xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนสิทธิบัตรต่างชาติ ระบุ “กัญชารักษาโรคมะเร็ง” ประเทศไทยควรจะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

แพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทยจำนวนมากยืนยันว่า กัญชาไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ โดยให้เหตุผลว่าไม่เคยมีงานวิจัยในมนุษย์ที่สรุปว่าสารสกัดกัญชาหรือกัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประเทศไทยกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษไม่สามารถจะวิจัยในมนุษย์ได้มานานกว่า 40 ปี จึงไม่มีโอกาสที่จะวิจัยกัญชาในมนุษย์ได้

ประเทศไทยจึงต้องรองานวิจัยจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะรักษาอะไรได้ หรือรักษาอะไรไม่ได้

แม้ต่อให้จะวิจัยในมนุษย์ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนักวิจัยจะต้องผ่านด่านคณะกรรมการจริยธรรมในการวิจัยในมนุษย์ก็คงไม่ยินยอมที่จะให้กัญชามาวิจัยรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์โดยไม่ผ่านการรักษาในรูปแบบแผนปัจจุบันเสียก่อน ไม่ว่าจะการใช้การผ่าตัด การใช้คีโมบำบัด การฉายรังสี ยามุ่งเป้า ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ที่จะมีโอกาสที่จะเข้าสู่กระบวนการวิจัยการใช้กัญชาในมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการรักษาแผนปัจจุบันมาก่อนแล้วเท่านั้น

เมื่อกลุ่มผู้ป่วยผ่านการรักษาแผนปัจจุบันและไม่ตอบสนอง และเข้าสู่ระยะประคับประคอง สิ้นหนทางรักษาแล้ว เมื่อนำผู้ป่วยเหล่านี้มาวิจัยใช้กัญชาแล้วไม่ได้ผล เพราะผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตแล้วจึงค่อยมาใช้กัญชา โอกาสกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จะหายป่วยจากโรคมะเร็งได้เป็นเรื่องที่ยากมากถึงยากที่สุด

ด้วยเหตุผลนี้ การใช้กัญชามาใช้วิจัยในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงไม่มีทางที่จะได้ข้อสรุปว่ากัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้หรือไม่ เพราะแม้แต่การรักษาแผนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถรักษาได้ งานวิจัยกลุ่มผู้ป่วยที่วิกฤติมาใช้กัญชากลุ่มนี้ จึงมักได้รับคำตอบว่ากัญชาไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้

และถึงแม้สมมติว่ากัญชาจะสามารถใช้รักษาโรคจริงๆ ขึ้นมา แต่เมื่องานวิจัยในมนุษย์ที่ต้องผ่านกระบวนการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันมาก่อนเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะมีข้อสรุปว่า กัญชาใช้เป็นยาเสริมและหายจากการรักษาต่อจากการแพทย์แผนปัจจุบัน

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมงานวิจัยในเรื่องกัญชาที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งในมนุษย์ทั้งหมดจึงจบลงเพียงแค่ว่า “กัญชาช่วยลดผลข้างเคียงในการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน” ก่อนเท่านั้น เพราะถึงแม้จะหายจากกัญชาก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าหายได้ด้วยกัญชาหรือการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันกันแน่

และสมมติว่ามีนักวิจัยค้นพบว่าสารสกัดกัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้จริงๆ ขึ้นมา ก็ต้องมีการใช้เงินทุนอย่างมหาศาล (และคงมีแต่กลุ่มทุนบริษัทยาใหญ่ๆ เท่านั้นที่ทำได้) นักวิจัยเหล่านี้ก็คงไปจดสิทธิบัตรเพื่อผูกขาดการรักษาเพื่อการคืนทุนจากงานวิจัยนั้น ซึ่งจะเป็นผลทำให้สารสกัดกัญชาเพื่อมารักษาโรคมะเร็งนั้นจะต้องมีราคาสูงจากค่าสิทธิบัตรเหล่านั้นอย่างแน่นอน รวมไปถึงพันธุ์พืช และวิธีการปลูกก็เป็นของต่างชาติทั้งหมด

เช่นเดียวกับคนที่เป็นแพทย์แผนไทยจำนวนมากที่เป็นหมอยาต่างยืนยันว่ากัญชาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเป็นยารักษาโรคมะเร็งได้ ก็เพราะด้วยเหตุผลว่าไม่เคยมีตำรับยาไทยในอดีตระบุว่ากัญชาเพียงอย่างเดียวจะสามารถรักษาโรคมะเร็งได้เลย แต่ตำรับยาไทยก็มีการรักษาอาการที่ถูกตีความว่าเป็นโรคมะเร็งในยุคนี้ เช่นบางกลุ่มโรคที่เรียกว่า “ฝี” หรือ “กระษัย” เป็นต้น

