xs
xsm
sm
md
lg

ผุดสถานี"ศิริราช"แก้จราจร เชื่อมรถไฟฟ้าแดง-ส้มเข้า รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"คมนาคม" MOU ร่วม"ศิริราช" ออกแบบสถานีรถไฟสายสีแดงและสีส้ม เชื่อมอาคาร 15 ชั้น เผยสายสีแดงประมูลปีนี้ เริ่มก่อสร้างต้นปี 63 ด้าน “ศิริราช” เตรียมยื่นอนุมัติ EIA คาดก่อสร้าง 3 ปี เพิ่มพื้นที่รับผู้ป่วยอีกกว่า 10,000 คน/วัน

วานนี้ (2 พ.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราช และอาคารรักษาพยาบาล ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

นายอาคม กล่าวว่า สถานีศิริราช จะเป็นพื้นที่สำคัญ เพราะมี รพ.ศิริราช และรถไฟฟ้า 2 สายผ่าน คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ของ รฟท. และ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของ รฟม. ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับการให้บริการด้านรักษาพยาบาลเพิ่ม แต่มีข้อจำกัด จึงต้องมีการวางแผนการพัฒนาและออกแบบร่วมกัน เพื่อให้ประชาชน และผู้ป่วย มีความสะดวกมากที่สุด ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานได้บูรณาการการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณสถานีศิริราช ของของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีส้ม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงจะมีการพัฒนาการเดินทางต่อต่อเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะอื่น ทั้ง ถนนและทางน้ำอีกด้วย ด้านข้างสถานีรถไฟฟ้า จะมีท่าเรือเพิ่มเติม เชื่อมการเดินเรือในคลองบางกอกน้อย และ ในอนาคตจะมีการส่งต่อผู้ป่วยทางเรือด้วย

"การออกแบบร่วมกัน และค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วนสรุปแล้ว โดย รพ.ศิริราช รับผิดชอบก่อสร้างอาคาร 15 ชั้น รฟท. ก่อสร้างสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 62 จะเปิดประมูลในปีนี้ ก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการในปี 66 ส่วน รฟม. ก่อสร้างสายสีส้ม อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการฯ เปิดให้บริการปี 69" นายอาคม ระบุ

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน พื้นที่ให้บริการของ รพ.ศิริราช น้อยกว่าความต้องการ โดยมีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการ 8,000-10,000 คน/วัน ขณะที่ไม่สามารถขยายพื้นที่เดิมได้ ดังนั้น ความร่วมมือกับรฟม.และรฟท. ในการก่อสร้างอาคารจะทำให้รองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เฉพาะผู้ป่วยผ่าตัด จะรับได้อย่างน้อย 10,000 ราย/ปี และอนาคตจะพัฒนาระบบขนส่งทางเรือเชื่อมเข้ามายังโรงพยาบาลด้วย นอกจากนี้ จะทำทางเดินเชื่อม (Sky Walk) จากอาคารใหม่ เชื่อมไปยังอาคารศิริราชเดิม และเชื่อมไปถึงถนนอรุณอัมรินทร์ ระยะทางกว่า 100 เมตร ด้วยเพื่อให้ผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกที่สุด

สำหรับการก่อสร้างอาคาร รพ.ศิริราช สูง 15 ชั้น โดยชั้น 1 และ 2 จะเป็นโถง สำหรับให้ประชาชนใช้ประโยชน์ และเดินเชื่อมไปยังสถานีรถไฟใต้ดินสายสีส้ม และสถานีรถไฟของสายสีแดงได้ ส่วน ชั้น 3- ชั้น 15 เป็นส่วนการรักษาพยาบาล และห้องพักผู้ป่วย พื้นที่คลินิก โดยประเมินค่าก่อสร้างอาคาร ประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติ EIA โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

"ปัจจุบันการเดินทางมายังรพ.ศิริราช มีปัญหาจราจร ผู้ป่วยและญาติใช้เวลานาน ความร่วมมือด้านคมนาคมที่มีระบบรถไฟฟ้าและการเข้าสู่อาคารที่สะดวกในเวลาที่ควบคุมได้ ซึ่งอาคารหลังนี้จะเน้นสำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาส ระบบการรักษาที่ตรวจ หรือการผ่าตัดที่สามารถมาเช้าและกลับเย็น ภายในวันเดียวจะเกิดประโยชน์มากกับผู้ป่วย และเพิ่มจำนวนผู้เข้ารับการรักษาได้อีกด้วย" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น