xs
xsm
sm
md
lg

สภากาแฟเพื่อประชาชน เรื่องที่ 3 คำพูดเป็นนายของเรา

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 โดยมีหัวข้อข่าวที่น่าสนใจคือ นายกฯ อ้างโปรดเกล้าฯ เบรกวิจารณ์ ส.ว.ย้อนการเมืองก็มีแต่คนเก่า พร้อมป้อง “บิ๊กติ๊ก” (จากผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/politics/detail/9620000046637)

รายละเอียดของข่าวโดยสรุปมีดังนี้

เมื่อวันที่ 15พ.ค.เวลา 16.00 น. ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ได้ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการวิจารณ์สมาชิกวุฒิสภาว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาแล้ว จำไว้นะ อะไรที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ที่ส่งมาแล้ว ที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยมาแล้ว ทุกอย่างมีการตรวจสอบทั้งหมด ทำไมคุณถึงไม่แยกแยะ การเมืองที่เข้ามาก็เห็นแต่คนเก่าๆ เข้ามาทั้งนั้น และทำไมคนพวกนี้ที่เป็นคนเก่าๆ ถึงเข้ามาทำงานไม่ได้ ในเมื่อเขาเข้ามาสานต่องาน ตนก็ต้องเลือกคนที่รู้งานมา ส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด มีตั้ง 250 คน มีสักกี่คนที่เข้าไปไม่เกิน 1ใน 2 อยู่แล้ว”

รูปที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
*http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/835254 ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ได้รายงานข่าวในหัวข้อข่าว “บิ๊กตู่” ยันวุฒิสภาชุดนี้ดีกว่าสภาผัวเมีย (จาก https://www.thaipost.net/main/detail/35835) โดยสรุปว่า

“14 พ.ค.62 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ประกาศออกมา ล้วนเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดนายกฯ และรองนายกฯ จนเปรียบว่าไม่ต่างจากสภาผัวเมียว่า ให้ลองไปเปรียบเทียบดูว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาออกกฎหมายได้กว่า 500 ฉบับ แต่สมัยก่อนออกได้กี่ฉบับ จะไปเปรียบเทียบกันไม่ได้............”

การให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 และวันที่ 15 พ.ค. 62 สามารถสรุปสาระสำคัญได้ 2 ประการคือประการแรก พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ จึงได้ออกกฎหมายมาใช้ได้มากกว่า 500 ฉบับ และประการที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ มีความเห็นว่า เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ (แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา) มาแล้วถือว่าทุกอย่างได้มีการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว (จึงไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์อีกต่อไป-แปลความหมายจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี)

การพูดให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งในวันที่ 14 และวันที่ 15 พ.ค. ได้ทำให้มีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าว ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจะขอนำคำพูดของนายกรัฐมนตรี มาพิจารณาว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ และสมควรที่จะพูดเช่นนี้หรือไม่

2. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ระบุถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ในหมวดที่ 3

2.1 รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในมาตราต่างๆดังนี้

(1) มาตรา 25 ระบุว่า

“สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่นบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น.......................................................”

(2) และมาตรา 34 ได้ระบุว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”

โดยสรุปก็คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ให้ความคุ้มครองบุคคลในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตราบใดที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นถ้าไม่ไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ แล้ว ประชาชนทุกคนก็สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้อย่างเต็มที่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้แล้ว

3. ความคิดเห็นต่อคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้สัมภาษณ์ในวันที่ 14 และวันที่ 15 พ.ค.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้กล่าวว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาแล้ว จำไว้นะ อะไรที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ที่ส่งมาแล้ว ที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยมาแล้ว ทุกอย่างมีการตรวจสอบทั้งหมด.......” (จากข้อ 1)

จากคำพูดข้างต้นอาจเข้าใจได้ว่า เมื่อ ส.ว.ได้รับการโปรดเกล้าฯ มาแล้ว ถือว่าได้รับการพิจารณากลั่นกรองมาแล้ว ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรอีกในทำนองเดียวกันถ้าจะคิดต่อไปว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ และรมต.ทุกคนได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว ประชาชนคนไทยรวมทั้งสื่อมวลชน ก็คงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่วนตัวและเรื่องการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ และรวมทั้งของรมต.ทุกคนใช่หรือไม่

