xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA/
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พระอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนั้นไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพิ่งมามีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอิสริยยศสูงสุดของฝ่ายในแต่เดิมคือตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสี ซึ่งในสมัยต้นรัชกาลพระพุทธเจ้าหลวงคือพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี และในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงมีพระน้องนางเธอที่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้าพระองค์รับราชการถวายเป็นพระภรรยาเจ้า คือ

หนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ซึ่งมีพระราชธิดาถวายพระพุทธเจ้าหลวงเป็นพระองค์แรก แต่สิ้นพระชนม์ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พระองค์ผู้เป็นมารดาเสียพระทัยจนสูญเสียพระจริตมิอาจสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้ต่อไป

สอง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือพระนางเรือล่ม ทรงเป็นพระอัครมเหสีพระภรรยาเจ้าพระองค์แรกในพระพุทธเจ้าหลวง ประสูติพระราชธิดาทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระราชธิดา แต่เหตุการณ์เรือล่มทำพระพุทธเจ้าต้องทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างที่สุด ด้วยเป็นการสูญเสียพระภรรยาเจ้า พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์พระภรรยาเจ้า รวมสามพระองค์ในคราวเดียวกัน

สาม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เป็นพระราชมารดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อคราวได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวีนั้น ไม่ทรงยินดีรับพระราชอิสริยยศสูงกว่าสมเด็จพระพี่นางเธอ (พระนางเรือล่ม) พระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระอัฐิเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ภายหลังสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ก็ได้ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าลำดับที่หนึ่งในรัชกาลที่ 5 และมีพระราชโอรสและพระราชธิดามากมายหลายพระองค์แต่ล้วนแล้วแต่สิ้นพระชนม์ไปก่อนพระราชมารดาทั้งสิ้น

สี่ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระราชโอรสได้เป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่สองของไทยแทนพระองค์แรกที่ทิวงคต จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี

ห้า พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในเจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งราชินิกุลบุนนาค ทรงดำรงตำแหน่งพระมเหสีลำดับที่สามไปจนตลอดรัชกาลที่ 5 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวีทรงเป็นพระโสทรขนิษฐภคินี (น้องสาวร่วมมารดา-บิดา โดยทรงเป็นพระองค์เล็กสุด) กับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เนื่องจากทั้งสามพระองค์เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (สุจริตกุล) ในภายหลังได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็นเจ้าเป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา

เดิมพระราชอิสริยยศตำแหน่งพระมเหสีอันดับหนึ่งคือ พระบรมราชเทวี อันดับสองคือ พระวรราชทวี และ อันดับสามคือ พระราชเทวี แต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีดวงพระชาตาที่โศกเศร้าเหลือเกินต้องทรงพบแต่การสูญเสียของบุคคลในครอบครัว เริ่มจากการที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทยทิวงคตอย่างกระทันหัน ทรงเสียพระทัยมากถึงกับประชวรหนักและทรงให้กั้นฉากเพื่อพระบรรทมเฝ้าพระบรมโกศพระราชโอรส แต่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ก็ทรงถนอมน้ำพระทัยในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาอย่างเต็มที่

ในปี 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกนั้นนั้น สมเด็จพระนางเจ้าเสวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวีทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทำให้ทรงได้รับฐานะ Queen Regent หรือที่ชาววังเรียกว่าสมเด็จรีเยนต์ ดังที่หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนถึงเหตุการณ์นั้นใน สี่แผ่นดิน ว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงได้ปกครองแผ่นดิน ทำให้ผู้หญิงและฝ่ายในเกิดความคึกคักมีกำลังใจฮึกเหิมในการปฏิบัติราชกิจถวายพระพุทธเจ้าหลวงอย่างเต็มที่ที่สุด

สมเด็จพระนางเจ้าเสวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวีทรงปฏิบัติพระภารกิจเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลาเก้าเดือน เป็นที่เรียบร้อยและเป็นที่พอพระทัยอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนคร จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ อันเป็นพระราชอิสริยยศปฐมราชินีแห่งสยามประเทศ ว่ากันว่าเหตุที่ไม่ทรงตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็นสมเด็จพระบรมราชเทวี อันเป็นพระราชอิสริยยศในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีเพื่อทรงถนอมน้ำพระทัยในสมเด็จพระบรมราชเทวี จึงทรงตั้งตำแหน่งใหม่อันไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทรงยกพระราชอิสริยยศขึ้นโดยไม่ทรงไปลดพระอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีแต่อย่างใด
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้นคือ Queen Regent มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า Regens อันแปลว่า ปกครอง ซึ่งแปลว่าสมเด็จพระราชินีพระองค์นั้นได้ทรงปกครองบ้านเมือง ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้วจึงได้รับการเฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ต่างจาก Queen Consort ซึ่งหมายถึงสมเด็จพระบรมราชินีที่เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน และต่างกับ Queen Regnant ซึ่งหมายถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถที่ทรงครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นผู้หญิง เช่น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่สอง พระเจ้าแผ่นดินแห่งสหราชอาณาจักร

