xs
xsm
sm
md
lg

การเรียนการสอนกฎหมายในประเทศไทยมาถูกทางหรือไม่ ?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต
(สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ในฐานะของนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งต้องข้ามไปเรียนวิชากฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ จุฬา 5-6 วิชาในระดับปริญญาตรี ผมเองจำได้ดีว่าตัวเองไม่ค่อยชอบวิชากฎหมายมากนัก และเรียนได้ได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

วิชากฎหมายมีสิ่งที่จะต้องจำได้เยอะมากมีตัวบทและมาตราต่าง ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจ เราต้องจดจำให้ได้เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ตอบในข้อสอบได้ ทั้งยังมีฎีกาซึ่งเป็นคำพิพากษาและวางแนวในการตีความหมายอีกเป็นจำนวนมาก ในแต่ละมาตราก็จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นแนวทางในการตีความกฎหมายแต่ละมาตรานั้น และหลายครั้งก็มีความรู้สึกว่าคำพิพากษาศาลฎีกาขัดกับสามัญสำนึกทางจริยธรรม แต่เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้นและแนวทางของศาลฎีกาเป็นเช่นนั้น ซึ่งมักจะมีความคงเส้นคงวา แต่ก็ต้องพยายามจำให้ได้ เผอิญคนแบบผมขี้เกียจจะจำอะไร และไม่ใส่ใจจะจำหรือเรียน ทำให้เสียดายโอกาสมาก ที่เมื่อโตมาแล้วจึงเห็นความสำคัญยิ่งและความจำเป็นของกฎหมายที่ทุกคนต้องรู้

ถึงแม้จะไม่ได้เรียนกฎหมายมาโดยตรง แต่ได้ไปเรียนรวมกับนิสิตคณะนิติศาสตร์ในหลายวิชา ทำให้พอจะวิจารณ์ได้ว่า การเรียนการสอนกฎหมายในประเทศไทยเน้นไปที่ตัวบทกฎหมาย และเป็นการตีความกฎหมายในแง่ของตัวบท เช่นจะตอบคำถามว่า อะไรคือกฎหมาย (What is law?)

แนวทางหลักในการเรียนการสอนกฎหมายในประเทศไทยเดินตามแนวทางนี้ “อะไรคือกฎหมาย” มาโดยตลอด แนวทางในการเรียนการสอนกฎหมายเช่นนี้เน้นที่ตัวบทกฎหมายและแนวทางคำพิพากษาในการวินิจฉัยหรือตีความกฎหมายเป็นแนวทางกระแสหลักในการเรียนการสอนกฎหมายในประเทศไทย ยิ่งในสมัยอดีตซึ่งจำนวนคณาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์มีไม่มากนัก การเรียนการสอนยังต้องอาศัยอาจารย์พิเศษจากหน่วยราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศาลมาเป็นผู้สอนค่อนข้างมาก การที่มีผู้พิพากษาจากศาลมาเป็นผู้สอนนั้นก็เป็นเรื่องดีเพราะเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการใช้กฎหมาย ในการวินิจฉัยกฎหมายโดยตรงจากผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจพิพากษาคดี ช่วยทำให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเห็นแนวทางในการวินิจฉัยกฎหมายได้ตรงกับสภาพความเป็นจริงตามที่มีการวินิจฉัยอยู่ แต่ก็มีคำถามว่าการเรียนการสอนให้เหมือนกับสิ่งที่ปฏิบัติจริงเพียงอย่างเดียวนั้นจะเป็นการพายเรือวนในอ่างหรือไม่

ปัญหาที่น่าคิดก็คือถ้าหาก ผู้พิพากษา มีความรู้จำกัดแต่เพียงความรู้ทางกฎหมายแล้วนั้นแต่ยังขาดประสบการณ์ชีวิต (ในกรณีที่พึ่งเริ่มต้นมาเป็นผู้พิพากษาหรือผู้ช่วยผู้พิพากษา) หรือขาดความรู้ความเข้าใจในสาขาวิชาอื่น ๆ ในโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิชาการแพทย์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนวิศวกรรมศาสตร์และสาขาวิชาอื่น การเรียนการสอนกฎหมายที่รู้เพียงกฎหมายอย่างเดียวจะเป็นการแคบเกินไปหรือไม่

