xs
xsm
sm
md
lg

เสรีนิยมล้าหลัง กับอนุรักษนิยมก้าวหน้า

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


มีคนพูดให้ได้ยินเสมอว่า สังคมไทยนั้นเป็นการปะทะกันระหว่างความคิดอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม ซึ่งจริงแล้วก็เป็นความปะทะที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศเกือบทั่วโลกนั่นแหละ

อนุรักษนิยมไทยถูกมองว่า เป็นพวกสนับสนุนอำนาจนิยม ยึดติดกับอดีต ล้าหลัง ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนเสรีนิยมนั้นมีความทันสมัยเชื่อมั่นในเสรีภาพและความเสมอภาพ

ถ้าดูกันแค่นี้แล้วก็ไม่น่าจะต้องขัดแย้งกัน เราสามารถยึดติดกับอดีต และเชื่อมั่นในเสรีภาพและความเสมอภาพไปพร้อมกันได้ แต่ที่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอนุรักษนิยมนั้นถูกผูกติดกับโครงสร้างทางการเมืองแบบเก่า และสถาบันแบบเก่าที่เป็นตัวขับเคลื่อนสังคมค่อยเป็นค่อยไปตามกระแสของกาลเวลา แต่เสรีนิยมนั้นยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสคลื่นที่โหมกระหน่ำของกาลเวลา

อนุรักษนิยมนั้นมีความผูกพันกันทางสายเลือด ชนชั้น ลำดับความอาวุโส แต่เสรีนิยมไม่มีสายสัมพันธ์แบบนั้น วันก่อนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงบอกว่า ถ้าพรรคของเขาเกิดได้เมื่อไหร่ จะเลิกการเรียกตามลำดับอาวุโส โดยจะเริ่มจากพรรคของเขาก่อน

“ถ้าพรรคของเราเกิดได้เมื่อไร ในพรรคของเราอยากให้เลิกใช้คำว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา อยากให้เลิกใช้คำพวกนี้ให้หมด สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ อย่างที่ผมบอก อะไรก็ตามที่อยากให้เกิดก็ต้องทำในพรรคก่อน เราต้องการยกเลิกวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งกีดกันโอกาส กีดกันความคิดสร้างสรรค์ของคน เรียกคนอื่นเป็นพี่ ป้า น้า อาเมื่อไร มันเป็นการเข้าไปอยู่โครงสร้างอำนาจนั้น เราจึงคิดว่า ใช้คำว่า คุณ ผม ดิฉัน สามคำเพียงพอแล้ว”

แนวทางเสรีนิยมนั้นปัจจุบันผสานเข้ากับโลกที่หมุนเร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเน้นความฉับไว แข่งกันที่ความเร็วโดยยึดมั่นกับผลประโยชน์เป็นองค์ประกอบสำคัญเน้นการสร้างกำไรสูงสุด โดยไม่สนใจช่องว่างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำกันมากขึ้น

แล้วเอาเสรีภาพที่เป็นหัวใจสำคัญมาผูกกับประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่า ความเท่าเทียมหรือคนเท่ากันในความหมายของประชาธิปไตยนั้น ไม่สามารถเท่าเทียมกันได้ในระบบเสรีนิยมที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา

จริงอยู่โครงสร้างแบบเก่าของอนุรักษนิยมนั้น เป็นภาพของอำนาจนิยม ผู้ปกครองเป็นใหญ่ การเคารพเชื่อฟังผู้นำ แต่ถามว่าอนุรักษนิยมมันมีความหมายแค่นั้นหรือ มันประสานกับประชาธิปไตยจนเป็นความคิดที่ก้าวหน้า กลายเป็นอนุรักษนิยมที่ก้าวหน้าไม่ได้หรือ

แล้วที่สำคัญถ้าอนุรักษนิยมเป็นเรื่องเลวร้ายทำไมหลายประเทศในฝั่งตะวันตกจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปมาของพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ บางครั้งเป็นฝั่งอนุรักษนิยม บางครั้งเป็นฝั่งเสรีนิยมใช่หรือไม่นั่นเป็นการสะท้อนว่า จังหวะเวลาเงื่อนไขต่างหากที่เป็นตัวสะท้อนสำคัญว่าควรจะพาประเทศเดินไปแบบไหน ไม่ใช่แบบไหนผิดแบบไหนถูกแบบไหนดีกว่ากัน

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว อนุรักษนิยมกลายเป็นคำดูแคลนจากพวกที่เรียกตัวเองว่า เป็นพวกเสรีนิยมโดยมองว่าเป็นพวกนิยมกษัตริย์และยึดมั่นจารีตประเพณี หลักจริยธรรมแบบเก่า จนบางครั้งถูกเหน็บแหนมว่า พวกคนดี

มิหนำซ้ำพวกเสรีนิยมยังผูกขาดเรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย คือ กล่าวหาว่า พวกอนุรักษนิยมนั้นเป็นพวกต่อต้านประชาธิปไตย กระทั่งพวกเสรีนิยมแสดงตนเป็นเจ้าของ 2475 และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองและโหยหาประชาธิปไตย

แม้แต่อาจารย์สอนรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยก็ยังเรียกปีกการเมืองหนึ่งว่าฝ่ายประชาธิปไตย พูดกันให้ชัดลงไปเลยก็ได้ว่า ฝ่ายนิยมทักษิณเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายต่อต้านทักษิณเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งเทียบสมการได้ว่าทักษิณก็คือ ประชาธิปไตยนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ยึดมั่นของฝั่งนี้ก็คือ การเลือกตั้ง โดยมีข้ออ้างสำคัญว่า ถ้ารัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้องก็ปล่อยให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทีนี้ย้อนไปฝั่งที่ถูกกล่าวหาว่า ต่อต้านประชาธิปไตย พวกนี้เป็นพวกที่ยึดมั่นค่านิยมเก่าในทุกเรื่องไหม คำตอบคือ ไม่หรอก เพราะคนเหล่านี้คือ คนที่ยึดมั่นในการแข่งขันเสรีในทางเศรษฐกิจเช่นกัน คนเหล่านี้เคารพสิทธิเสรีภาพเช่นกัน เพียงแต่คนเหล่านี้ไม่อดทนที่นักการเมืองเข้ามาแล้วแสวงหาผลประโยชน์ออกมาชุมนุมขับไล่โดยไม่รอการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ส่วนที่คนฝั่งนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนิยมกษัตริย์ก็แสดงว่า มันมีความคิดที่ตรงกันข้ามจากฝั่งที่กล่าวหานั่นเอง แล้วระบบกษัตริย์เป็นระบบที่มีรากฐานมาแต่ดั้งเดิมของสังคมไทย ฝ่ายที่ถูกเรียกว่าอนุรักษนิยมจึงสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก 2475 แต่ฝ่ายเสรีนิยมต้องการประชาธิปไตยแบบไหนนั่นเป็นคำถาม

แต่ความแตกต่างกันบนความแตกแยกกันทางระบบความคิดอุดมการณ์นั้น มันไม่ได้ทำให้ใครเหนือกว่า ใครหรือโอหังจนกล้ามองว่าพวกตัวเองเท่านั้นที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยไปได้เลย มันคือเสรีภาพที่เป็นหัวใจของพวกเสรีนิยมนั่นแหละ

เข้าใจนะครับว่า ประเด็นสำคัญคือ การมองว่า อีกฝั่งหนึ่งนั้นสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เลยตีหน้าเขาว่าพวกต่อต้านประชาธิปไตย ทั้งที่เขาปกป้องความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นมากกว่า

และมองว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของระบอบประชาธิปไตย คนที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งต้องใช้อำนาจอย่างชอบธรรมด้วย ในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ประชาชนมีสิทธิจะเอาอำนาจของตัวเองคืนถ้าผู้ได้รับมอบอำนาจใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ส่วนการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นเอง

ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตยต้องตอบตัวเองว่ายึดมั่นพิธีกรรมหรือการใช้อำนาจที่ชอบธรรมมากกว่ากัน

แน่นอนว่าความขัดแย้งทางความคิดของคนในชาตินั้น ทำให้ทหารฉวยโอกาสเข้ามายึดอำนาจเป็นระยะในช่วง 80 กว่าปีของการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่นั่นล้วนแล้วมาจากเหตุผลการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น

การเข้ามายึดอำนาจปกครองบางช่วงของทหารอาจจะยากต่อการตรวจสอบประชาชนถูกกำจัดเสรีภาพในบางด้านลงจริง แต่ผมไม่เชื่อว่า ทหารจะอยู่ในอำนาจได้ตลอดไป ไม่ใช่แค่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่ยอมรับอำนาจทหาร แต่ผมคิดว่า คนไทยทั้งสังคมนี่แหละที่ไม่เห็นด้วย และรัฐบาลทหารก็รู้เมื่อเข้ามายึดอำนาจทุกครั้งก็ต้องคืนอำนาจกลับมา

ฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นมองว่า บางครั้งต้องถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ ทบทวนตัวเองแก้ไขความผิดพลาด ไม่ยอมให้ความผิดพลาดชั่วร้ายรุกไปข้างหน้าต้องช่วยกันหยุดยั้ง ใช้ความเปลี่ยนแปลงอย่างระมัดระวังและรักษาความสัมพันธ์และรากเหง้าของสังคมเอาไว้

ฝ่ายที่อ้างว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยมฝ่ายประชาธิปไตยเป็นพวกที่มีความคิดยึดติดกับความเชื่อของตัวเองแบบตายตัว เชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกันใน “ความเชื่อ” แต่มีศักยภาพและโอกาสที่ไม่เท่ากันใน “ความจริง” แล้วอธิบายมันว่าคือความเสมอภาพ ปล่อยสถานการณ์มันคลี่คลายตัวเองไปตามพลวัตแม้จะต้องเผชิญหน้ากับความชั่วร้ายโดยอ้างกลไกเสรี

แล้วนี่ใช่ไหมนี่คือภาพอนุรักษนิยมก้าวหน้า เมื่อเทียบกับฝ่ายเสรีนิยมล้าหลังที่บังอาจเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น