คำพูดดังกล่าวย่อมทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องการนำพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลต่างๆ มาปกป้องตนเองโดยมุ่งที่จะปรามผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ (การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา) ให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์การคัดเลือก ส.ว.ของตนเองเพราะรายชื่อ ส.ว.ส่วนใหญ่ก็เป็นคนใกล้ชิดหรือเป็นพรรคพวกคนกันเองซึ่งมาจากการทูลเกล้าเสนอของพล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

การพูดเช่นนี้จะทำให้ประชาชนบางกลุ่มคิดและมองในแง่บวก แต่ก็อาจมีบางกลุ่มคิดและมองในแง่ลบได้เหมือนกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความรู้สึกแบ่งแยก (เพราะบางส่วนอาจเห็นคล้อยตามคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็มีบางส่วนอาจเห็นโต้แย้งคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์) จนอาจขยายกลายเป็นความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนในสังคมในเวลาต่อมา

กรณีนี้อาจเปรียบได้กับการที่พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในหลายโอกาส แล้วมักจะพูดจาแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา ซึ่งทำให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดความรู้สึกไม่ชอบพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อความรู้สึกไม่ชอบพล.อ.ประยุทธ์ สะสมเพิ่มมากขึ้น ก็อาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ชอบทหารทั้งกองทัพไปเลย โดยกรณีนี้ได้ทำให้ประชาชนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มแรกคือ กลุ่มประชาชนที่ยอมรับทหาร และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ไม่ชอบทหาร หรือเกลียดทหารซึ่งพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย ได้นำความรู้สึกไม่ชอบทหาร มาใช้เป็นแนวนโยบายในการหาเสียง และได้ทำให้พรรคการเมืองทั้งสามได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากกลุ่มประชาชนที่ไม่ชอบทหาร จนทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาในสภาเป็นจำนวนมาก ดูรูปที่ 2

รูปที่ 2 จำนวนส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
*https://www.bbc.com/thai/thailand-48182876 ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย และดัดแปลงโดย ว. นาทะสิริ
จากรูปที่ 2 จะพบว่า พรรคเพื่อไทย ยังได้ ส.ส.เขต มากเป็นอันดับหนึ่ง, พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเพิ่งตั้งได้ไม่นาน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาชน (ที่ไม่ชอบทหาร) โดยพรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.เป็นจำนวน 80 คน เป็นอันดับ 3 ของพรรคทั้งหมดที่ลงเลือกตั้ง และพรรคเสรีรวมไทยได้ ส.ส.จำนวน 10 คน เป็นอันดับ 6 ของพรรคทั้งหมด

4. บทสรุป

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศมานานร่วม 5 ปี และได้ร่วมงานกับนักการเมืองเก่าๆ ของพรรคพลังประชารัฐ (ได้ส.ส.เขต 97 คน) แต่ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทย (ซึ่งได้ ส.ส.เขตมากที่สุดจำนวน 136 คน) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา

ทำไมผลการเลือกตั้งจึงเป็นเช่นนี้ มีผู้อ่านหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นและเหตุผลต่างๆ ซึ่งพอสรุปเหตุผลสำคัญได้ 2 ประการ ประการแรก คือ ผลการทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งรวมทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังไม่ส่งผลในด้านบวกอย่างชัดเจนต่อประชาชนฐานราก คือ ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรไม่เพียงไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐเท่านั้น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัวเช่นที่เคยเป็นมาอีกด้วย เนื่องจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำมาอย่างยาวนานได้อย่างเป็นผล

ประการที่สอง เป็นสาเหตุที่มาจากการพูดจาและแสดงอารมณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้ทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังและได้เห็นในสื่อต่างๆ รู้สึกไม่พอใจและเกลียดชังพล.อ.ประยุทธ์เพิ่มมากขึ้น จนลุกลามไปเกลียดทหารทั้งกองทัพ (เปรียบเสมือนเป็นการผลักให้ประชาชนส่วนหนึ่งหันไปสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย นั่นเอง) และถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่แก้ไขวิธีการพูดจา และยังแสดงอารมณ์ดุดันของตนอีกต่อไป ก็น่าเชื่อว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เพียงจะทำให้ประชาชนไม่พอใจและเกลียดชังทหารเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นยังอาจกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองต่างๆ ตามมาในอนาคตอีกด้วย(เมื่อเกลียดแล้ว ไม่ว่าจะทำงานดีอย่างไร ก็ยากที่จะคนยอมรับ)

ท้ายบทความ:

ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง และเป็นอดีตข้าราชการกองทัพบก จึงขอฝากความคิดเห็นมายังนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนี้

