xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปนคน คนปนข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ข่าวปนคน คนปนข่าว

** พลังประชารัฐ เจรจาประชาธิปัตย์ รอบไฟนอล ขอเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ คืน แล้วเอา รมว.ศึกษาฯ ไป จะได้สอดคล้องกับ "นโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ" วัดใจปชป. จะโอเค หรือไม่ รู้ผลวันนี้

เย็นวันนี้ก็น่าจะรู้แล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ หลังจากยึกยักมานาน จนคนของปชป.เอง อย่าง "เสาวลักษณ์ สุริยาทิพย์" อดีต ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี ถึงกับออกมาบ่นดังๆว่า... “ตกลงร่วมหรือไม่ร่วม ยึกยักอยู่ได้ น่ารำคาญ...จะเล่นอะไรกันนักหนา เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก็มีแล้ว พวกคุณได้เป็นส.ส.ผู้ทรงเกียรติแล้ว ทำไมไม่รักษาศักดิ์ศรี ยังดื้อด้านเป็นเด็กเกเร ทั้งที่มีวุฒิภาวะครบทุกด้าน ต่างจากเด็กๆ ทั่วไป ไม่อายเด็กหรือ” …เชื่อว่าหลายๆ คน คงเห็นด้วย และ สะใจ ที่”เจ๊เสาวลักษณ์” พูด
ความเคลื่อนไหวล่าสุด "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรค และ"เฉลิมชัย ศรีอ่อน" เลขาธิการพรรคก็ได้ นัดกรรมการบริหารพรรค ไปหารือกันที่ร้านอาหาร ทีเฮาส์ ย่านสามเสน เมื่อกลับออกมา "นิพนธ์ บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรค บอกแค่ว่า มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ทางการเมืองทั่วไป ว่าทางพรรคประสานงานกับ พปชร. มีความคืบหน้าไปถึงไหน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของแต่ละคน ว่าจะมีความเห็นในการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลในการประชุมร่วมกับส.ส.ในวันนี้ ขณะที่ "เจ๊ติ่ง" มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า” ร่วมรัฐบาลกับลุงค่ะ !! ไม่มีอย่างอื่น ประเทศต้องเดินหน้า นายกฯ มาจากรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์ก็นักเลงพอ คบได้ใจถึง !! “ ... สอดคล้องกับ "พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล" อดีต ส.ส.กระบี่ ก็โพสต์ข้อความปริศนา ถึง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตหัวหน้าพรรคว่า... “การเมืองไทย คนดีๆ อยู่ไม่ได้ เสียดายน้ำดีอย่างอภิสิทธิ์” ... หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยโพสต์ ข้อความที่บ่งบอกนัยลักษณะนี้ว่า " ชีวิตอภิสิทธิ์ เกิดมาเพื่อเป็น ส.ส. และเพื่อประชาชน โปรดอย่าลาออก" .. รวมทั้ง "ประชาธิปัตย์ รักจุรินทร์ แต่ไม่ต้องการเสียอภิสิทธิ์"
