xs
xsm
sm
md
lg

เคาะ10ตำรับยาหมอพื้นบ้าน มี"กัญชา-กระท่อม"ส่วนผสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คณะกรรมการฯ เห็นชอบ 5 หลักเกณฑ์ พิจารณาตำรับยาหมอพื้นบ้านที่มี "กัญชา" ปรุงผสม เผยเสนอเข้ามาแล้ว 59 ตำรับ จาก 22 จังหวัดทั่วประเทศ พิจารณาแล้ว 15 ตำรับ ผ่าน 10 ตำรับ เช่น ตำรับยาตัดราก แก้เรื้อนกวาง โรคผิวหนัง น้ำเหลือง , ตำรับยาแก้สารพัดโรค แก้ลำไส้ทุกชนิด โรคลม 108 จำพวก เสมหะ หืดหอบ ตำรับยาแก้ลูกหมากปวดบวม ไส้เลื่อน จ่อเคาะเพิ่มเติม 12 มิ.ย.นี้

นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมและการใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมปรุงผสมอยู่ในหน่วยบริการสาธารณสุข ของรัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯได้พิจารณาและเห็นชอบ ร่างหลักเกณฑ์การพิจารณารับรองตำรับยาปรุงเฉพาะรายที่มีกัญชาปรุงผสมของหมอพื้นบ้าน โดยจากนี้จะเสนอคณะกรรมการอำนวยการการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์แผนไทย ที่มีอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นประธาน พิจารณา และส่งคณะกรรมการยาเสพติด เห็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย

สำหรับเกณฑ์การพิจารณา มี 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. เป็นตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา และต้องมีสมุนไพรมากกว่า 1 ชนิด เพราะองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย ไม่ได้ปรุงสมุนไพรเดี่ยว และใช้หลายตัวปรุงเป็นตำรับขึ้น เพื่อให้มีความกลมกล่อมแบบอาหารไทย มีการเสริมฤทธิ์ ต้านฤทธิ์ ขจัดพิษของกันและกัน เป็นต้น

2. มีแหล่งความรู้ที่อ้างอิงหรือมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การตั้งสูตรตำรับและกรรมวิธีการปรุงยาตามองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยหรืออื่นๆ เช่น ตำรา คัมภีร์ ครูหมอ ตำรับยาแผนไทยของชาติ ที่คณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมปรุงผสมเห็นสมควร

3. มีประสบการณ์ในการใช้ตำรับยาผสมกัญชา มีหลักฐานที่แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย

4. ควรพิจารณาตัวยาสมุนไพรที่เป็นวัตถุอันตรายตามเกณฑ์ข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งใช้ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนตำรับยา เนื่องจากหมอพื้นบ้านบางท่านมีการนำสารวัตถุธาตุ เช่น สารหนู สารปรอท มาผสม ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์ของอย. พิจารณาว่า สารวัตถุอันตรายเหล่านี้ควรมีไม่เกินเท่าไร ต้องมีการแจ้งเตือนผู้รับยาให้ระมัดระวังและมีระบบติดตามผลข้างเคียง5.หลักเกณฑ์อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการฯ เห็นสมควร

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังพิจารณารับรองตำรับยาหมอพื้นบ้านที่มีกัญชาปรุงผสม โดยอาศัยหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อ ดังกล่าว ซึ่งมีการเสนอเข้ามาทั้งสิ้น 59 ตำรับ จากทุกภาคทั่วประเทศรวม 22 จังหวัด พิจารณาไปได้แล้ว 15 ตำรับ โดยผ่านการรับรอง 10 ตำรับ ไม่ผ่านการรับรอง 5 ตำรับ ทั้งนี้ ตำรับที่ผ่านการรับรอง เช่น 1. ตำรับยาตัดราก ของพ่อหมอบุญมี เหนียวแน่น อ.เสาตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มีสมุนไพรผสม 14 รายการ รวมทั้งกัญชาด้วย โดยนำเอาไปต้มแล้วดื่มครั้งละครึ่งแก้ว สรรพคุณแก้อาการโรคผิวหนัง เรื้อนกวาง สะเก็ดเงิน แก้น้ำเหลืองเสีย โดยมีข้อมูลการใช้แล้วกว่า 300 ราย ซึ่งดูแล้วสมุนไพร มีความปลอดภัย ปรุงถูกต้องตามหลักวิชาการ

2. ตำรับยาสมุนไพรแก้สารพัดโรค ใช้สมุนไพรผสม 24 รายการ สรรพคุณแก้โรคเรื้อนกวาง ริดสีดวง โรคลำไส้ทุกชนิด โรคลม 108 จำพวก แก้เสมหะ หืดหอบ เมื่อตรวจสอบดูแลตำรับนี้ มีอยู่ในคัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเรียกว่า ยาประสะกัญชา แต่หมอพื้นบ้านไปใช้ก็ไปเรียกตามชื่อของเขาเอง ซึ่งตำรับนี้ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมเกือบครึ่งหนึ่ง

3. ตำรับยาสมุนไพรแก้ลูกหมากปวดบวม ใช้สมุนไพร 16 รายการ มีกัญชาเป็นส่วนผสม แต่ไม่มาก คือ ร้อยละ 5 ของน้ำหนัก ระบุว่า แก้ปวดลูกหมาก ไส้เลื่อน วิธีปรุง คือ อบแห้ง บดเป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้งแท้ มีคนไข้เคยใช้ยา 500 คน นี่ถือเป็นตัวอย่างของที่ผ่านการรับรอง โดยจะมีการประชุมพิจารณารับรองตำรับยาหมอพื้นบ้านที่เหลือเพิ่มเติม ในวันที่ 12 มิ.ย. 62 ระหว่างนี้ก็ได้มอบข้อมูลทั้ง 59 ตำรับ ให้แก่กรรมการได้อ่านเตรียมตัวมาก่อน เพื่อประหยัดเวลาในการพิจารณาในที่ประชุม ซึ่งครั้งหน้าคิดว่า น่าจะสรุปได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยตำรับยาที่ผ่านการรับรอง จะต้องเสนอคณะกรรมการอำนวยการฯ และคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณาด้วย ซึ่งเมื่อผ่านแล้ว หมอพื้นบ้านจะสามารถนำมาใช้ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ของตนได้ทันที

เมื่อถามว่า มีตำรับใดที่มีสรรพคุณเรื่องโรคมะเร็ง หรือไม่ นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า มะเร็งทางการแพย์แผนไทย จะใช้ว่า น้ำเหลืองเสีย กับฝี ซึ่งก็มีตำรับยาตัดราก ที่พูดถึงแก้น้ำเหลืองเสีย ซึ่งมีสมุนไพรข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ และหัวร้อยรู เป็นส่วนผสม ซึ่งมีการวิจัยชัดเจนแล้วว่า สมุนไพรเหล่านี้ ช่วยดูแลผู้ป่วยมะเร็งในลักษณะของน้ำเหลืองเสีย
กำลังโหลดความคิดเห็น