ยิ่งระบบการเรียนการสอนกฎหมายไทยนั้นแตกต่างจากในต่างประเทศในหลายประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นปริญญาใบที่สองหรือ Second degree ผู้ที่จะมาเรียนวิชากฎหมายจะได้รับปริญญา JD ได้นั้น ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อน แล้วจึงมาเรียนกฎหมายเพิ่มเติม แล้วจึงไปสอบเนติบัณฑิตหรือที่เรียกว่าสอบ Bar ในภายหลังจึงสามารถทำหน้าที่ทนายความหรือไปสอบเป็นอัยการหรือไปสอบเป็นผู้พิพากษาได้ในภายหลัง

ในขณะนี้ แม้กระทั่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเองผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์หรือจบทาง JD โดยตรงอย่างเดียวนั้น เริ่มหางานได้ยากมากขึ้นเพราะความรู้ทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการทำหน้าที่นักกฎหมายหรือทนายความหรือกระทั่งผู้พิพากษา คดีในโลกนี้ย่อมไปเกี่ยวพันกับสาขาวิชาอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก และก้าวข้ามพ้นเพียงความรู้ทางกฎหมายไปไกลมาก

ผมมีเพื่อนซึ่งจบปริญญาเอกทางด้านชีวเคมีแล้วไปเรียนต่อทางด้านนิติศาสตร์ในภายหลัง ความเชี่ยวชาญด้านชีวเคมีทำให้เขาสามารถอ่านบทความวิจัยในวารสารชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับการค้นคิดยาใหม่ ๆ และความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมายที่ไปเรียนเพิ่มเติมมาทำให้เข้าใจในประเด็นของสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนกฎหมายทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอย่างดี เพื่อนคนนี้ทำหน้าที่เป็นทนายความให้กับบริษัทยาข้ามชาติได้ผลตอบแทนสูงมาก และดูแลด้านสิทธิบัตรตลอดจนคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเกิดจากผลการใช้ยา ได้รายได้สูงมาก

เพื่อนอเมริกันคนนี้ได้เล่าให้ฟังว่าแม้กระทั่งในวงการผู้พิพากษาก็อยากจะได้ผู้พิพากษาซึ่งจบปริญญาตรีในสาขาอื่นไม่ว่าจะเป็น การเงิน เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์มากกว่าที่จะจบรัฐศาสตร์แล้วมาเรียนต่อทางด้านนิติศาสตร์โดยตรงอันเป็นที่นิยมกันมากในสหรัฐอเมริกา เพราะผู้ที่จบรัฐศาสตร์อย่างเดียวแล้วมาเรียนต่อทางด้านนิติศาสตร์จะมีความรู้ที่ค่อนข้างแคบเฉพาะในวงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองแต่ไม่มีความรู้ในสาขาอื่น ๆ ที่ข้ามศาสตร์ แต่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานด้านกฎหมาย

หากพิจารณาเช่นนี้การเรียนการสอนนิติศาสตร์ในประเทศไทยซึ่งเน้นไปที่การเรียนกฎหมายและการตีความวินิจฉัยตัวบทกฎหมายตลอดจนการประยุกต์ใช้ตัวบทกฎหมายหรือการเรียนรู้ว่ากฎหมายคืออะไรเพียงอย่างเดียวอาจจะมีข้อจำกัด และหากผู้พิพากษาไทยไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ด้านอื่น ๆ แล้ว จะตัดสินคดีที่เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านอื่น ๆ ได้ยากลำบากมากขึ้น ในขณะเดียวกันศาลไทยก็มีแผนกคดีต่าง ๆ เฉพาะเจาะจงมากขึ้นเช่นศาลคดีทรัพย์สินทางปัญญา ศาลคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากผู้พิพากษามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้น ก็น่าจะทำให้ผลการตัดสินมีความสมเหตุสมผล คำถามคือการเรียนการสอน กฎหมายไทยควรจะต้องปรับตัวด้วยหรือไม่

แนวทางหนึ่งอีกทางหนึ่งคือสนใจไปที่ปรัชญาของกฎหมายหรือนิติปรัชญ าแนวทางนี้ต้องการตอบคำถามว่าทำไมหรือ Why is law?

