xs
xsm
sm
md
lg

พปชร.ตั้งรัฐบาลใหม่มิ.ย. ล้มแผนปิดสวิตช์ส.ว. โพลชี้การเมืองทำลายความสุข

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พปชร. มั่นใจรวมเสียง ตั้งรัฐบาลใหม่มิ.ย.นี้ พร้อมเกลี่ยตำแหน่งรัฐมนตรีให้พรรคร่วมได้ ล้มแผนปิดสวิตช์ส.ว. ของขั้วตรงข้าม "อุตตม" ปัดถูกบีบไม่เอา"ป้อม-ป๊อก" ด้าน "ชวน" แนะรอสัปดาห์นี้ ทุกอย่างเรียบร้อย ด้าน"หญิงหน่อย" ยังตั้งตารอพรรคขนาดกลางเข้าร่วม หวังสกัดการสืบทอดอำนาจ คสช. ขณะที่ ซูเปอร์โพล เผยประชาชน 89.9% มองการเมืองปัจจุบัน ทำลายความสุขประชาชน ความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เคยกล่าวถึงไทม์ไลน์ ทางการเมืองว่า ช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้ จะมีรัฐบาลชุดใหม่ ถ้าพิจารณาจากจำนวน ส.ส.ที่ กกต.ประกาศรับรองมาแล้วนั้น ขั้วพรรคพลังประชารัฐ น่าจะรวบรวมเสียงได้ประมาณ 253 เสียง จึงน่าจะเป็นฝ่ายได้จัดตั้งรัฐบาล ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกสมัย

ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่า พรรค พปชร. ที่มี 115 เสียง จะรวบรวมเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ได้เกิน 250 เสียง ทำให้มีความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคประชาปฏิรูป 1 เสียง ยังไม่รวมพรรคขนาดเล็กอีก 11 พรรค พรรคละ 1 เสียง และจากพรรคประชาธิปัตย์ อีก 52 เสียง ที่จะมีความชัดเจน หลังวันที่ 15 พ.ค. ที่จะเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ว่าจะมีมติหนุนพรรค พปชร. หรือไม่ ถ้ามีมติว่า หนุน การตั้งรัฐบาลก็น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับว่า แผนปิดสวิตช์ ส.ว. ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่พยายามประสานชักชวนพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทยและ พรรคประชาธิปัตย์ มาเข้าร่วม ก็เท่ากับเป็นหมันไป

**เกลี่ยเก้าอี้ รมต.ให้พรรคร่วม

ทั้งนี้ มีรายงานว่า แกนนำพรรคพปชร. ได้จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ในกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจไว้ค่อนข้างลงตัวแล้ว โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง และ คมนาคม (ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง) อุตสาหกรรม การส่งออก โดยวางตัวนายอุตตม สาวนายน เป็น รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค อาจจะเป็น รมว.คมนาคม

ขณะที่โควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะได้รับการจัดสรร พรรคละ 6-7 เก้าอี้ ในกระทรวงหลัก โดยพรรคประชาธิปัตย์ ขอโควตากระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลปาล์มดิบและยางพารา ที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการดึงคะแนนเสียงในพื้นที่ภาคใต้กลับคืนมา

ส่วนพรรคภูมิใจไทย มีนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และเป็นคีย์แมนคนสำคัญของพรรค กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ซึ่ง นายเนวิน ต้องการโควตา รมว.มหาดไทย ถ้าหารือลงตัว จะได้เก้าอี้ รมช.มหาดไทย มาด้วย ขณะที่ นายอนุทิน ขอดู กระทรวงคมนาคม แต่เกรงว่าถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และได้รับสัมปทานจากรัฐหลายโครงการ จึงลงตัวที่ ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสาธารณสุขด้วย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกัญชา

ขณะเดียวกัน พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และพรรคชาติพัฒนา ที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ได้ข้อสรุปลงตัวโควตา กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงพลังงาน

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา คาดว่าจะได้คุม 2 กระทรวง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่ง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค และนายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค จะรับตำแหน่งรัฐมนตรี