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะกัญชาไทยในอดีตไม่เคยแยกสกัดสารแต่ละชนิดของกัญชาออกมากเหมือนกับงานวิจัยในยุคปัจจุบัน เรามีข้อมูลและองค์ความรู้หยุดเอาไว้เมื่อ 40 กว่าปีก่อน แต่ในขณะที่โลกตะวันตกต่างมีงานวิจัยออกมาเป็นจำนวนมากขึ้น มีข้อมูลใหม่มากขึ้น และเร่งจดสิทธิบัตรออกมามากขึ้น ก่อนที่โลกตะวันออกจะเริ่มไหวตัวกลับมาปลดล็อกกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดังที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

ในขณะที่งานวิจัยที่เกี่ยวกับกัญชาในหลอดทดลองว่าสารสกัดกัญชาหลายชนิดออกฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตายได้ ในขณะที่งานวิจัยในสัตว์ทดลองออกมามากขึ้นว่ากัญชาสามารถช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้เช่นเดียวกัน แต่งานวิจัยทั้งหมดที่เผยแพร่ให้เราได้ค้นหาได้ยังไม่มีงานวิจัยในมนุษย์ที่จะสรุปว่ากัญชาสามารถช่วยยับยั้งหรือรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ และตราบใดที่ไม่มีการทดลองในสัตว์ทดลองก่อน ก็จะไม่สามารถผ่านคณะกรรมการจริยธรรมในการวิจัยในมนุษย์ได้ด้วย

และนี่คือเหตุผลว่าโลกฝั่งตะวันออกซึ่งเสียรู้ให้กัญชาเป็นยาเสพติดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่สามารถที่จะตามทันสิทธิบัตรของงานวิจัยในต่างประเทศได้ ในขณะที่บริษัทต่างชาติเมื่อวิจัยจนรู้ “ข้อมูลใหม่” ต่างทยอยจดสิทธิบัตรกัญชาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะเปิดเผยงานวิจัยเหล่านี้ในภายหลัง

แต่นับว่าเป็นความโชคดีที่ภาคประชาสังคม ดังเช่น ไบโอไทย กลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ มูลนิธิสุขภาพไทย และมหาวิทยาลัยรังสิต แพทย์และเภสัชกรผู้รักชาติ ต่างรวมพลังออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรต่างชาติมาก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลว่าเพราะในเวลานั้นกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ

แต่เมื่อประเทศไทยได้ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติไปแล้ว คำถามคือเราควรจะถอดบทเรียน “ข้อมูลใหม่” เกือบถูกจดสิทธิบัตรกัญชาในการรักษาโรคมะเร็งของบริษัทข้ามชาติที่ผ่านมาหรือไม่? เราควรจะรู้เท่าทันและแก้เกมเล่ห์เพทุบายของกลเกมธุรกิจยาข้ามชาติหรือไม่?

ดังตัวอย่างเช่น คำขอสิทธิบัตรของ บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด เลขที่คำขอ 1201004672 เลขที่คำขอพีซีที PCT/GB2011/050487 ซึ่งยื่นคำขอวันที่ 11 มีนาคม 2554 กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศโฆษณาคำขอวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งยกคำขอเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2562 แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าบริษัทดังกล่าวมีการอุทธรณ์หรือไม่ อย่างไรก็ตามความน่าสนใจคือชื่อสิ่งประดิษฐ์ตามคำขอนี้คือ

“ไฟโตแคนนาบินอยด์ในการรักษามะเร็ง”

คำว่า “ไฟโตแคนนาบินอยด์” ก็คือ กลุ่มสารสกัดกัญชาที่มาจากพืชกัญชาโดยมีบทสรุปของการประดิษฐ์นี้มีข้อความแปลเป็นภาษาไทยว่า

“การประดิษฐ์นี้เกี่ยวกับการใช้งานของไฟโตแคนนาบินอยด์ (phytocannabinoids) ทั้งในรูปแบบที่ถูกแยกโดดเดี่ยว หรือรูปแบบสสารยาที่มาจากพืช (botantical drug substance (BDS)) ในการรักษาของมะเร็ง โดยที่พึงประสงค์ มะเร็งที่จะถูกรักษาคือ มะเร็งของต่อมลูกหมาก, มะเร็งของเต้านม, หรือมะเร็งของโคลอน”

