ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ตามธรรมเนียมราชตระกูลซึ่งพระยศหรือคำนำหน้านามจะสอดคล้องกับพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันเป็นหลัก และเมื่อเปลี่ยนรัชกาลทุกครั้งก็จะมีการเฉลิมพระยศเจ้านายเสมอในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียมราชตระกูลดังกล่าว
ถ้าทรงเป็นลูกชายของพระเจ้าแผ่นดินก็จะถวายพระนามเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ เช่น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถ้าทรงเป็นลูกสาวของพระเจ้าแผ่นดินก็จะถวายพระนามเป็น พระเจ้าลูกเธอ เช่น
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ถ้าทรงเป็นพี่ชายของพระเจ้าแผ่นดินก็จะถวายพระนามเป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ เช่น
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เพราะทรงเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อนรัชกาลที่ 7 จะทรงสละราชสมบัติ ได้ทรงพระราชปรารภไว้กับบุคคลใกล้ชิด ดังที่หม่อมราชวงศ์ พฤทธิสาณ ชุมพล ได้เขียนบันทึกไว้ในบทความ สองกษัตริย์ ปกประชา-พลังแผ่นดิน ในรายงานประจำปีของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เอาไว้ว่า หากแผ่นดินตกไปอยู่ในสายของ“พี่แดง” ก็จะเป็นการดี เพราะ “พี่แดง” ทรงเป็นประชาธิปไตย มีน้ำพระทัยเมตตากว้างขวาง เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎร แม้ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติจะไม่ทรงระบุว่าต้องการให้พระองค์ใดสืบราชสมบัติก็ตามแต่ตามกฎมณเฑียรบาล ราชสมบัติก็ตกเป็นของสายของ “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์”
พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ต้นราชสกุลกิติยากร ทรงเป็นพระบิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) และทรงเป็นพระอัยกา (ปู่) ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นพระปัยกา (ปู่ทวด) ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ ซึ่งทรงเป็นพระราชบิดาและพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี
ถ้าทรงเป็นพี่สาวของพระเจ้าแผ่นดินก็จะถวายพระนามเป็น พระเจ้าพี่นางเธอ เช่น
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินี (พี่สาวร่วมบิดา-มารดา) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ถ้าเป็น cousin หรือลูกพี่ลูกน้องที่เป็นพี่สาว (ต่างบิดามารดา แต่บิดาหรือมารดาเป็นพี่น้องกับพระราชบิดา/พระราชมารดา ของพระเจ้าแผ่นดิน) ก็จะถวายพระนามเป็น พระเจ้าภคินีเธอ เช่น
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ถ้าทรงเป็นน้องชายของพระเจ้าแผ่นดินก็จะถวายพระนามเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ เช่น
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เป็นพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงบันทึกไว้ในพระราชพินัยกรรมว่า “หากมีพระราชโอรส ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ใคร่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ตามราชประเพณี” ภายหลังจึงทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) เนื่องจากทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ผู้ทรงฝึกการเป็นพระเจ้าแผ่นด้วยการตามเสด็จและถ่ายรูปพี่ชาย และทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยความจำเป็นจากเหตุการณ์อันเศร้าสลดยิ่ง
ถ้าทรงเป็นน้องสาวของพระเจ้าแผ่นดินก็จะถวายพระนามเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ เช่น
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นพระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเป็นพระเจ้าน้องนางเธอในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและตอนต้นรัชกาลที่ 6 ทรงออกงานร่วมกันในการต้อนรับแขกต่างประเทศเนื่องจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ยังไม่ทรงมีพระภรรยา ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยทรงเป็นเชษฐภคินี พี่สาวแท้ๆ ร่วมพระราชบิดา-พระราชมารดา ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงทรงเป็นพระปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
อย่างไรก็ตาม พระอิสริยยศพิเศษ ของเจ้านายฝ่ายหน้า ที่ทรงเป็นพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินนั้น มีคำนำหน้าพิเศษคือ สมเด็จพระอนุชาธิราช ซึ่งเป็นพระอิสริยยศที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นพระอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงดำรงตำแหน่งพระรัชทายาทในรัชกาลที่ 6 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงมีพระรัชทายาท อย่างไรก็ตามสมเด็จพระอนุชาธิราชทั้งสองพระองค์กลับเสด็จทิวงคตไปก่อนจึงโปรดสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชเพื่อให้ปรากฎพระเกียรติยศสืบไปว่า ทั้งสองพระองค์เคยทรงดำรงพระอิสริยยศที่พระรัชทายาทมาก่อน (คำอธิบาย โดยอาจารย์วรชาติ มีชูบท)
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี นาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 7 ชั้น) เมื่อวันที่ 5 ธันวา คม พ.ศ. 2520 ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช เฉลิมพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”
การเฉลิมพระยศเจ้านายนั้นมีแต่เพิ่มพระยศให้สูงขึ้น มิอาจลดพระอิสริยยศลงได้ ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงพระยศสูงสุดของฝ่ายในอยู่แล้ว ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตรมาแต่รัชกาลก่อน
การเฉลิมพระยศ จึงกลับไปใช้ทางอย่างโบราณราชประเพณี คือ “กรมสมเด็จพระ” เพื่อเฉลิมพระยศให้สูงขึ้นไปยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเฉลิมพระยศแก่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระกนิษฐาร่วมพระครรโภทร ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยมีพระบรมราชโองการดังนี้
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมา แต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็น พระโสทรกนิษฐภคินี ที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์ มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วยพระวิริยอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ
ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์
จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑
ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลศุภผลธนสารสมบูรณ์ วรเกียรติคุณอดุลยยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ
ประกาศ ณ วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน
สำนักพระราชวังให้ออกพระนามโดยย่อว่า “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”
ทั้งนี้พระราชอิสริยยศ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ไม่เคยมีปรากฎมาก่อนในกรุงรัตนโกสินทร์ และในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่อย่างใด พระราชอิสริยยศที่น่าจะใกล้เคียงมากที่สุด แต่ก็ยังทรงฉัตรขาวห้าชั้น คือ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ซึ่งเคยมีปรากฎสองพระองค์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานเพื่อเฉลิมพระยศพระรัชทายาท สองพระองค์เพื่อให้ปรากฎสืบไปว่าได้ทรงดำรงตำแหน่งพระรัชทายาทแม้จะทิวงคตไปแล้วก็ตาม
คำว่า กนิษฐา หรือ ขนิษฐา นั้นแปลว่าน้องสาว เป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่โดยปกติการเฉลิมพระยศเจ้านายที่เป็นน้องสาวจะใช้คำว่า พระเจ้าน้องนางเธอ การที่ทรงใช้คำพิเศษเฉลิมพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯในครานี้ คงจะเป็นพระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเฉลิมพระยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุดแต่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าพระองค์นั้น
การที่ทรงรับพระราชอิสริยยศสมเด็จพระ สยามบรมราชกุมารี และสัปตปฎลเศวตฉัตร นับว่าเป็นพระราชอิสริยยศสูงสุดของฝ่ายใน เพราะสมเด็จพระบรมราชินีและกรมพระราชวังบวร (วังหน้า) อันเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราชก็ทรงสัปตปฎลเศวตฉัตรเช่นกัน กล่าวได้ว่าทรงได้รับพระราชทานพระราชอิสริยยศสูงสุดของฝ่ายในมาแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้ว
นอกจากนี้เจ้านายฝ่ายในชั้นพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าในอดีตที่ได้รับพระราชอิสริยยศสูงถึง กรมสมเด็จพระ ก็มีเพียง พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร (พระบรมวงษ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ด้วยทรงเลี้ยงลูกกำพร้ามารดา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์มาด้วยพระองค์เอง เพราะสมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระราชมารดาสิ้นพระชนม์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ห้าจึงทรงเรียก เสด็จยาย และทรงถือว่าเสด็จยายมีพระคุณส่วนพระองค์เสมอเสมือนด้วยพระราชมารดา เมื่อคราวเสด็จไกลบ้านอันเป็นการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองเพื่อเจริญพระราชไมตรีให้สยามประเทศพ้นภัยลัทธิอาณานิคม ทรงพระสุบินว่าเสด็จยายทรงหุงข้าวแล้วทำข้าวคลุกกะปิถวาย ถึงกับทรงตื่นพระบรรทมมาหุงข้าวคลุกกะปิพระราชทานผู้ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งครานั้นด้วยพระองค์เอง คงเป็นเพราะความรักและความผูกพันอย่างมากที่สุด
เมื่อเสด็จยาย พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร สิ้นพระชนม์ ทรงให้ใช้คำว่า สวรรคต เสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีและทรงนุ่งขาวถวาย (ธรรมเนียมไทยแต่โบราณจะนุ่งขาวทั้งตัวให้กับบุพการีผู้มีพระคุณ และแต่งดำให้ผู้เสียชีวิตที่อาวุโสน้อยกว่า) ประดิษฐานพระศพในพระโกศทองใหญ่ (อันเป็นพระโกศสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน) อัญเชิญพระโกศบำเพ็ญพระกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (โดยธรรมเนียมราชสำนัก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจะประดิษฐานพระโกศเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไปเท่านั้น) ภายใต้เศวตฉัตร 5 ชั้น (อันเป็นฉัตรสำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า-แต่สมเด็จยายเป็นเจ้านายชั้นพระองค์เจ้า) ต่อมาพระราชทานเศวตฉัตร 7 ชั้น กางกั้นเหนือพระโกศ (อันเป็นฉัตรสำหรับสมเด็จพระบรมราชินีและกรมพระราชวังบวร)
สำหรับสร้อยพระนามสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สะท้อนให้เห็นความผูกพันและความจงรักภักดีที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าทรงมีต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สร้อยพระนามสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า สิริกิจการิณีพีรยพัฒน นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา ได้อธิบายว่า คำหลักคือ “การิณี” แปลว่าผู้ทำการงาน ประกอบศัพท์จากคำ “การ” ลงปัจจัย “อิน” แปลว่าผู้ทำ เสียง อี แสดงความเป็นเพศหญิง
“สิริกิจการิณีพีรยพัฒน” อาจแปลได้หลายทาง แต่น่าจะแปลโดยรวมได้ว่า “พระองค์ผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันสิริประเสริฐด้วย การพัฒนาอย่างวิริยะยิ่ง”
นับเป็นสร้อยพระนามอันสะท้อนพระอุปนิสัยขยันทรงงานเพื่อการพัฒนาด้วยความวิริยะอุตสาหะยิ่งแห่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
สร้อยพระนาม รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงผูกถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไว้นั้น ยังคงไว้เช่นดังเดิมเช่นที่ได้ทรงรับพระมหากรุณาธิคุณมาแล้วในรัชกาลที่ 9 ยังคงทรงเป็นสยามบรมราชกุมารีในดวงใจปวงประชาชนชาวไทยเสมอมาและตลอดไป
ในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย ขอให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงมีพระพลานามัยดีเยี่ยม เพื่อให้ทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นมิ่งขวัญแห่งปวงชนชาวไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
หมายเหตุ : ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กรุณาช่วยตรวจอ่านและวิจารณ์ร่างแรกของบทความนี้ทำให้ได้นำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงและได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมที่เป็นวิทยาทานแก่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก