xs
xsm
sm
md
lg

ประมูลขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟอืด ทลฉ.ปรับTORขยายสัญญาจ้าง5ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ท่าเรือแหลมฉบัง เร่งปรับ TOR ประมูลจ้างเอกชนบริหาร SRTO หลังบอร์ด กทท. เคาะยืดสัญญา จาก 1 ปีเป็น 5 ปี หวั่นจ้างสั้น เอกชนเมิน ยอมรับค่าภาระ 376 บ./ตู้ ต่ำมาก หากประมูลเหลว ต้องปรับเพิ่ม โอดเปิดใช้ตั้งแต่ปี 61 มีสินค้าแค่ 1 หมื่นตู้/เดือน แถมแบกค่าโอทีพนักงานเดือนละ 3 แสนบาท

เรือโทยุทธนา โมกขาว ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทลฉ.ได้เร่งปรับปรุง ทีโออาร์ ในการประมูลจ้างเอกชน ดำเนินงานยกตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟ และเคลื่อนย้ายสินค้าภายใต้ โครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) หลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ได้เห็นชอบขยายระยะเวลาจ้างจาก 1 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น และจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมประมูล โดยกำหนดอัตราค่าภาระไว้ที่ 376 บาทต่อตู้ คาดว่าจะประมูล และได้ตัวผู้รับจ้างภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้ โครงการ SRTO กทท.ลงทุนก่อสร้าง และจัดหาเครื่องมือเอง โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนก.ค. 61 แต่ยังไม่สามารถจัดจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการได้ กทท. ต้องให้บริการยกตู้สินค้าและขนส่งเอง โดยใช้พนักงานจากท่าเรือกรุงเทพ 6 คน มาทำการควบคุมเครื่องมือ ได้แก่ ปั้นจั่นยกตู้สินค้าชนิดเดินบนรางคร่อมรางรถไฟ (RMG) และ รถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้า (RTG) ในลานกองเก็บตู้สินค้า ซึ่งมีภาระค่าล่วงเวลาโอทีถึง 3 แสนบาท ต่อเดือน

ส่วนการขนสินค้า ไปยังท่าเรือต่างๆ ได้ประสานกับผู้ประกอบการ ให้เข้ามารับ โดยจากค่าบริการที่ 376 บาทต่อตู้ นั้นทลฉ.ได้รับส่วนแบ่งที่ 65 บาท ส่วนเอกชนที่เข้าขนสินค้าไปส่ง ได้รับ 312 บาท

สำหรับการจัดหาเอกชนเข้ามาดำเนินการ SRTO นั้นเป็นไปตามมติ ครม. โดย ทลฉ. กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้น ให้เอกชนจัดหากำลังประมาณ 100 คน สำหรับควบคุมเครื่องมือยกตู้สินค้า RMG และ RTG รวมถึงจัดหารถหัวลากพร้อมคนขับ สำหรับขนตู้สินค้าจากลานไปส่งตามท่าเรือต่างๆ ซึ่งโครงการ SRTO ได้ออกแบบสำหรับรองรับตู้สินค้า 2 ล้านตู้/ปี

ทั้งนี้ ครม. มีมติอนุมัติ ค่าภาระ SRTO ในอัตราขั้นต่ำ 376 บาท และขั้นสูงไม่เกิน 835 บาท ต่อตู้สินค้าทุกขนาด และทุกสถานภาพ ซึ่งในปีแรก ให้เก็บในอัตราขั้นต่ำ ที่ 376 บาท ขณะที่ SRTO ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนก.ค.61แล้ว ดังนั้นหลังเปิดประมูล หากไม่มีเอกชนยื่นประมูล อาจจะต้องเสนอบอร์ดกทท. ปรับค่าภาระให้เหมาะสม เนื่องจากเมื่อเทียบกับค่าบริการ ที่ผู้ประกอบการอื่นๆ ในท่าเรือแหลมฉบัง เรียกเก็บเฉลี่ย 500 บาทต่อตู้

“ตอนนี้มีข้อจำกัด เพราะมีพนักงานแค่ 6 คน ศักยภาพรองรับสินค้าได้จำกัด ปัจจุบันจึงมีปริมาณตู้สินค้าประมาณ 1 หมื่นตู้ต่อเดือนเท่านั้น หรือประมาณ 1.2-1.3 แสนตู้ต่อปี ขณะที่กทท. ต้องแบกภาระค่าล่วงเวลาเดือนละ 3 แสน ตอนนี้รอว่าเปิดประมูลไปแล้วจะมีเอกชนเข้ามายื่นหรือไม่ หากไม่มี ก็อาจจะต้องเสนอบอร์ด ขอปรับค่าภาระใหม่”

อย่างไรก็ตาม โครงการ SRTO จะเกิดประโยชน์กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะสามารถขนส่งตู้สินค้าจาก ไอซีดี ลาดกระบัง ไปยัง ทลฉ. ซึ่งรฟท.ได้กำหนดในสัญญาบริหารไอซีดี ลาดกระบัง ว่าจะต้องมีการขนส่งสินค้าทางราง ที่สัดส่วน 50% หรือประมาณ 7 แสนตู้ต่อปี จากทั้งหมด 1.4 ล้านตู้ต่อปี โดยรฟท. จะมีรายได้จากค่าเช่าแคร่ ค่าวางตู้ ซึ่ง รฟท.จะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าระวางขนส่ง ดังนั้น หากขนส่งสินค้าทางรางได้มากเท่าไร รฟท. จะมีรายได้มากเท่านั้น

สำหรับปริมาณตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบัง ในช่วงไตรมาส 1-2/2562 ยังคงเติบโตในอัตราปกติ 2-3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และการนำเข้าส่งออก ของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐ กับจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น