กล่าวโดยสรุปก็คือสิทธิบัตรฉบับนี้ได้ระบุว่าสารสกัดจากสมุนไพรกัญชา “รักษา” โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ เมื่อยกเลิกคำขอดังกล่าวนี้ไปแล้ว ก็ย่อมเป็นผลทำให้สิ่งที่ยื่นคำขอไปนั้นไม่เป็นความลับอีกต่อไป เพราะมีการเปิดเผยข้อมูลไปแล้วทั้งสิ้น

การจดสิทธิบัตรในครั้งนั้นทำให้เราได้เบาะแสสำคัญว่าจากสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (สารจากกัญชา) ซึ่งมีหลายร้อยตัว บริษัทดังกล่าวได้ให้ความสนใจในสารกลุ่มแคนนาบินอยด์บางตัวเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อมะเร็งแต่ละชนิด ได้แก่ CBD, CBG, CBDV, CBDA, THC, THCV, THCVA, CBDA, CBC นอกจากนี้ยังได้แสดงผลการใช้ควบคู่กับฮอร์โมน หรือ ยารักษามะเร็งอีกด้วย

เช่นเดียวกับผลงานวิจัยของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตค้นพบว่าสาร CBN ช่วยยับยั้งมะเร็งปอดในหนูทดลองได้ !!!

องค์ความรู้ข้างต้นดังที่กล่าวมานี้ นับเป็น “ข้อมูลใหม่” ที่นักวิจัย เภสัชกรไทย แพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์แผนไทยไม่ควรจะมองข้ามเลย เพราะถ้าแพทย์แผนปัจจุบันมองข้ามก็แปลว่าคนไทยต้องไม่เชื่อว่าสารสกัดกัญชาสามารถยับยั้งหรือรักษาโรคมะเร็งได้ และจะต้องรอให้งานวิจัยตีพิมพ์มาก่อนพร้อมกับค่าสิทธิบัตรใหม่ก่อนเท่านั้น ในขณะเดียวกันหากแพทย์แผนไทยมองข้ามก็แปลว่าเราไม่สามารถพัฒนาตำรับยาใหม่ด้วย”ข้อมูลใหม่”เหล่านี้ได้เลยเช่นกัน

เพราะถ้าเราสามารถถอดองค์ความรู้ข้างต้นได้แล้ว ก็จะนำไปสู่ไม่เพียงแต่การกำหนดพันธุ์พืชเพื่อให้ได้สารสำคัญตามลักษณะของโรคที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์ไปถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวเพื่อมารักษา การใช้กัญชาสดหรือกัญชาแห้ง รวมไปถึงการสกัดด้วยวิธีใด และใช้อุณหภูมิเท่าใด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม จริงหรือไม่?

แต่เชื่อเถิดว่า ถ้าจะพัฒนาเป็นยาสมัยใหม่สกัดเฉพาะสารสำคัญอย่างเดียว เราคงจะต้องผ่านมาตรฐานคณะกรรมการจริยธรรม ทั้งหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และการทดลองในมนุษย์อีกมาก ดังนั้นนอกจากจะต้องใช้เงินอย่างมหาศาลแล้ว ยังต้องใช้เวลาอีกนานมากด้วย ซึ่งประเทศไทยคงไล่ไม่ทันที่ทันการจดสิทธิบัตรต่างชาติเหล่านี้เป็นแน่ และผู้ป่วยก็คงจะต้องพึ่งพายากัญชาต่างชาติแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งๆที่ในทุกวันนี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งซึ่งแอบใช้น้ำมันกัญชาไทยก็มีอยู่มาก ดังนั้นหากช้าออกไปเพื่อมุ่งเน้นแต่การทำยาที่เป็นสารสกัดทางเคมีแบบยาสมัยใหม่ ประเทศไทยก็คงจะไม่มีโอกาสพัฒนาและนำมาใช้ให้ตรงตามโรคที่เป็นได้
วิธีการซึ่งจะสามารถรักษาประโยชน์ชาติให้ได้เร็วที่สุดในเวลานี้คือ ทำให้น้ำมันกัญชากลายเป็นพืชสมุนไพรในรูปแบบของยาแผนโบราณของไทย ที่ให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และแพทย์แผนปัจจุบันสามารถนำมาใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องสกัดแยกสารสำคัญออกมาเหมือนกับยาแผนปัจจุบัน

