xs
xsm
sm
md
lg

ให้พรรคกู้เงินรอดยากปัญหาที่พ่อของฟ้าก่อเอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ภายหลังจากที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ไปเล่าให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า เขาให้พรรคยืมเงิน 110 ล้านไปใช้ในการหาเสียง ก็มีคำถามว่า การเป็นพรรคการเมืองนั้นสามารถยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคได้หรือไม่

ผมไม่ได้สนใจนะครับที่สื่อไปจับผิดขุดคุ้ยว่า จริงๆ แล้วยืมกันเท่าไหร่แน่ 250 ล้าน 110 ล้าน หรือ 90 ล้าน เพราะมันไม่ใช่ประเด็นเลย ประเด็นมันอยู่ที่ว่า พรรคยืมเงินได้ตามกฎหมายหรือไม่เท่านั้นเอง

แต่ถ้าเราไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ระบุถึงที่มาของรายได้ไว้ใน มาตรา 62

มาตรา 62 พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง
(2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ
(3) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
(4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค
(6) เงินอุดหนุนจากกองทุน
(7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

แน่นอนจากมาตรานี้ ไม่ได้เขียนไว้เลยว่า พรรคการเมือง สามารถหารายได้จากการยืมหนี้สินได้ แต่กำหนดไว้ว่า รายได้ของพรรคการเมืองนั้นต้องมีที่มาอย่างไรบ้าง ถ้ามีรายได้นอกจากที่เขียนบังคับไว้ในมาตรา 62 นี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วกฎหมายยังเขียนกำหนดการใช้เงินของพรรคการเมืองไว้อย่างเคร่งครัด แม้จะไม่ได้เขียนไว้ตรงๆว่า พรรคการเมืองกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นได้หรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ มีบางคนพยายามอธิบายว่า พรรคการเมืองสามารถยืมหนี้ได้ตามนิยามของ คำว่า ประโยชน์อื่นใน(7)ที่อธิบายไว้ในมาตรา 4 ว่า “ประโยชน์อื่นใด” หมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทําให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย

แต่แม้จะอ้าง “ประโยชน์อื่นใด” ก็จะไปติดกับดักในมาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาทต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว

พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้

แล้วยังมีบทบัญญัติโทษไว้ในมาตรา 124 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดห้าปี ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทําของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย

และมาตรา125 พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กําหนดไว้ในมาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกําหนดห้าปี และให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กําหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน

เมื่อรู้ว่าไม่สามารถอ้างได้ว่า เป็นเงินยืมโดยชอบในฐานะ “ประโยชน์อื่นใด”ตามมาตรา 62(7)ได้ เพราะมันเกิน 10 ล้าน คุณพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคก็อธิบายว่า เงินยืมเป็น “รายจ่าย” ไม่ใช่ “รายได้” ดังนั้นจึงไม่มีข้อห้ามตามกฎหมาย และนักกฎหมายมหาชนระดับเอกอุอย่าง ปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคก็อ้างเช่นเดียวกันว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้


โฆษกพรรคอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 135/2550 ที่ศาลภาษีพิพากษาฎีกาว่า การกู้ยืมเงินของจำเลยที่ถูกฟ้องเรียกเก็บภาษีว่า เงินที่จำเลยกู้ยืมถือเป็นรายจ่ายจึงไม่ต้องมีภาระในการเสียภาษี ทั้งนี้ศาลระบุว่า เป็นผลทำให้โจทก์ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินมาซื้อที่ดินจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นต้นทุน หาใช่ค่าใช้จ่ายธรรมดาในการดำเนินธุรกิจการค้าหากำไรของโจทก์ไม่

นั่นเป็นเรื่องของศาลภาษีที่ตีความเรื่องภาระการยื่นภาษีจากเงินที่กู้ยืมมาว่าเงินก้อนที่ยืมมานั้นเป็น “รายจ่าย” ที่ต้องคืนดังนั้นถือเป็น “หนี้” จึงไม่ต้องเสียภาษี แต่น่าจะเป็นคนละเรื่องของเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองที่กำหนดที่มาของรายได้เอาไว้ และนิยามเอาไว้ในความหมายของคำว่า “ประโยชน์อื่นใด” อย่างชัดแจ้งแล้ว เจตนารมณ์ของกฎหมายภาษีกับเจตนารมณ์ของกฎหมายพรรคการเมืองจึงแตกต่างกัน

ในทางกฎหมายเอกชนนั้นอาจจะถูกต้องครับว่า อะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้ามเอาไว้สามารถทำได้ เพราะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ แต่ในทางกฎหมายมหาชนนั้น กฎหมายจะกำหนดไว้ว่าอะไรที่สามารถทำได้ และกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ให้พรรคกู้เงินได้แต่กฎหมายกำหนดที่มาของรายได้ไว้ เงินที่ธนาธรให้ยืมจึงน่าจะเป็นเงินตามมาตรา62(7)คือรายได้ที่มาตามนิยามของ “ประโยชน์อื่นใด”

การเอามาอ้างว่า ทำได้เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้เพราะเป็น “รายจ่าย” จึงเป็นเรื่องของศรีธนญชัย

ถ้าพรรคการเมืองกู้ยืมแบบนี้ทำได้แล้วอ้างว่า เป็นรายจ่ายไมใช่รายได้ทั้งที่กฎหมายกำหนดที่มาของรายได้รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้เงินไว้อย่างเคร่งครัด ต่อไปใครจะตั้งพรรคก็หาเจ้าสัวมาสักคน ทำสัญญาให้กู้ยืมเงินหมื่นล้าน จะคืนเมื่อไรก็ได้ จะเอาดอกเบี้ยหรือไม่ก็ได้ แล้วลองคิดดูว่าคนให้พรรคกู้ยืมจะมีอิทธิพลเหนือพรรคไหม