ที่คณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ช่วยแก้ปัญหา จุดอ่อน ที่เกิดจากการเรียนกฎหมายด้วยแนวทางที่ 1 ด้วยการสอนวิชานิติปรัชญา ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ น่าเป็นคนแรกซึ่งสอนวิชานิติปรัชญาให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาก็มีรองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย เป็นผู้สอนต่อ ฝั่งจุฬาฯคณะนิติศาสตร์ก็มีการสอนการใช้เหตุผลทางกฎหมาย (Legal reasoning) ดังที่ศาสตราจารย์วิชามหาคุณได้เขียนตำราการใช้เหตุผลทางกฎหมายเอาไว้

แนวทางนี้เป็นแนวทางว่ากฎหมายในอุดมคติหรือการให้เหตุผลทางกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร เพราะในหลายครั้งกฎหมายเองก็ร่างขึ้นโดยที่มีสภาพบังคับแต่ปราศจากการให้เหตุผลที่สมควร หรือตีความตามลายลักษณ์อักษรแล้วขัดกับหลักวิญญูชนหรือแม้แต่หลักสุจริตก็ตาม

แนวทางนี้เป็นแนวทางที่อาจจะกล่าวได้ว่ามองว่ากฎหมายควรจะมีสภาพอุดมคติอย่างไร ควรจะเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น เนื่องจากแนวทางที่ 1 ยึดตัวบทมากจนกระทั่งขาดการให้เหตุผลในเชิงกฎหมายที่ดีพอ และอาจจะขัดแย้งกับสามัญสำนึกทางกฎหมายหรือสามัญสำนึกทางจริยธรรมด้วยซ้ำไป

เมื่อเดือนก่อนผมได้มีโอกาสฟังการบรรยายโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยมจากคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ได้กล่าวถึงแนวทางที่ 3 ในการศึกษากฎหมายซึ่งวงการนิติศาสตร์ของไทยแทบจะละเลยหรือ ไม่ให้ความสำคัญเลยนั่นคือ

การศึกษากฎหมายตามสภาพที่เป็นจริงและมีการบังคับใช้หรือกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษากฎหมายในแง่ของพฤติกรรมทางกฎหมาย (Legal Behavior) หรือ กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างไร (How is law prosecuted?)

ประเด็นนี้น่าสนใจมากเพราะว่าประเทศไทยเรามีกฎหมายเยอะมาก แต่ขาดการบังคับใช้จริงว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถบังคับใช้จริงได้ หรือมีการบังคับใช้ในทางที่ผิดๆ หรือไม่เหมาะสม หรือไม่สมเหตุสมผลเป็นอันมาก

อาจารย์ ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร นักวิชาการด้านกฎหมาย ได้เล่าให้ผมฟังว่าในต่างประเทศ การเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาหรือปริญญาโทปริญญาเอกทางด้านกฎหมายนั้นรวมการวิจัยเชิงปริมาณและพฤติกรรมศาสตร์อย่างเข้มข้น ซึ่งมีความจำเป็นเพราะต้องศึกษาผลของกฎหมายที่มีต่อพฤติกรรมมนุษย์ และศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งนำไปสู่การบัญญัติกฎหมาย ตลอดจนผลของการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์และต่อสังคม ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

ยกตัวอย่างเช่น การบังคับให้เปิดไฟตัดหมอกในประเทศเมืองหนาวแม้ในเวลากลางวันเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ มีการทำวิจัยประเมินผล (Evaluation research) ในลักษณะของการวิจัยกึ่งทดลองแบบอนุกรมเวลา (Quasi time-series experiment) เพื่อประเมินผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายการเปิดไฟตัดหมอกในเวลากลางวันว่าสามารถลดอุบัติเหตุลงได้จริงหรือไม่ เมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้วผู้คนปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับให้เปิดไฟหน้ารถตัดหมอกหรือไม่