ซึ่งแนวทางนี้จะสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่ว่าให้ยาแผนโบราณสามารถนำมาใช้ในมนุษย์ได้โดยไม่ต้องทำการวิจัยเหมือนกับยาแผนปัจจุบัน แล้วเราค่อยมาพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเน้นสารสำคัญตามองค์ความรู้ในปัจจุบันในภายหลังได้

คำถามแรก คือเราจะหาเหตุผลใดที่จะช่วยกันสรุปได้ว่า “วิธีการ” สกัดน้ำมันกัญชาเป็นยาสมุนไพรแผนไทยโบราณหรือไม่ ?

คำตอบแรก ก็คือ ในปัจจุบันยาแผนโบราณหรือยาแผนไทยมีการพัฒนากรรมวิธีการปรุงยาและการผลิตยามากกว่ากรรมวิธีเดิม 28 วิธี ยกตัวอย่างเช่น การตอกเม็ดยาแบบแผนปัจจุบัน การทำยาผงด้วยกรรมวิธีสเปรย์ดราย เป็นต้น

คำถามคือยาแผนไทยมีการใช้การดองสุรา (เอทานอล) เพื่อดึงสารสำคัญจากสมุนไพรหรือไม่ คำตอบคือ “มี” และยังมีการใช้สุราเป็นน้ำกระสายเพื่อดึงสารสำคัญของสมุนไพรออกมาด้วย

คำถามต่อมาคือ เรามีการใช้ความร้อนเพื่อสกัดเอาสารละลายที่ดึงสารสำคัญออกไป ไม่ว่าน้ำ หรือสุรา เพื่อเหลือแต่สารสำคัญหรือไม่ คำตอบคือ “มี” เช่นกัน

คำถามต่อมาอีก คือ หากมีการพัฒนาสายพันธุ์พืช หรือเป็นสมุนไพรต่างชาติ แพทย์แผนไทยสามารถนำมาใช้ในรูปของสมุนไพรชนิดนั้นหรือไม่ คำตอบก็คือ แพทย์แผนไทยสืบทอดวิชาความรู้จากอายุรเวทของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่ระบุว่า ไม่มีสมุนไพรในโลกที่ไม่เป็นยา ดังตัวอย่างที่ประเทศไทยได้มีการใช้ “โสม” หรือ “ยิงสม” ซึ่งมาจากประเทศจีนให้กลายมาเป็นตำรับยาไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เฉกเช่นเดียวกับ ขี้ผึ้ง ยาควินิน ซึ่งเป็นของต่างชาติ หรือแม้แต่ในปัจจุบันคือ เห็ดหลินจือ แพทย์แผนไทยก็สามารถนำมาใช้ปรุงยาได้ทั้งสิ้น ดังนั้นหากมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเน้นสารสำคัญจาก “ข้อมูลใหม่” ก็ย่อมสามารถทำได้เช่นเดียวกัน

หลักฐานข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการแพทย์แผนไทยเป็นการแพทย์ที่มีการพัฒนาตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะตำรับเท่าที่มีในอดีตเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จะต้องกำหนดนโยบายในเรื่องนี้ให้มีความชัดเจน

ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับน้ำมันกัญชามากที่สุดก็คือ การสกัดยาสมุนไพรตัวเดี่ยวด้วยเอทานอลร้อยละ 95 แล้วทำการระเหยเอทานอลออกไป จากนั้นจึงนำสารสกัดที่ได้ไปผสมกับกลีเซอรีนกลายเป็นรูปแบบใหม่ ของยาแผนโบราณ เช่น “ยากลีเซอรีนพญายอ” ของอภัยภูเบศร์ ซึ่งขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา เป็น “ยาแผนโบราณ” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ซึ่งปัจจุบัน นอกจากจะรักษาเริม ร้อนในแล้ว ผลงานวิจัยยังพบว่าสามารถนำมาช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุช่องปากในระหว่างที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งฉายรังสีได้อีกด้วย

ดังนั้นกรรมวิธีการสกัดสารสมุนไพรแบบองค์รวม (Whole Extract)โดยไม่แยกสารสำคัญทางเคมีแต่ละชนิดออกมา จึงย่อมเป็นกรรมวิธีผลิตยาแผนไทย ตราบเท่าที่ยังไม่มีการระบุตัวเลขร้อยละของสารสำคัญออกฤทธิ์ที่แน่นอน

