xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรัฐสภาสหราชอาณาจักรประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในช่วง 1 ถึง 2 สัปดาห์มานี้ ผมเจอหน้าใครก็มีแต่คนบ่นว่าอากาศร้อนมาก อยู่ในบ้านหากไม่เปิดแอร์ก็อยู่ไม่ได้และหากขึ้นไปทำธุระบนชั้นสองของบ้านจะรู้สึกร้อนผ่าว เด็กข้างบ้านที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นหลายครั้งบอกว่า “น้ำจากสายยางสำหรับฉีดล้างก้น ร้อนเหมือนที่ญี่ปุ่นเลย” เพื่อนคนไทยที่เยอรมนีเพิ่งส่งข่าวมาสักครู่ว่า “อากาศวิปริตมาก วันนี้ฝนตก มีหิมะลงมาด้วย ทั้งๆ ที่ได้เอาเสื้อหนาวเก็บเข้าที่ไว้หมดแล้ว”

ที่บ้านผมเอง ใบเฟิร์น ต้นหน้าวัว และกล้วยไม้ที่เคยอยู่ใต้ร่มใบไม้ใหญ่จะมีอาการ “ใบไหม้” ในวันรุ่งขึ้นเมื่อกิ่งไม่ใหญ่ถูกตัดออกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมได้นำภาพใบไม้ไหม้มาให้ดูด้วย พร้อมกับข่าว “ภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ของประเทศสหราชอาณาจักร (ข่าวจากรอยเตอร์)

ผมเองไม่ค่อยจะมีความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของรัฐสภาของประเทศสหราชอาณาจักรมากนัก แต่เท่าที่ได้ดูคลิปแล้วทราบว่า เป็นคำประกาศของผู้นำฝ่ายค้าน (นายJeremy Corbyn พรรคกรรมกร) ในที่ประชุมรัฐสภา เป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์โดยไม่มีการลงมติและไม่ได้บังคับรัฐบาลว่าจะต้องปฏิบัติตามนั้น

รัฐบาลประเทศสหราชอาณาจักรได้เคยประกาศในเวทีสหประชาชาติ (เมื่อปี 2558 ใน COP21) ว่า “จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 80% เมื่อเทียบกับปี 1990 ภายในปี 2050” แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้ชื่อว่า “Extinction Rebellion” (เป็นกลุ่มประชาสังคมที่รณรงค์ด้านภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อตั้งในประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2018 มีคำขวัญว่า “ต่อสู้เพื่อชีวิต เป็นกบฏเพื่อชีวิต”) บอกว่าช้าเกินไป

แต่กลุ่ม Extinction Rebellion ได้เรียกร้องให้หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดภายในปี 2025 (เขาใช้คำว่า net zero ซึ่งหมายถึงปล่อยก๊าซได้แต่ต้องให้มีการดูดซับด้วยต้นไม้จนเสมือนไม่มีการปล่อยเลย)

เท่าที่ผมติดตามพบว่าประเทศสหราชอาณาจักรได้ลดการปล่อยก๊าซลงมา 6 ปีติดต่อกันแล้ว และต่ำที่สุดในปี 2018 (361 ล้านตัน) นับจากปี 1932 เป็นต้นมาคือลงมาเหลือ 65% ของปี 1995 (557 ล้านตัน) แล้ว (https://www.carbonbrief.org/analysis-uks-co2-emissions-fell-for-record-sixth-consecutive-year-in-2018) แต่กลุ่มที่เรียกร้องต้องการให้ลดลงในอัตราที่เร็วกว่านั้น

นายJeremy Corbyn หัวหน้าพรรคกรรมกรได้กล่าวต่อผู้มาชุมนุมเรียกร้องว่า “เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ภูมิอากาศโลก นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา 49 ปีที่แล้วสิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ไปแล้วถึงประมาณ 2 ใน 3 สปีชีส์ รัฐสภาของสหราชอาณาจักรควรจะเป็นที่แรกในโลกที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ เรารู้ว่าภาวะฉุกเฉินคืออะไร สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียวแทนที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมาซึ่งให้ประโยชน์กับคนจำนวนน้อยไปสู่ผลประโยชน์ของทุกคน”

หัวหน้าพรรคกรรมกรยังได้กล่าวต่อไปว่า “ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องปกติเมื่อนักเรียนชั้นประถม และนักเรียนมัธยม ได้ให้การศึกษากับผู้ใหญ่ถึงสถานการณ์จริงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมขอขอบคุณทุกท่านในวันนี้ ขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันรณรงค์เพื่อสันติภาพและความยั่งยืนของโลก”

รัฐบาลสกอตแลนด์ได้ประกาศจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็น net zero ภายในปี 2045นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศและหลายเมืองได้ร่วมประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าว

