xs
xsm
sm
md
lg

สังคมบีบปชป.เลือกข้าง แทงกั๊กลงโทษหนักกว่าเดิม !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แน่นอนว่าสำหรับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในขั้วของฝั่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยเคยเป็นฝ่ายบริหารพรรค และนำเข้าสู่สนามเลือกตั้งและพ่ายแพ้กลับมาแบบย่อยยับในรอบหลายสิบปี จนไม่ต้องรื้อฟื้นมาพูดในเวลานี้ให้หัวเสียกันอีก แต่ถึงอย่างไร หากจะพูดก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะการวางยุทธศาสตร์ผิดพลาด และประเมินสถานการณ์ผิดพลาดไปไกล
นั่นคือ "กระแส" ทั้งในและนอกพรรค ที่ผสมปนเปกันไป โดยในพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่ายังมีเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคโดยพิสูจน์ให้เห็นจากการ "หยั่งเสียง" ชนะ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ในระดับชื่อชั้นแบบนี้ถือว่า "ชนะกันแบบฉิวเฉียด" แต่ไม่ว่าชนะเฉือนกันไม่มาก แต่ความหมายก็คือ"ชนะ" นั่นว่ากันในเรื่องกระแส และอาจเรียกได้ว่า "ความขัดแย้ง" แบ่งฝ่าย เริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้น ส่วนใครขัดแย้งกับใคร และใครคือ "ขาใหญ่" ที่"ชักใย" อยู่ข้างหลังในแต่ละฝ่าย นาทีนี้ไม่ต้องพูดกันแล้ว เพราะสังคมรับรู้ไปตั้งนานแล้ว
เมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งนั่นแหละที่เห็นภาพชัดขึ้นไปอีก นั่นคือ "กระแสความเชื่อมั่น" ในตัว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นมีน้อยมาก จะด้วยในแนวทางแบบที่จินตนาการให้ซับซ้อนว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านการ "สืบทอดอำนาจของคสช." อะไรก็แล้วแต่ ปรากฏว่ากระแส "ไม่เปรี้ยง" อย่างที่คิด
ขณะเดียวกันมีหลายคนวิเคราะห์วว่า ศึกเลือกตั้งครั้งล่าสุดนั้น ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ "เอาทักษิณ" กับฝ่ายที่ "ไม่เอาทักษิณ" เท่านั้น ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายสืบทอดอำนาจ อะไรนั่นหรอก
ฝ่ายที่เอาทักษิณ ชินวัตร ก็สะท้อนผ่านพรรคเพื่อไทย และพรรคเครือข่ายในที่นี้ก็รวมถึง พรรคอนาคตใหม่ ที่ส้มหล่นจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ขณะที่แนวทาง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทิ้งไพ่ตายแบบ "ฟังชัดๆไม่เอาลุงตู่" มันก็เลยได้รับคำตอบแบบ "ชัดๆ" กลับมาเหมือนกัน คือแพ้ราบคาบ เพราะชาวบ้านเขาอยากให้ประชาธิปัตย์ไป"ร่วมมือกับลุงตู่" ไปสกัด "ระบอบทักษิณ" ต่อเนื่องอย่างน้อยก็ช่วงเปลี่ยนผ่าน 4-5 ปีนี้
แต่อย่างไรก็ดี สำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องบอกว่าน่าเห็นใจ เพราะเขาเป็นแคดิเตตนายกรัฐมนตรีของพรรค จะให้ "หมอบ" ยอมแพ้ตั้งแต่ต้น มันก็กระไรอยู่ แต่การที่ประกาศ "ต่อต้าน" แบบนั้นมันก็ถูก "หมั่นไส้" สังคมมองว่า "ไม่รู้จักตัวเอง" หรือ "ไม่เจียม" อะไรประมาณนั้น เพราะอย่างที่รู้กันก็คือ ฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ล้วนรวมเป็นก้อนเดียวกันกับที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ (เฉพาะที่หนุนลุงตู่) รวมไปถึงพรรครวมพลังประขาชาติไทยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่คนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย จะย้ายข้างมาลงคะแนนให้เขา
ดังนั้น ด้วยแนวทาง "ชัดๆไม่เอาลุงตู่" ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมีผลออกมาอย่างที่เห็นด้วยคะแนนราว 3.9 ล้านเสียง ที่ลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ ฝ่าย อภิสิทธิ์ เคลมเอาว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาดังกล่าวมันเหมือนกับการ "สกรีน" ให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ "เป็นอยู่" ในเวลานี้คือพวกไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอาจจะใช่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในจำนวนนั้นอาจเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่ต้องเลือก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไปก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องการ"กลับมา" เติบโต เป็นพรรคมหาชนในอนาคตหรือไม่ หรือต้องการเพียงแค่นี้ หรือเป็นพรรคเล็ก และที่สำคัญผลสะท้อนผ่านทางผลสำรวจของนิด้าโพล ก็ออกมาชัดแล้วว่าเวลานี้ "ชาวบ้านเขารู้สึกต่อพรรคประชาธิปัตย์" อย่างไรบ้าง หรือแม้แต่ความคิดเห็นผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ มันก็ล้วนออกมาในโทนเดียวกัน
ดังนั้น หากจะให้สรุปกันอีกทีก็ต้องประเมินว่า นาทีนี้สังคมบีบให้พรรคประชาธิปัตย์ "เลือกข้าง" ห้ามแทงกั๊ก รวมทั้งห้ามเล่นเกมการเมืองในแบบเก่า เพราะชาวบ้านมองออก และพุ่งเป้าชี้นิ้วมาที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจุดเดียว ซึ่งกลายเป็นภาพลบติดตัวไปอีก และภาพที่ปรากฏในเวลานี้ สำหรับพรรคมันเสี่ยงต่ออนาคตที่หากตัดสินใจพลาดอีกก็อาจประสบชะตากรรมที่สาหัสกว่าเดิมก็ได้ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น