงกระนั้นทางพรรคพลังประชารัฐก็ได้ออกข่าวเป็นระยะๆ ว่า พร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วม ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยอยู่ระหว่างการตัดสินใจ และรอเงื่อนไขที่เสนอไป ทั้งในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรี และการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคพลังประชารัฐจะตอบตกลงหรือไม่ และกำหนดจะประชุมกันในวันที่ 4 มิ.ย.เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีการเลือกนายกฯ ในวันที่ 5 มิ.ย.

แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ทางพรรคพลังประชารัฐก็คงจะต้องได้เป็นรัฐบาล โดยการสนับสนุนของ ส.ว. 250 เสียง เพียงแต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไร้เสถียรภาพ และรอวันที่จะมีการยุบสภาเมื่อแพ้โหวตในการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยงบประมาณ เป็นต้น

ดังนั้น ตัวแปรที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐจัดตั้งเสียงข้างมากได้ จึงขึ้นอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นปัจจัยผันแปรทางการเมืองที่ว่านี้ และนี่เองที่ทำให้ผู้ที่นิยมพรรคพลังประชารัฐออกมาวิพากษ์วิจารณ์สองพรรคตัวแปรในทางลบ ในทำนองว่าไม่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศโดยรวม และต่อรองมากเกินไป

แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ฝ่ายที่นิยมพรรคพลังประชารัฐที่ว่านี้ ไม่เคยดูข้อด้อยที่ทำให้พรรคอื่นซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วม เช่น การที่พรรคพลังประชารัฐได้เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีในระบอบเผด็จการ และ 5 ปีที่เป็นรัฐบาลไม่มีผลงานเป็นที่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ความยากจนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากราคาผลผลิตทางด้านเกษตรตกต่ำ

ด้วยเหตุนี้ ถ้าพรรคพลังประชารัฐต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน ก็จะต้องขจัดเหตุอันเป็นข้อด้อยให้หมดไป ถ้าทำได้เชื่อว่าสองพรรคตัวแปรคงพร้อมที่จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐทำไม่ได้ และจะไม่ทำเนื่องจากว่าพรรคนี้ได้ชูพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในนามของพรรคมาตลอด ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งประกอบกับได้พูดมาตลอดเวลาว่า เศรษฐกิจดีขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงจุดสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐก็คงจะหนีไม่พ้นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยอาศัยเสียง ส.ว. 250 คนคอยหนุนในการเลือกนายกฯ

ถ้าพรรคพลังประชารัฐเลือกแนวทางนี้ การเมืองไทยก็นับถอยหลังได้เลยว่า การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก่อนครบเทอมแน่นอน

แต่ถ้าเผอิญพรรคพลังประชารัฐโชคดีทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยเปลี่ยนใจเข้าร่วม จะด้วยผลประโยชน์ลงตัวหรือเหตุผลอื่นใด อันเป็นภายในของแต่ละพรรค ก็จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และอยู่ไปครบเทอมหรือมากกว่าเป็นเสียงข้างน้อยได้ แต่จะเป็นความโชคร้ายของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยเองในการเลือกตั้งคราวหน้า คงจะได้เสียงน้อยลง เพราะแฟนคลับของแต่ละพรรคตีจากเนื่องจากเสื่อมศรัทธากับการไม่มีจุดยืนทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น