**"อุตตม"ปัดถูกบีบไม่เอา"ป้อม-ป๊อก"

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังกล่าวถึง กระแสข่าวที่ว่าพรรคการเมืองที่จะร่วมรัฐบาล ตั้งเงื่อนไข ไม่ให้มีชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร่วมอยู่ในครม.ว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขณะนี้มีเพียงการพูดคุยเรื่องการมาร่วมกันเดินหน้าประเทศ ยังไม่มีการพูดุึงเรื่องตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะต้องรอความพร้อมของทุกพรรค ที่จะมาหารือกัน อย่างเป็นทางการ เท่าที่ได้มีโอกาสได้พบปะกับนักการเมือง ไม่มีใครตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ และที่ตนเคยร่วมงานกับทั้งพล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ทั้งสองท่านมีความตั้งใจ และผลงานในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศอย่างแท้จริง

"ที่ประเทศสงบเรียบร้อยมา 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองท่านมีบทบาทช่วยงานพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.อย่างมาก ในการทำงานเพื่อประเทศ โดยเฉพาะในงานด้านความมั่นคง และอื่นๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และสิทธิ์ที่ทำกินของประชาชน การพัฒนาสร้างอาชีพในชุมชน นอกจากนั้น ยังมีบทบาทในการเจรจาและแก้ปัญหาประมงไทยจนสหภาพยุโรปปลดเงื่อนไขต่างๆ ที่จะห้ามนำสินค้าประมงไทยเข้าไปขายในตลาดยุโรปนับว่าได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประเทศเป็นอย่างมาก"

ส่วนการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลนั้น ยังมีเวลา และขณะนี้ต้องให้เกียรติทุกๆพรรค เพราะบางพรรคอยู่ระหว่างการดำเนินการภายใน กระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้น เป็นเพียงคาดคะเนของสื่อ อาจทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด ตนในฐานะหัวหน้าพรรค จึงอยากให้ทุกท่านติดตามการแถลงข่าวจากพรรคอย่างเป็นทางการจะดีกว่า

** พปชร.มั่นใจตั้งรัฐบาลได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการเจรจากับพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ บางพรรคก็คงต้องรอการหารือตามกระบวนการภายในพรรคก่อน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องรอการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้เสร็จก่อน เราให้เกียรติพรรคที่จะมาร่วมงานด้วย และพรรคที่จะมาร่วมงาน ต่างก็อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ขอให้ใจเย็นๆ อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน ทุกอย่างไม่ได้มีปัญหาตามที่มีกระแสข่าวลือต่างๆออกมา เมื่อทุกอย่างเป็นทางการแล้วพรรคจะแถลงข่าวอย่างแน่นอน

สำหรับกรณีที่โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า พรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หักหลังประชาชนหรือไม่นั้น ตนมองว่าเป็นการพูดที่ใช้ไม่ได้ เพราะทุกพรรคมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มาจากประชาชนที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขทั้งสิ้น คำพูดดังกล่าว จึงเป็นการดูถูกประชาชนด้วย ขณะเดียวกันถ้าหากพรรคการเมืองที่ถูกพูดถึงไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า โฆษกพรรคเพื่อไทย คงไม่ออกมาพูดแบบนี้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยต้องให้เกียรติพรรคอื่น หรือคนที่เห็นต่างด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาล ก็เลยพาลออกมาตีโพยตีพาย ไม่ได้ดั่งใจก็เลยงอแง พรรคเพื่อไทย ควรเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านที่ดี จะดีกว่า

**"ชวน"ย้ำให้รอการตัดสินใจหลัง15พ.ค.

วานนี้ (12 พ.ค.) ที่อาคารรัฐสภาใหม่ ย่านเกียกกาย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์หลังรายงานตัวเป็นส.ส. ถึงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุจะมาเชิญชวนพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทย เพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครมาเชิญ ต้องรอหลังวันที่ 15 พ.ค. ที่จะมีการเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) ชุดใหม่ ที่จะเป็นตัวแทนพรรคในการให้ความเห็นและตัดสินใจ ดังนั้นตอนนี้ใครประสานเรื่องอะไรมา เป็นเรื่องที่ต้องรอหลังจากมีผู้รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย นายชวน กล่าวว่า ความเห็นทั้งหลายต้องรอให้ตัวแทนพรรคตัวจริงเป็นผู้ให้ความเห็น ขณะนี้ใครจะพูดอะไร ต้องถือเป็นความเห็นของแต่ละคน แต่ตนขอร้องว่าอย่างเพิ่งไปตัดสินใจอะไรแทนหัวหน้าพรรค และ กก.บห.ชุดใหม่ ควรจะรอสัปดาห์นี้ ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เป็นเรื่องนโยบายของแต่ละพรรคเชิงบริหารมากกว่า ว่า ตอนเสนอนั้น แต่ละพรรคมีความเห็นว่าจะใช้นโยบายอย่างไร

