ก่อนอื่นโปรดพิจารณาข้อความในภาพข้างต้นก่อนครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครื่องหมายคำพูดที่ว่า “นักวิจัยที่มีความมุ่งมั่นมากกลุ่มหนึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ระบบ Endocannabinoid มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับโรคทุกชนิดในมนุษย์”
และหากท่านได้อ่านแล้วโปรดหยุดอ่านเพื่อใช้เวลาครุ่นคิดอีกครั้งครับ
ความสำคัญของข้อความดังกล่าวก็คือว่า สาเหตุของโรคทุกชนิดที่มนุษย์เป็นกันนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับระบบการทำงานของร่างกายที่ชื่อว่า “ระบบEndocannabinoid” โดยที่ระบบดังกล่าวต้องใช้สารเคมีชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Cannabinoid ซึ่งสารตัวนี้มีมากในพืชชนิดหนึ่งที่คนไทยเรียกว่า “กัญชา” แต่พวกฝรั่งบางกลุ่มเรียกว่า “Cannabis” (โปรดสังเกตคำว่า Cannabis กับ Cannabinoid)
ผู้ที่พูดประโยคดังกล่าวคือ ศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam นักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอล ทำงานในมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม ปัจจุบันอายุ 89 ปี ท่านเป็นนักเคมีสาขา Natural Products (คือการสังเคราะห์ แยกสารเคมีบริสุทธิ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ) ท่านเลือกสกัดสารเคมีจากต้นกัญชาและค้นพบ Cannabinoid ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2507 ซึ่งตอนนั้นท่านมีอายุเพียง 34 ปีเท่านั้น
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งได้เลือกศึกษาเปลือกมังคุดโดยได้รับคำแนะนำจากนักการภารโรงท่านหนึ่งว่าสามารถรักษาโรคผิวหนังได้ ในที่สุดผลงานที่ทุ่มเทมาหลายปีนี้ก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจำหน่ายทั่วโลก สร้างรายได้นับพันล้านบาท
ทำไมต้องกัญชา?
เมื่อผู้ทำสารคดี (คือคุณZack Klainในสารคดีเรื่อง “นักวิทยาศาสตร์ เรากำลังพลาดอะไรบางอย่างไปหรือเปล่า?”) ได้ตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงเลือกกัญชา” ท่านตอบได้อย่างลึกซึ้งมากซึ่งนักวิจัยเมืองไทยควรรับฟังว่า “มีการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมาหลายพันปีแล้ว ทั้งตะวันออกกลางและอินเดีย แต่ยังไม่ใครสกัดสารบริสุทธิ์ออกมาเลย การทำวิจัยในประเทศเล็กๆ ซึ่งมีงบประมาณอย่างจำกัดมาก ปรัชญาของผมก็คือ เราควรเลือกหัวข้อวิจัยที่ยังไม่มีการทำโดยกลุ่มใหญ่ๆ ทั่วโลก ซึ่งเราไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้หรอก”
ศาสตราจารย์ Mechoulam ได้เล่าต่อไปว่า ท่านได้เดินไปหาตำรวจระดับสูงท่านหนึ่ง เพื่อขอกัญชาไปทำวิจัย นายตำรวจท่านนี้ได้ยกหูโทรศัพท์ไปถามนายตำรวจระดับสูงกว่า เสียงปลายสายถามประโยคเดียวเท่านั้นว่า “ผู้ขอมีความน่าเชื่อถือไหม”เมื่อได้รับคำตอบว่าน่าเชื่อถือได้ นักวิจัยหนุ่มก็หิ้วกัญชาหนัก 5 กิโลกรัมกลับไปที่ทำงาน ไม่มีอะไรยุ่งยากเหมือนกับในบ้านเรา
หลังจากพบสาร Cannabinoid ซึ่งมีชื่อย่อว่าสาร THC และสาร CBD ในต้นกัญชาในปี 2507 แล้ว ในปี 2535 คณะนักวิจัยที่นำโดยศาสตราจารย์ Mechoulam ก็ค้นพบสารที่เรียกว่า Endocannabinoid ในสมองของหนู หมู รวมไปจนถึงสมองของมนุษย์
ตอนแรกที่ค้นพบสาร Endocannabinoids ในร่างกายมนุษย์ คณะนักวิจัยได้ตั้งชื่อว่า Annandamide ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่า ความสุขสำราญอันสุดยอด เมื่อมีผู้ถามว่า ทำไมไม่ตั้งชื่อเป็นภาษาอิสราเอล ท่านตอบอย่างติดตลกว่า “คนอิสราเอลไม่ค่อยมีความสุข”