ย้อนหลังไปเมื่อปลายปี 2018 ในการประชุม COP24 ที่ประเทศโปแลนด์ Sir David Attenborough นักประวัติศาสตร์ธรรมชาติได้กล่าวว่า “ในช่วงหลายพันปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศคือภัยคุกคามต่อมนุษยชาติที่ใหญ่ที่สุดมันจะนำไปสู่การล่มสลายของความเจริญและการสูญพันธุ์ของธรรมชาติส่วนใหญ่ของโลก”

สถานการณ์ “โลกร้อน” กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ เพราะสาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะว่ามนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปทำหน้าที่เป็น “ผ้าห่มโลก” ความร้อนเข้ามาได้แต่ออกไปไม่ได้เพราะผ้าห่มขวางไว้

ภาพข้างล่างแสดงอุณหภูมิของผิวโลกในช่วง 1880 จนถึง 2018 ที่น่าสังเกตคือ 5 ปีสุดท้าย (2014-2018) อุณหภูมิสูงที่สุด

นักวิทยาศาสตร์หลายสำนักได้ศึกษาแล้วให้ผลลัพธ์ค่อนข้างจะตรงกันว่า “ถ้าจะให้อุณหภูมิของโลกสูงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสในปี 2100 มนุษย์จะต้องหยุดปล่อยก๊าซอย่างสิ้นเชิง (net zero) ภายในปี 2070 และต้องหยุดปล่อยตลอดไป”

แต่ตอนนี้ (2019) อุณหภูมิของโลกได้สูงขึ้นแล้วเกือบ 1 องศาเซลเซียส เรายังทนกันไม่ไหว ต้องเปิดแอร์ ถ้าขืนปล่อยให้สูงถึง 2 องศาเซลเซียส แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่อุณหภูมิ ปัญหาน้ำใช้ อาหาร และโรคระบาด นักเคลื่อนไหวจากออสเตรเลียเคยกล่าวว่า “โลกร้อนคนไม่ชอบ แต่ยุงชอบ”

เนื่องจากโลกมีมวลขนาดใหญ่ลองเปรียบเทียบการหยุดรถมอเตอร์ไซค์กับการหยุดรถสิบล้อซึ่งแตกต่างกันมากการคิดจะหยุดโลก จึงจำเป็นต้องใช้เวลาและความร่วมมือของคนทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาจะต้องอาศัยอยู่อีกนาน

เรื่องโลกร้อน หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย

เมื่อปลายปี 2018 สำนักข่าว BBC ได้รายงานว่า “กรุงจาการ์ตาซึ่งมีประชากรเกือบ 10 ล้านคน เป็นเมืองที่กำลังจมน้ำในอัตราเร็วที่สุดในโลก ด้วยสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ น้ำทะเลสูงขึ้น (จากโลกร้อน) และการสูบบาดาลขึ้นมาใช้จำนวนมากและจะจมทั้งเมืองภายในปี 2050”

ข่าวจาก Ecowatch (3 พ.ค.62) รายงานว่า “ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียที่ชนะการเลือกตั้งประกาศจะย้ายเมืองหลวง” เพราะคาดการณ์ว่าภายในปี 2100 ระดับทะเลจะสูงขึ้น 50 เซนติเมตร (https://www.ecowatch.com/cities-vulnerable-sea-level-rise-2610208792.html)

ที่น่าสนใจและสำคัญมากสำหรับคนไทยเราก็คือ รายงานนี้ได้อ้างถึงผลการศึกษาหนึ่ง ที่อ้างว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองอันดับสอง (จากทั้งหมด 8 เมือง) ที่กำลังจมน้ำเร็วที่สุดในโลก โดยมีสาเหตุเหมือนกับที่จาการ์ตากำลังเผชิญ

แต่โชคดีที่ประเทศไทยได้มีกฎหมาย Ground Water Act of 1977 ที่จำกัดการใช้น้ำใต้ดินและมีการปั๊มน้ำลงไปใต้ดิน ทำให้อัตราการจมน้ำลดลง แต่ “ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กรุงเทพฯ ปลอดภัยจากการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล”ข่าวชิ้นเดียวกันให้ความเห็น

ที่ผมกล่าวมทั้งหมดนี้ พอจะทำให้เห็นภาพของคำว่า “ภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” แล้วหรือยังครับ

และที่สำคัญกว่านั้น ทางออกจากวิกฤตดังกล่าวมีเรียบร้อยหมดแล้ว และเป็นทางออกที่ผู้นำพรรคกรรมกรสหราชอาณาจักรกล่าวกับผู้ชุมนุมว่า “เพื่อสันติภาพและความยั่งยืนของโลก ของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งดังในยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา”

ผมมั่นใจครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น