แล้วเมื่อเงินกู้เป็นเงินตามมาตรา62(7)คือ “ประโยชน์อื่นใด” ไม่สามารถอ้างแบบแถไถว่าเป็น “รายจ่าย” ที่ไม่มีกฎหมายห้ามได้ จึงเกินเพดานที่มาตรา 66 บังคับไว้ว่าไม่เกินสิบล้านบาท ดังนั้นการกระทำความผิดจึงเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องรับโทษตามมาตรา 124และ125 นั่นคือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกําหนดห้าปี และให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กําหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุน

และหากศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองบัญญัติไว้นี้ ก็ย่อมจะเป็นความผิดที่ธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ก่อขึ้นเอง และยอมรับสารภาพออกมาเอง

แต่ยังมีบางคนส่งเสียงว่าฝ่ายกุมอำนาจรัฐเอากฎหมายมากลั่นแกล้งธนาธร หรือส่งเสียงว่าอย่าไปบังคับใช้กฎหมายกับธนาธรนะเดี๋ยวจะบานปลาย ราวกับธนาธรเป็นบุคคลที่อยู่เหนือกฎหมายเสียนี่กระไร

แต่ถ้าจะมองว่า ธนาธรถูกใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้ง ถูกใช้กฎหมายมาเล่นงานนั้น ต้องอธิบายให้ได้ก่อนว่า ข้อกล่าวหาที่ธนาธรโดนนั้นไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่างไร และทำไมธนาธรจึงเป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ที่ไม่ควรถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย

ทำไมมองว่าธนาธรถูกกลั่นแกล้ง ในคดีความต่างๆ ทั้งในเรื่องการถูกกล่าวหาว่าพาผู้ต้องหาหลบหนี การถือครองหุ้นสื่อที่เป็นบทต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และรวมถึงเรื่องล่าสุดด้านบนที่มีผู้ร้องแล้วเรื่องการอ้างว่าให้เงินพรรคกู้ยืม ฯลฯ

การอ้างว่า ธนาธรกำลังเป็นที่นิยมมีพลังมวลชนมาก และถ้าดำเนินคดีกับธนาธรอาจส่งผลกระทบต่อประเทศชาติหรือส่งผลเสียมากกว่านั้น มันสะท้อนอะไรครับ นอกจากจะบอกว่า การบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องเลือกปฏิบัติกับแต่ละบุคคลที่ต่างกันเช่นนั้นหรือ คนใช้กฎหมายต้องดูตาม้าตาเรือ ถ้าจะไปบังคับใช้กฎหมายกับคนแบบนั้นแบบนี้เดี่ยวจะได้ไม่คุ้มเสียอย่างนั้นหรือ

ถ้าอย่างนั้นบ้านเมืองเราควรจะปกครองกันอย่างไร ไม่ต้องมีหลักนิติรัฐใช่ไหม เลือกปฏิบัติกันไป หรือกฎหมายไม่ควรบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันเช่นนั้นหรือ

ธนาธรจะถูกจะผิดก็เรื่องหนึ่งสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมจะต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่ทำไมเวลาธนาธรถูกดำเนินคดีมันกลายเป็นการกลั่นแกล้งไปได้ การมองว่าธนาธรมีพลังมีมวลชน มีคนสนับสนุนมาก ไม่ควรเอาผิดกับธนาธร มันเป็นตรรกะที่ถูกต้องชอบธรรมอย่างไร

ถ้าจะศรัทธาหรือชื่นชอบในตัวธนาธรก็ว่ากันไปสิครับ ยิ่งทำตัวเป็นคนมีอุดมการณ์ ศรัทธาประชาธิปไตยก็ต้องเข้าใจว่าบ้านเมืองต้องมีหลักกฎหมายหลักการปกครองที่ต้องทำให้ทุกคนอยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน เมื่อทำตัวให้เกิดข้อสงสัยที่อาจจะเข้าข่ายกระทำผิดถึงอ้างว่าว่าดีเลิศอย่างไรก็มีข้อยกเว้นไปไม่ได้หรอก

ธนาธรเองก็พูดเสมอว่า เข้ามาทำงานการเมือง เพื่อต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย มีนิติรัฐเท่าเทียมกัน ดังนั้นถ้ารักธนาธรชื่นชมบูชาก็ต้องยอมให้ธนาธรพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่ใช่ส่งเสียงโวยวายว่าอย่าดำเนินคดีกับธนาธรแล้วใช้คำพูดบิดเบือนจนกลายเป็นการกลั่นแกล้งธนาธร เพราะทำแบบนี้เหมือนกับการทำร้ายธนาธรผู้ที่เคารพหลักนิติรัฐเหนืออื่นใด

ไม่ใช่ชื่นชมธนาธรแล้วดัดจริตประดิษฐ์วาทกรรมเท่ๆให้ตัวเองดูเหมือนมีหลักการ ส่งเสียงด่าทอประจานประเทศตัวเองกล่าวหาว่า ธนาธรกำลังถูกกลั่นแกล้งใช้อำนาจรัฐเล่นงาน ทั้งที่เสียงที่ส่งออกมานั้นนั่นแหละกำลังบิดเบือนหลักการของกฎหมายและทำลายหลักนิติรัฐเสียเอง

เรื่องการให้พรรคกู้ยืมนั้นจึงเรื่องที่ธนาธรกระทำต่อตัวเอง และอาจขัดต่อข้อกฎหมายอย่ามาบิดเบือนว่าใครใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งให้เสียเวลาเลย พ่อนักหลักการผู้เรียกร้องความเป็นธรรมทั้งหลาย

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น