จึงทำให้สังคมที่กำลังตามลุ้น มองว่าบทสรุปของ ปชป. คือ "ร่วมรัฐบาลแน่" เพราะอย่างน้อย พปชร. ก็ได้แสดงความจริงใจ ด้วยการโหวตหนุนให้ "ชวน หลีกภัย" ไปเป็นประธานสภาฯ ไปแล้ว สัญญาณจาก ปชป. น่าจะออกไปทางบวก ... แต่กระนั้นก็ยังมีคนออกมาบอกว่า นั่นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติพรรค โดยเฉพาะ "ราเมศ รัตนะเชวง" โฆษกพรรค ปชป. ที่ออกมายืนยันว่า เรื่องที่ปชป.ได้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล และจะร่วมแถลงข่าว กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ นั้น ไม่เป็นความจริง ต้องรอมติที่ประชุมพรรคก่อน แล้วคอยฟังโฆษกพรรคฯ แถลงเท่านั้น
ความจริงแล้ว การเจรจาจะลงตัวหรือไม่ "หัวใจสำคัญ" อยู่ที่การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่แก้ไข หรือว่าจะเอานโยบายของปชป. ไปใส่เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ …
ก่อนหน้านี้ มีการเจรจาที่ดูเหมือนว่าจะลงตัวไปแล้ว โดยเบื้องต้น ปชป.จะได้โควต้า 3 รัฐมนตรีว่าการ และ 4 รัฐมนตรีช่วยฯ คือ รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ รมว.พัฒนาสังคมฯ จึงทำให้มีการ "ยกขบวนขันหมาก" ไปสู่ขอถึงที่ทำการพรรคปชป. จนเป็นข่าวเอิกเริก แต่ก็ "ล้มเหลว" กลับออกมา เพราะมีข่าวว่า การไปครั้งนั้น ไม่ใช่ "ยกสินสอด" ไปประเคนให้ แต่กลับเป็นการไป "ทวงโควต้า" รมว.เกษตรฯ หรือ รมว.พาณิชย์ กลับคืน ทำเอาคน ปชป. ต้องออกมาโวยวายว่า ทางพรรคไม่ใช่ต้นเหตุ แต่เป็นความไม่ลงตัวในพรรคพปชร. เอง และไม่รู้ว่าใครเป็นคนมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ
ดังนั้น การเจรจารอบใหม่จึงเกิดขึ้น เพราะพลังประชารัฐ ก็ไม่อยากเป็น "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" โดยมีข่าวว่า ครั้งนี้ ทาง พปชร. ขอเอา เก้าอี้ "รมว.ศึกษาธิการ" มาแลกกับ "รมว.พาณิชย์" เนื่องจากเห็นว่า แนวทางของ ปชป.นั้น เน้นไปในมิติของการยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตรในประเทศเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึง มิติการขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา "รัฐบาลลุงตู่" ได้ให้ความสำคัญในการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้แก่สินค้าเกษตรของไทย มีการติดต่อเจรจาการค้า และโร ดโชว์ กับหลายประเทศ อาทิ จีน อินเดีย แอฟริกา และสหภาพยุโรป เก้าอี้นี้ พปชร. จะขอมาสานงานต่อ ... ขณะที่ ปชป. น่าจะเหมาะกับตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ มากกว่า จะได้สอดคล้องกับ "นโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ" เพราะต้องปูพื้นฐานจากการศึกษา จะได้เกิดความยั่งยืน...
จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่า ปชป. จะ "โอเค" กับเงื่อนไขใหม่นี้หรือไม่ ถ้าโอเค "รัฐบาลลุงตู่" ก็จะเดินต่อไปได้ แต่ถ้า”ไม่โอเค” ทางเลือกที่เหลือก็คงต้องเป็น "ฝ่ายค้านอิสระ" ตามที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรคเรียกร้อง แล้วไปวัดผลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่ามาถูกทางหรือไม่

