คำว่า ค่าโง่ ตามความเข้าใจของคนทั่วไป หมายถึงการเสียเงินหรือทรัพย์สินอันมีค่า อันเนื่องมาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเสียรู้คน เช่น มีคนมาชักชวนให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ โดยเสนอผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลในอัตราสูง แต่ครั้นลงไปแล้วไม่ได้ผลตอบแทน และขอถอนทุนคืนก็ไม่ได้ แถมหอบเงินหนีติดต่อก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม
แต่คำนี้ได้ถูกนำมาใช้กับการที่รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งเป็นผู้รับจ้างหรือเป็นผู้รับสัมปทานโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ และถูกบอกเลิกสัญญาได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องรัฐและชนะคดี
ค่าโง่ได้เกิดมาแล้วหลายโครงการเท่าที่พอจำได้ก็มีโครงการทางด่วน โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย และล่าสุดได้แก่โครงการโฮปเวลล์ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ให้เอกชนเป็นผู้สัมปทานไปดำเนินการ 30 ปี และต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 6 ปี แต่เมื่อครบ 6 ปีแล้วปรากฏว่า โครงการคืบหน้าได้เพียง 30% กว่าๆ ทางการรถไฟฯ จึงได้บอกเลิกสัญญา และทางผู้รับสัมปทานได้ฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การรถไฟฯ จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี อันเป็นที่มาของคำว่า ค่าโง่โครงการโฮปเวลล์
ค่าโง่เกิดขึ้นได้อย่างไร และเกิดขึ้นในขั้นตอนไหนของการดำเนินโครงการ?
เพื่อให้มองเห็นสาเหตุของการเสียค่าโง่ได้ชัดเจนขึ้น จึงขอแบ่งการดำเนินโครงการออกเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นตอนเตรียมการ ซึ่งเจ้าของโครงการจะต้องทำคือ จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสม เพื่อให้รู้ว่าโครงการที่จะทำมีความเหมาะสมแก่การลงทุนหรือไม่ โดยพิจารณาจากผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ทั้งในทางการเงิน และในทางสังคม ถ้าศึกษาแล้วคุ้มค่าแก่การลงทุน จึงจะดำเนินการต่อไป เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และออกแบบ (ในกรณีมีการสร้าง) เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริง ในอดีตที่ผ่านมา มีอยู่หลายโครงการถ้ามีการศึกษาโดยยึดหลักวิชาการ และมาตรฐานการลงทุนแล้วไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนในขณะนั้น แต่ก็มีการลงทุนเนื่องจากมีกระบวนการแสวงหาประโยชน์เข้าไปแทรกแซง โดยการชี้นำในขั้นตอนการศึกษา เพื่อให้ผลออกมาคุ้มค่าแก่การลงทุน แต่ครั้นดำเนินการไปแล้วขาดทุน นี่ก็คือสาเหตุหนึ่งของการเสียค่าโง่ในเวลาต่อมา ต่อมาค่าโง่ในทำนองนี้มิได้เกิดขึ้นจากความโง่ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เกิดจากความแกล้งโง่ของเจ้าของโครงการ ซึ่งมีทั้งนักการเมือง และข้าราชการหรือพนักงานของรัฐในหน่วยงาน หรือส่วนราชการร่วมมือกันตั้งแท่นให้พ่อค้าเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากรัฐ โดยที่ตนเองได้รับผลตอบแทนในการแกล้งโง่ในรูปของเงินทอง และตำแหน่ง
2. ขั้นตอนลงมือดำเนินโครงการ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำ TOR (Terms of Reference) เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการประมูลไปจนถึงการเปิดการประมูลเพื่อหาผู้รับเหมา หรือผู้รับสัมปทาน
ในขั้นตอนนี้ ถ้ามีการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางมาก ก็จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการสูงขึ้น และถ้าราคากลางที่กำหนดไว้ต่ำในกรณีของผู้รับจ้าง และสูงในกรณีของการให้สัมปทาน ก็จะทำให้ผู้ชนะการประมูลต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับเนื้องานโดยตรง แต่เป็นต้นทุนที่แฝงเข้ามา จึงทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเงื่อนไขได้ยาก
ดังนั้น หลายๆ โครงการซึ่งเป็นเหตุให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่ รวมทั้งโฮปเวลล์ด้วย ล้วนแล้วแต่สืบเนื่องมาจากการแกล้งโง่ของนักแสวงหาประโยชน์จากโครงการ ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง ข้าราชการประจำ และผู้ประกอบการภาคเอกชนร่วมมือกัน