(1) มีคำกล่าวว่า “คำพูดเป็นนายของคนทุกคน” ดังนั้นเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นผู้นำแล้ว ก็ควรต้องคิดก่อนที่จะพูดออกมา ไม่ควรพูดโดยไม่คิดให้รอบคอบ ไม่ควรแสดงอารมณ์ดุดันต่อใครคนใดคนหนึ่งในที่สาธารณะ และไม่ควรนำสถาบันมากล่าวอ้างในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเด็ดขาด

(2) การที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นบุคคลที่มีความรู้มีความสามารถ จึงได้ออกกฎหมายมาใช้ได้มากกว่า 500 ฉบับ ขอแย้งว่า จำนวนกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติฯ ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้หรือยืนยันว่า กฎหมายทุกฉบับทุกเรื่องที่ผ่านสภานิติบัญญัติฯ จะมีความเหมาะสมมีประสิทธิภาพ และไม่มีปัญหา เพราะการเร่งรีบออกกฎหมาย อาจพิจารณาไม่รอบคอบ และมีหลายท่านให้ความเห็นว่า หน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่ต่างเร่งรีบเสนอกฎหมายต่างๆ ที่จะทำให้หน่วยงานของตนมีอำนาจมากขึ้น หรือเพื่อต้องการขยายหน่วยงานของตนหรือขยายอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้น เพราะกลัวว่า ถ้าเป็นสภาใหม่ และรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว การออกกฎหมายต่างๆ อาจไม่สะดวกรวดเร็วเช่นในช่วงรัฐบาลและสภาที่มาจากการรัฐประหารนั่นเอง

ขอสรุปความคิดเห็นในเรื่องนี้


ขอยกตัวอย่างกฎหมายสำคัญที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 95 มีข้อความที่เปิดช่องให้คนต่างชาติเข้ามามีบทบาททางการเมืองของไทย โดยระบุว่า

“บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง...............”

ก. ความเป็นมาของคนต่างด้าว

การที่บุคคลต่างด้าวเข้ามาตั้งรกราก และมาประกอบอาชีพในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนรู้และไม่เคยยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยมาก่อน, ไม่เข้าใจและไม่มีความรู้สึกผูกพันใดๆ กับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันที่สำคัญต่างๆ ของไทย, นับถือศาสนาหรือมีความเชื่อที่แตกต่างหรือเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาและความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่, มีความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของชาติไทย และไม่เคยรับการรับราชการทหารหรือทำหน้าที่รับใช้ชาติตามกฎหมายไทย เป็นต้น

ข. ข้อความในรัฐธรรมนูญ ม. 95 ให้สิทธิแก่บุคคลที่เปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย

เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และได้เปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย (ไม่ว่าจะโดยหลักเกณฑ์ หรือโดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยการสมรสกับคนไทย) ก็จะได้สิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับคนไทย ไม่เพียงจะได้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 เท่านั้น แต่ยังได้สิทธิต่างๆ เช่น สิทธิได้รับการรักษาโรคต่างๆ ที่เรียกว่า “30 บาท รักษาทุกโรค” อีกด้วย

การให้สิทธิต่างๆ ดังกล่าวแก่บุคคลที่เปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย (เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560) โดยเท่าเทียมกับคนไทยที่เกิด เรียน เสียภาษีมาอย่างยาวนาน และได้รับบาดเจ็บจากการไปรับใช้ชาติ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมต่อคนไทยทั้งประเทศ

จากตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น จึงอาจอนุมานได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดจากสภานิติบัญญัติฯ แต่ก็ยังมีข้อความบางตอนที่ไม่เหมาะสม ควรได้รับการแก้ไขเพื่อความยุติธรรมต่อคนไทยส่วนใหญ่ในทำนองเดียวกันกฎหมายที่เร่งออกมาเป็นจำนวนกว่า 500 ฉบับ (ตามที่นายกฯ อ้างมา) บางฉบับก็อาจมีข้อความที่ไม่เหมาะสม (เพราะผ่านสภาฯ ด้วยความเร่งรีบ) และควรได้รับการพิจารณาแก้ไขด้วยเช่นกัน

(ขอขอบคุณที่มาของรูปภาพ และความคิดเห็นต่างๆ มา ณ ที่นี้ด้วย - ว. นาทะสิริ 23 พ.ค. 2562)


กำลังโหลดความคิดเห็น