**เข้าใจตรงกันนะ ! แสดงมา 5 ปีแล้วไม่พอหรือย่างไร "ลุงตู่" เหวี่ยง ไม่เข้าประชุมโหวตนายกฯ -แสดงวิสัยทัศน์ ฝ่ายรอจ้วงมีแววชกลมแทน สถานการณ์ มาคุ "ดร.อาทิตย์" “เปรียบเทียบการตั้งนายกรัฐมนตรี ปี 2535 และ ปี 2562 ทั้งเหมือนและแตกต่าง แต่ปีนี้หนักหน่วงกว่า

การประชุมรัฐสภา วันที่ 5 มิ.ย.นี้ เพื่อเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี คนที่ตั้งใจจะฟังวิสัยทัศน์ของแคนดิเคตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ"ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะต้องผิดหวังโดย "ลุงตู่" ออกอาการหงุดหงิดเล็กน้อย แต่พองาม ที่ถูกถามจะเข้าสภาฯหรือไม่ ว่า ถามไปเรื่อยเปื่อย พร้อมไล่นักข่าวไปดูกฎหมาย
ส่วนเรื่องการจะแสดงวิสัยทัศน์ ที่คาดกันว่า ขั้วตรงข้ามจ้องถล่ม เตรียมเชือดในสภาอภิปรายถึงคุณสมบัติความสามารถ ของลุงตู่ เหมือนจะอภิปรายไม่ไว้วางใจกลายๆ ก็คงจะกลายเป็นชกลมแทน คำถามนี้เจอลุงตู่ เหวี่ยงใส่ "แสดงวิสัยทัศน์มา 5 ปีแล้ว ยังไม่พอหรืออย่างไร"
เมื่อลุงตู่ไม่ไป กฎหมายก็ไม่ห้าม งานนี้การทำหน้าที่ของสภาจะเป็นอย่างไร ในการโหวตนายกฯ "นายชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าในเมื่อสมาชิกอยากอภิปราย ก็จะจัดให้ ไม่น่าจะมีปัญหา ให้สิทธิสมาชิกอย่างเต็มที่ ส่วนจะพูดและทำศึกน้ำลายกันแค่ไหน จนอาจทำให้การพิจารณาโหวตนายกฯ ยืดเยื้อยาวนานหรือไม่นั้น ทั่นประธานบอกเลย คิดว่าไม่เป็นไร ใช้เวลาได้อย่างเต็มที่ ไม่มีลิมิต จะใช้เวลากี่วันก็ได้
สงครามสภาฯ ยังไม่เริ่ม ก็ส่อแววว่า ยุ่งเหยิง ดูท่าจะน่ากังวลยิ่ง
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ "ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์" อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เจ้าของฉายา "วีรบุรุษประชาธิปไตย" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้พลิกโฉมหน้าการเมืองในปี 2535 จากเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ที่ได้เสนอชื่อ "นายอานันท์ ปันยารชุน" เป็นนายกรัฐมนตรีแทน "พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์" ซึ่งถูกวางให้เป็นนายกฯ สืบทอดอำนาจรัฐบาลรสช. อย่างเหนือความคาดหมาย ได้แสดงความเห็นเชิงเปรียบเทียบอย่างน่าสนใจมาก
"ดร.อาทิตย์" ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Arthit Ourairat”ว่าด้วยเรื่อง “เปรียบเทียบการตั้งนายกรัฐมนตรีปี 2535 และ ปี 2562 " ความว่า หลายคนถามให้เปรียบเทียบการเสนอแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กับ ปัจจุบัน ...เมื่อปี 2535 ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเสียงข้างมากในสภา เสียงข้างมากชัดเจนได้เสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากการเสนอหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากนั้น ชัดเจน 195:165 ว่าเป็นการ
"สืบทอดอำนาจของรสช." ซึ่งประชาชนได้ออกมาคัดค้าน ประท้วงไม่เห็นด้วย และได้มีการปราบปรามปะทะกัน จนประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ออกมาชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ได้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า หากแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมากที่สภาฯ เสนอ ประชาชนก็ย่อมต้องออกมาประท้วงอีก และรัฐบาลซึ่งมีทหารสนับสนุน ก็จะต้องปราบปราม กวาดล้าง ตามแนวทางของทหารอีกเช่นเดิม จะเกิดการนองเลือด และประชาชนล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าประธานสภา ซึ่งสังกัดพรรคเสียงข้างมากอยู่แล้ว และได้รับทั้งคำรัองขอ คำสั่ง คำขู่ และอามิสสินจ้าง ทั้งตำแหน่งและเงินทอง ให้เสนอชื่อตามที่พรรคเสียงข้างมากเสนอ แต่ไม่อาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคเสียงข้างมากเสนอได้ จำเป็นต้องหาคนกลางเพื่อเข้ามายุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินต่อไป
สถานการณ์ในปี 2562 มีทั้งเหมือน และแตกต่างจากปี 2535 ส่วนที่เหมือนนั้น ในลักษณะที่มีการ "สืบทอดอำนาจของ คสช." มีอยู่ชัดเจน ซึ่งหากการบริหารประเทศของ คสช. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลดี ได้สร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ปฏิรูปประเทศ และบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้ากัน ประชาชนก็อาจจะยินดี และเรียกร้องให้สืบทอดอำนาจต่อไปได้
แต่การมิได้เป็นเช่นนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญ และกติกาการเลือกตั้งใหม่ ก็แสดงชัดเจนว่าตั้งใจจะสืบทอดอำนาจตั้งแต่ต้น และไม่เป็นธรรม ประชาชนจึงไม่ยอมรับอยู่แล้ว ... ในส่วนที่แตกต่างจากปี 2535 ประการสำคัญ คือ พรรคต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน กระจัดกระจาย และมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนน้อยมาก ไม่เป็นปึกแผ่น เอกภาพ แม้จะรวมตัวได้มากที่สุด ก็ยังเป็น"รัฐบาลเป็ดง่อย" ที่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงในการบริหารประเทศ นำรัฐนาวาไปสู่ความเป็นปึกแผ่น มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้
จึงใคร่ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ปี 2562 นี้หนักหน่วงยิ่งกว่าปี 2535 มากนัก
วีรบุรุษประชาธิปไตยทัก ย่อมไม่ปกติแน่นอน ต้องรอชมกันยาวไปแน่งานนี้



--------------
รูป -อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ -เฉลิมชัย ศรีอ่อน- พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล- มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา--ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์

กำลังโหลดความคิดเห็น