การศึกษาในหลายประเทศทั้งในสวีเดนและสหรัฐอเมริกาได้ชี้ชัดเจนว่าการเปิดไฟตัดหมอกในเวลากลางวันนั้นลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้ ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนบุคคล รถบรรทุก หรือรถแท็กซี่ ก็ตาม ผลการศึกษาผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ทำให้เกิดการปรับปรุงและเกิดการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้กฎหมายทำหน้าที่ขับดันและเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้

อีกตัวอย่างคือการร่างกฎหมายบังคับควบคุมการถือครองอาวุธปืน (Gun control law) ในสหรัฐอเมริกาก็มีการเก็บสถิติเปรียบเทียบระหว่างรัฐที่อนุญาตให้ถือครองอาวุธปืนกับรัฐที่ไม่อนุญาตให้ถือครองอาวุธปืน ตลอดจนเปรียบเทียบก่อนและหลังจากการมีกฎหมายควบคุมการถือครองอาวุธปืนว่าสถิติอาชญากรรมที่เกิดจากการใช้ปืนตลอดจนการฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปืนนั้น จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ เป็นการใช้ความรู้ในการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อศึกษาพฤติกรรมการบังคับใช้กฎหมายว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด เป็นแนวทางประจักษ์นิยม (Empiricism)

แนวทางนี้คือการเรียนการสอนกฎหมายโดยศึกษาสภาพความเป็นจริงและศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ที่เกิดจากกฎหมายตลอดจนกฎหมายที่เกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ เป็นแนวทางที่นิติศาสตร์ศึกษาในประเทศไทยแทบจะไม่สนใจและหากจะปรับมาเรียนสอนในแนวทางนี้ก็จะเป็นความยากลำบากไม่ใช่น้อยเพราะคนเรียนกฎหมายจำนวนมากไม่สันทัดเรื่องคณิตศาสตร์หรือสถิติศาสตร์มากนัก

อันที่จริงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 77 ได้บัญญัติเรื่องการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory impact assessment: RIA) เอาไว้ดังนี้

มาตรา ๗๗ รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์
การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

รัฐธรรมนูญมาตรา 77 ว่าด้วยการประเมินผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย RIA นี้เป็นแนวทางที่สามอย่างชัดเจน คือศึกษากฎหมายและพฤติกรรมกฎหมายตามที่มีการบังคับใช้จริง ทำให้เห็นกฎหมายอย่างที่เป็นจริงในหมู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย การศึกษากฎหมายในแนวทางนี้ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยไม่มากทีเดียวครับ

คำถามคือถ้านิติศาสตร์ศึกษาในไทยจะเดินตามแนวทางนี้ อาจจะต้องเรียนวิชาอะไรเพิ่มเติมบ้างและปรับวิธีการเรียนการสอนอย่างไร อย่างแรก อาจจะต้องเรียน หนึ่ง วิชาสถิติกับกฎหมาย ซึ่งในต่างประเทศใช้หลักฐานทางสถิติในศาลกันมากพอสมควร สอง วิชาการสำรวจประชามติและความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งต้องนำไปใช้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อทำ RIA ได้ดีมากขึ้น สาม วิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์กับนิติศาสตร์ ที่นักกฎหมายต้องทราบคอมพิวเตอร์และนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับข้อมูลใหญ่ (Big data) ที่อาจจะช่วยเป็นหลักฐานในทางคดีและในการทำ RIA เช่นกัน

คณะนิติศาสตร์ ในประเทศไทยน่าจะได้ลองคิดดูว่าจะจัดนิติศาสตร์ศึกษาในประเทศไทยตามแนวทางที่สามนี้ได้หรือไม่อย่างไร หรืออาจจะยังไม่จำเป็นนัก เพราะรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะอยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่นักและมาตรา 77 ว่าด้วย RIA ก็อาจจะถูกยกเลิกหายไปในไม่ช้า?


กำลังโหลดความคิดเห็น