ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนที่นิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์ และลงคะแนนให้พรรคนี้ตลอดมาทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จนเรียกได้ว่าเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ก็ว่าได้
คนเหล่านี้รู้สึกผิดหวัง และไม่อยากเชื่อว่าพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีอายุการจัดตั้งยาวนานถึง 73 ปีจะพ่ายแพ้พรรคการเมืองเกิดใหม่ เช่น พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ แบบหมดรูป ซึ่งไม่ต่างไปจากนักมวยระดับแชมป์ และรองแชมป์ต้องมาพ่ายแพ้นักมวยรุ่นใหม่ที่ดังขึ้นมาแบบม้ามืด
จริงอยู่ในการพ่ายแพ้แก่พรรคพลังประชารัฐ อาจมีเหตุผลในการแก้ตัวว่า เนื่องจากมีอำนาจเกื้อหนุนคู่แข่ง ทำให้ ปชป.เสียเปรียบ แต่การพ่ายแพ้ต่อพรรคอนาคตใหม่จะมีข้อแก้ตัวว่าอย่างไร นอกจากยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะกระแสคนรุ่นใหม่แห่ไปเทคะแนนให้พรรคนี้ เนื่องจากเมื่อพฤติกรรมของนักการเมืองรุ่นเก่า และต้องการให้โอกาสแก่พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมีคนรุ่นใหม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ปชป.ได้ ส.ส. 52 คนทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อซึ่งรวมกันจากจำนวน ส.ส. 500 คนหรือเท่ากับ 10.4% ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับพรรคเก่าแก่เช่นพรรคประชาธิปัตย์ และจากการพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้คนใหม่เข้ามาบริหารพรรค และในวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเลือกหัวหน้าพรรค ผลปรากฏว่า คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
ดังนั้น จากนี้ไป ปชป.จะก้าวไปในทิศทางที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กำหนด
แต่อย่างไรก็ตาม ในทันทีที่กรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ได้มีภารกิจที่รอการตัดสินใจอยู่ 2 ประการคือ
ประการแรก คือ การประชุมเพื่อหารือจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่เข้าร่วม และถ้าเข้าร่วมจะร่วมกับฝ่ายใด ระหว่างฝ่ายที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และฝ่ายที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ หรือถ้าไม่เข้าร่วมกับทั้งสองฝ่ายข้างต้น จะเป็นฝ่ายที่ 3โดยร่วมกับพรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเอง
หัวหน้าพรรคประการที่สอง คือ ปรับปรุงพรรคให้มีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ส่วนในครั้งนี้ยอมเป็นฝ่ายค้านอิสระทำงานแบบสร้างสรรค์คือ ค้านเมื่อเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลจะทำก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ และประชาชนโดยรวม และสนับสนุนเมื่อเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลจะทำก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนโดยรวม พร้อมกันนี้ก็ดำเนินการปรับปรุงพรรคโดยการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนดังต่อไปนี้
1. เตรียมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมกำกับการใช้ความรู้ ความสามารถ โดยการสรรหาบุคคล ทั้งด้วยระบบอุปถัมภ์ และระบบคุณธรรมจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อรองรับการพัฒนาพรรคให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาประเทศ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยรวม
2. จัดทำนโยบายของพรรคเพื่อรองรับการเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศในแต่ละด้าน และเพิ่มศักยภาพของประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังนี้
2.1 จัดตั้งคณะทำงานศึกษาค้นคว้า และวิจัยในด้านต่างๆ เพื่อนำผลที่ได้มาเป็นแนวทางกำหนดนโยบายของพรรค เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศในกรณีที่พรรคได้เป็นรัฐบาล และเป็นแนวทางเสนอแนะรัฐบาลในกรณีที่พรรคเป็นฝ่ายค้าน
2.2 คณะทำงานในแต่ละด้าน จะต้องลงมือทำการศึกษาสภาพปัญหาของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ร่วมกับสถาบันทางการศึกษา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ
2.3 นำผลที่ได้จากการดำเนินงานของคณะทำงานในแต่ละด้าน เสนอต่อคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำผลงานที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
ถ้า ปชป.ดำเนินการให้เป็นไปตามนี้ได้ ผู้เขียนเชื่อว่า จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งสมกับเป็นพรรคเก่าแก่ และเป็นสถาบันทางการเมืองได้อีกครั้ง
แต่ถ้า ปชป.เข้าร่วมเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะกับฝ่ายที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โอกาสที่ ปชป.จะกลับมาเป็นพรรคที่แข็งแกร่งดังที่เคยเป็นคงจะเป็นไปได้ยาก ในทางตรงกันข้าม โอกาสที่พรรคนี้จะเล็กลงและกลายเป็นพรรคต่ำกว่า 100 เป็นไปได้มาก