และหากสมมุติว่าหน่วยงานของรัฐเป็นห่วงสารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทที่ชื่อว่า THC เพียงตัวเดียวและคิดว่าอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนนั้น วิธีการที่ควรจะเป็นก็คือขอเพียงแค่คำนวณกลับว่าน้ำมันกัญชาไทยต่อหนึ่งหน่วยบริโภคว่าไม่ควรเกินเท่าไหร่ โดยอาจเทียบเคียงกับหนึ่งหน่วยบริโภคของยาแผนปัจจุบันที่มีการใช้กันหลายประเทศ เช่น มีสาร THC ไม่เกิน 2.7 มิลลิกรัม (เช่น ยาซาติเวกซ์) โดยเทียบกับมาเป็นน้ำมันกัญชาไทยเข้มข้นหรือเจือจางแล้วไม่เกินกี่หยด เพียงเท่านี้น้ำมันกัญชาไทยก็สามารถมีมาตรฐานความปลอดภัยในเรื่องสาร THC เฉกเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ของต่างชาติแล้ว และตำรับยาไทยทั้งหมดก็ไม่เคยปรากฏว่ามีตำรับใดที่กำหนดให้มีแต่ดอกกัญชาเพื่อใช้ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่มีสาร THC เกินกว่า 2.7 มิลลิกรัมเช่นกัน

คำถามที่สอง กรณีเป็นสมุนไพรตัวเดี่ยวเป็นตำรับยาแผนโบราณหรือยาแผนไทยได้หรือไม่?

คำตอบที่สอง คือ สมุนไพรตัวเดี่ยวก็เป็นยาแผนโบราณหรือยาไทยได้ ยกตัวอย่างเช่น สมุนไพรตัวเดี่ยวหลายตัวที่พัฒนาขึ้นมาเป็นตำรับยาแผนโบราณหรือยาแผนไทยตัวเดี่ยว ในรูปของยาลูกกลอน ยาเม็ด ยาแคปซูล หรือยาชง เช่น ยาขมิ้นชัน ยาฟ้าทะลายโจร ยาเห็ดหลินจือ ยาชุมเห็ดเทศ ยาชงหญ้าหนวดแมว ยาชงมะขามแขก ยาเถาวัลย์เปรียง ยากระเทียม เป็นต้น ดังนั้นการใช้สมุนไพรกัญชาเป็นยาแผนไทยตัวเดี่ยวจึงย่อมทำได้เช่นกัน

คำถามที่สาม กรณีการใช้กัญชาในรูปของ “สารสกัด” สมุนไพรตัวเดี่ยว เป็นยาแผนโบราณหรือเป็นยาแผนไทยได้หรือไม่?

คำตอบที่สาม คือ ได้ ตัวอย่างยารับประทาน เช่น ยาน้ำมันกระเทียมแคปซูลเจน ยาต้ม หรือยาดองเหล้าแก้ปวดเมื่อย ไพลดำ ม้ากระทืบโรง กำลังวัวเถลิง ฯลฯ ยาใช้ภายนอก เช่น ยาน้ำมันไพล ขี้ผึ้งหรือเจลไพร เจลพริก ขี้ผึ้ง เสลดพังพอน กลีเซอรีนพญายอ (เสลดพังพอนตัวเมีย) เป็นต้น

นอกจากนั้นหากยอมรับว่าน้ำมันกัญชาไทยนั้นเป็นตำรับยาแผนโบราณหรือแผนไทยแล้ว นอกจากจะปลอดภัยไม่แพ้สารสกัดกัญชาของต่างชาติแล้ว ด้วยองค์ความรู้ของ “รสยา” ในการแพทย์แผนไทยซึ่งมีบันทึกประวัติการใช้กัญชามาอย่างยาวนานนี้เอง เราจะสามารถพัฒนาน้ำมันกัญชาในรูปแบบของตำรับยาของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยซึ่งจะช่วยลดผลข้างเคียงและผลเสียของกัญชา และเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำมันกัญชาได้อีกด้วย

หากภาครัฐมีความกล้าหาญและเห็นแก่ประโยชน์ของชาติจริง ก็ควรประกาศให้ชัดเจนว่า “น้ำมันกัญชา” เป็นผลิตคภัณฑ์ที่มีกรรมวิธีการสกัดสารสมุนไพรแบบองค์รวม (Whole Extract)โดยไม่แยกสารสำคัญทางเคมีแต่ละชนิดออกมานั้นเป็นกรรมวิธีของการผลิตยาแผนไทย

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น