ในทันทีที่มีข่าวปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบในด้านเศรษฐกิจ จะยังเป็นคนเดิม พ่อค้า แม่ค้าทั้งหลายหรือแม้กระทั่งเกษตรกรต่างพากันส่ายหน้าพร้อมกับอุทานออกมาเป็นประโยคเดียวกันว่า จะเหมือนกับ 5 ปีที่ผ่านมาไหม? และที่เขาพูดเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปีกว่า ผู้ประกอบการค้าขายรายย่อยเริ่มตั้งแต่หาบเร่แผงลอยไปจนถึงร้านค้าย่อย และเกษตรกรต่างจนลงถ้วนหน้า เนื่องจากกำลังซื้อในระดับคนชั้นกลางจนถึงระดับล่างลดลง อันเป็นผลมาจากราคาพืชผลทางด้านเกษตรตกต่ำ และค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อเทียบราคาสินค้าจำเป็นที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว แทบจะไม่เหลือให้พวกเขาอยู่ได้โดยไม่เป็นหนี้ และนี่เองคือต้นเหตุให้หนี้นอกระบบเติบโตอย่างรวดเร็วจนเกินศักยภาพของเจ้าหน้าที่จะทำการปราบปรามให้หมดไปได้ และเชื่อว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นตามเท่าที่ยังมีคนจน และไม่มีแหล่งเงินให้คนเหล่านี้เข้าถึงได้โดยง่าย
2. การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการให้ภายใต้ยี่ห้อประชารัฐ ซึ่งมุ่งเน้นการให้ในลักษณะลด แลก แจก แถม ในทำนองเดียวกันกับยี่ห้อประชานิยมของรัฐบาลในระบอบทักษิณ ซึ่งมีความล้มเหลวให้เห็นมาแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น ดังนั้น นโยบายในทำนองเดียวกันนี้ จึงไม่ใช่จะให้เศรษฐกิจรากหญ้าดีขึ้น ตรงกันข้าม ทำให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นเนื่องจากคนชั้นกลางกลายเป็นคนจน เนื่องจากรายได้ลดลงหรือเท่าเดิม แต่ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น อนุมานได้ว่า ถ้ารัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะยังคงมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในรูปแบบโดยคนหน้าเดิม คนจนจะยิ่งจน และแน่นอนว่าการเมืองจะต้องพบกับความวุ่นวายแน่นอน ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ตามข่าวที่ปรากฏออกมา งานทางด้านเศรษฐกิจจะยังเป็นคนหน้าเดิม
ดังนั้น แนวทางการบริหารคงจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยมาตรการลด แลก แจก แถม ในรูปแบบของประชารัฐ จะยังคงดำเนินต่อไป
แต่ในทางปฏิบัติคงจะไม่ราบรื่นเฉกเช่นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ มีผู้รู้และมีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จากพรรคพลังประชาชาติไทย คงจะไม่ยอมนิ่งดูดายให้ทีมงานทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การควบคุมดูแลของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมโดยง่าย และนี่เองอาจเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง และนำไปสู่ความแตกแยกภายในรัฐบาล จนทำให้รัฐบาลซึ่งมีเสียงปริ่มน้ำอยู่แล้ว มีอันเป็นไปไม่เกิน 1 ปีจากนี้ไป (ประมาณ พ.ย. 62-พ.ค. 63)
2. เงื่อนไขประการหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์คือ การแก้รัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และในการแก้ครั้งนี้ ประเด็นที่ควรจะแก้ไขคือที่มาของ ส.ว. และหน้าที่ของ ส.ว.ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อเกื้อหนุนการสืบทอดอำนาจ อันเป็นประเด็นที่คาใจของผู้ที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ยิ่งอารยประเทศในโลกตะวันตก
แต่ถ้ามีการขอแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ จะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคร่วมที่ขอแก้อย่างแน่นอน
ปัจจัยทั้งสองประการข้างต้น จะเป็นเหตุให้รัฐบาลอยู่ได้ไม่นานแน่นอน
เมื่อรัฐบาลไม่มีเอกภาพ และมีเงื่อนไขอันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งมีอยู่ตลอดเวลา ความหวังที่จะได้เห็นการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจให้ดีขึ้นคงเป็นไปได้ยาก