**พท.รอลุ้นพรรคขนาดกลางเข้าร่วม

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของสองขั้วการเมืองว่า ขณะนี้ฝ่ายประชาธิปไตยมี 245 เสียง อย่างมั่นคง และรวมเสียงได้มากที่สุด ตอนนี้ต้องรอดูท่าทีของพรรคขนาดกลาง ที่เคยให้สัญญาก่อนเลือกตั้ง ที่เคยบอกว่าจะไม่ต่อท่อเผด็จการเมื่อเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยกำลังรอให้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตัดสินใจเพื่อมาร่วมตั้งรัฐบาล ใช่หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ก็รอพรรคขนาดกลางจะตัดสินใจอย่างไร เพราะการเข้าสู่อำนาจ ต้องเป็นอำนาจส่งเสริมให้ประชาชนสมหวัง ส่วนตัวอยากเน้นการเลือกตั้งครั้งนี้อย่าให้เป็นเพียงพิธีกรรม เปลี่ยนสถานนะของคสช. จากยึดอำนาจ เพราะการเลือกตั้งคือความหวังของประชาชน

"เราเองเราคิดว่าไม่ได้ให้มาสนับสนุนให้เราเป็นรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี แต่เรามองว่าจะทำยังไงไม่ให้สืบทอดอำนาจ เราบอกตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่า ถ้าพรรคการเมืองรวมตัวกันคสช. ก็จะกลับบ้านไป ก็รอการตัดสินใจ แต่ไม่ใช่มาสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยมีอำนาจ" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

เมื่อถามว่า กระแสข่าวพรรคเพื่อไทย ผลักดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกฯ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยอะไรกัน แต่วันนี้ต้องถามเป็นจุดยืนแต่ละพรรคว่า ให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยเพื่อประชาชน หรือเป็นการจบเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนสถานะคสช.เท่านั้นเอง

**โพลชี้"การเมือง"ตัวทำลายความสุขปชช.

วานนี้ (12พ.ค.) นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองปัจจุบัน กับความสุขของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,295 ตัวอย่าง ระหว่าง วันที่ 1 -11พ.ค. พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 89.9 ระบุ การเมืองปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำลายความสุขของประชาชน ในขณะที่ ร้อยละ 10.1 ระบุไม่ทำลาย และที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนมากหรือ ร้อยละ 42.6 ระบุ ระดับความขัดแย้งทางการเมืองเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557 เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 17.9 ระบุลดลง

เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นชาย ร้อยละ 43.9 มีสัดส่วนของผู้ที่ระบุความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น มากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นหญิง ร้อยละ 41.5

ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชน เกินครึ่งหรือร้อยละ 58.1 ระบุ ความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 57 มากกว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มวัยอื่นคือ วัยกลางคน ร้อยละ 35.0 และ คนสูงวัย ร้อยละ 47.2 ที่ระบุความขัดแย้งทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 57

นายนพดล กล่าวว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองน่าจะตัดสินใจอะไรบางอย่างที่บริหารจัดการอารมณ์ของสาธารณชนได้ดีโดยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เพราะมาตรการกดความรู้สึกอัดอั้นของสาธารณชน จนไม่มีช่องระบายอาจส่งผลทำให้ความขัดแย้งที่เปลือกของประชาธิปไตยลุกลามไปถึงแก่นความมั่นคงได้ และจะเหนื่อยกันจนยากจะควบคุม ทางออกคือ เลือกทางที่นำไปสู่ความขัดแย้งน้อยที่สุด และไม่มองมวลหมู่ประชาชนแบบเหมารวม แต่ควรแก้ไขเป็นราย ๆ ไปเพราะในกลุ่มที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินนั้น อาจจะพบคนที่รักชาติบ้านเมืองและสถาบันหลักของชาติมากกว่าฝ่ายการเมืองกลุ่มหนุน Status Quo อีกด้วย มันจึงไม่ใช่อยู่ที่เสื้อสีกีฬาการเมืองที่เลือกข้าง แต่อยู่ที่ความถูกต้องชอบธรรมทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น