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระเจ้าแผ่นดินไทยถึงสองพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตนั้น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงเสียพระทัยมากถึงกับประชวรพระวาโยอย่างหนักต้องหามกลับไปประทับที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู และหลังจากนั้นพระสุขภาพก็ไม่ดีมาโดยตลอด และย้ายไปประทับที่พระราชวังพญาไท

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระราชอิสริยยศ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นี้ เทียบเคียงกับพระราชอิสริยยศ Queen Mother คือต้องเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแผ่นดินก่อน และต้องทรงเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ปัจจุบันด้วย ซึ่งต่างจาก Queen dowager ซึ่งต้องทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อน แต่มิได้ทรงเป็นพระบรมราชชนนีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ปัจจุบัน

สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีอลิซาเบธ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (Queen Elizabeth The Queen Mother) ทรงเป็น Queen Consort ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 พระเจ้าแผ่นดินสหราชอาณาจักรและทรงเป็นพระราชมารดาในสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถอลิซาเบธ ที่สอง
สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีอลิซาเบธ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ภาพจาก royal.uk)
สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ อลิซาเบธ ที่สอง (ภาพจากทวิตเตอร์ @RoyalFamily)
ดังนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงเป็นทั้ง Queen Consort, และ Queen Regent ในรัชกาลที่ 5 และ Queen Mother ในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเมื่อคราวทรงพระผนวช ที่วัดบวรนิเวศวิหารระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ได้เป็นที่เรียบร้อยพอพระทัยยิ่ง จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ปีเดียวกันนั้น ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 10 ของไทยสืบต่อจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ได้มีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริด้วยพระราชหฤทัย ประกอบด้วยพระกตัญญูกตเวทิตา ระลึกถึงพระเดชพระคุณ สมเด็จพระบรมราชชนนี อันได้มีมาเป็นล้นพ้นยิ่งกว่าผู้อื่น และทรงพระราชดำริว่า พระบรมราชชนนีเป็นผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันได้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและพสกนิกรเป็นอเนกปริยาย มีพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตา กรุณาธิคุณ เสด็จออกสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรทั่วทุกแห่งหน แม้ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ด้วยพระวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด โดยทรงดำเนินพระราชจริยวัตรด้วยพระราชปณิธานแห่งธรรมราชินี

ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ สมควรจะเฉลิมพระเกียรติยศ สนองพระคุณตามโบราณราชประเพณี อันจะอำนวยสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแด่พระองค์ และสยามรัฐสีมาอาณาจักร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า " สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" และถวายเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑

ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจแห่งพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม และเทวดาเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงบันดาล อภิบาลรักษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงเจริญพระชนมายุ พรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลมโหฬาร ธนสารสมบูรณ์ วรเกียรติคุณอดุลยยศ ปรากฏยิ่งยืนนาน ตลอดจิรัฐิติกาล เทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน”


ดังนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระองค์ที่สองในประวัติศาสตร์ไทย และโดยพระชนมพรรษาทรงเป็นพระกุลเชษฐ์ (เจ้านายฝ่ายในที่มีพระชนม์สูงสุด) พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงเป็นทั้ง Queen Consort และ Queen Regent ในรัชกาลที่ 9 และทรงเป็น Queen Mother ในรัชกาลที่ 10 เช่นเดียวกันกับที่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงเป็นทั้ง Queen Consort, และ Queen Regent ในรัชกาลที่ 5 และ Queen Mother ในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ในมหาวโรกาสอันเป็นมิ่งมงคลสมัยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าและปวงชนชาวไทยทั้งปวง ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล ตลอดจนดวงพระวิญญาณพระบรมราชบูรพการีแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ มี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นอาทิ ได้โปรดทรงคุ้มครองให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเป็นมิ่งขวัญปวงชนชาวไทยและแผ่นดินไทยไปตราบนานเท่านาน