และในปี 2537 ก็มีการค้นพบสาร Endocannabinoids ตัวที่สอง ซึ่งยังไม่มีใครพบมาก่อน นอกจากกลุ่มของศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam เท่านั้น
เขียนมาถึงตอนนี้ผมอยากจะสรุปตามความเข้าใจของผมเองว่า นักวิจัยพบว่าการเกิดโรคทุกชนิดในร่างกายของมนุษย์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับการทำงานของระบบ Endocannabinoids
ผมขอเรียนว่าระบบการทำงานของร่างกายเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมาก ผมจำได้ว่าอาจารย์ที่สอนวิชาเคมีเมื่อตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่หนึ่งบอกว่า ต่อให้เอาระบบการทำงานของโรงงานทั้งโลกมารวมกันก็ยังไม่ซับซ้อนเท่ากับระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์เพียงคนเดียว
เฉพาะระบบประสาทที่ส่งสัญญาณต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ก็มีนับหลายพันล้านเส้นทางแล้ว
แต่ระบบทุกอย่างทั้งหมดทั้งมวลในร่างกายมนุษย์ต่างถูกควบคุมและสั่งการโดยระบบ Endocannabinoids
ระบบต่างๆ (ดังภาพขวามือของภาพที่สอง) ไม่ว่าจะเป็นการเจริญอาหาร สุขภาพของกระดูก ระบบการเติบโต ภาวะเจริญพันธุ์ หน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกัน การอักเสบ อารมณ์ ความจำ ความรู้สึกเจ็บปวด สุขภาพผิวหนัง การนอนหลับ ความรู้สึกเครียด ล้วนแล้วแต่ถูกควบคุมด้วยระบบ Endocannabinoids ทั้งนั้น
พูดถึงเรื่องเรื่องกระดูกพรุน ผมมีเรื่องเล่าที่ได้ยินมาด้วยตนเองจากภาพถัดไปครับ
ขอสรุปจากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam (และท่านอื่นๆ ด้วย) อีกครั้งนะครับว่า ร่างกายมนุษย์ตลอดจนสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด ต้องการสารเคมีชนิดหนึ่งเพื่อควบคุมกลไกการทำงานทั้งหมดของร่างกาย รวมทั้งการฆ่าเซลล์มะเร็ง และฟื้นฟูเซลล์ดีให้แข็งแรงยิ่งขึ้น สารเคมีตัวนั้นร่างกายจะสร้างขึ้นมาเอง หากไม่เพียงพอหรือบกพร่องก็สามารถหามาเสริมได้จากกัญชา
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า ในระยะหลังๆ มานี้ เราจะพบว่า สุนัข แมว จำนวนมากเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งในช่วง 50 ปีแรกของชีวิตผมไม่เคยได้ยิน ได้เห็นมาก่อน จาก Wikipedia พบว่า ผลงานตีพิมพ์ของ ศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam มีมากกว่า 350 ชิ้น บางคนเรียกท่านว่า “เจ้าพ่อนักวิจัยกัญชา”
เมื่อปี 2558 มีคนเสนอชื่อท่านเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาทางการแพทย์ (สรีระวิทยา) แต่ก็พลาดไป มาปีนี้มีคนรณรงค์โดยการเข้าชื่อผ่าน change.org เพื่อเสนอชื่อท่านให้ได้รับรางวัลโนเบลอีกครั้งหนึ่ง ผมแนบภาพมาให้ดูด้วยครับ
นี่คือความจริงทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เกี่ยวกับกัญชาที่คนไทยและคนทั้งโลกถูกปิดกั้นและถูกหลอกลวงมาตลอดครับ
การออกกฎหมายเพื่อควบคุมสารสกัดจากกัญชาเพื่อให้ได้มาตรฐานทั้งคุณภาพและราคาเป็นสิ่งจำเป็นที่จะรัฐบาลต้องทำ แต่การห้ามคนปลูกกัญชาในระดับครัวเรือนเพื่อเป็นสมุนไพรและอาหารภายในบ้าน ผมถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ธรรมชาติได้ร่วมกันวิวัฒนาการมานานนับหลายล้านปีอย่างร้ายแรงครับ เพราะมันคือทำให้คนเป็นโรคนานาชนิด เป็นการทำลายชีวิต และเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม
การควบคุมจึงต้องมีการจำแนกให้ชัดเจนและรัดกุมดังที่ได้กล่าวมาแล้วครับ