xs
xsm
sm
md
lg

คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบเข้าใจง่าย อธิบายได้ด้วยภาพ

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


การเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา แม้จะจบสิ้นลงไปแต่ก็ยังมีประเด็นที่ค้างคาอยู่อีกมาก เช่น จะมีการแจกใบเหลือง ใบแดง และใบส้ม มีการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ พอนับใหม่แล้วไม่ชนะก็เรียกร้องให้เลือกตั้งใหม่ พอทำผิดรัฐธรรมนูญแล้วจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือยุบพรรคการเมืองก็เอามวลชนออกมาอวดอ้างเป็นโล่มนุษย์ปกป้องตัวเองอย่างทุเรศเหลือเกิน และคงมีเรื่องวุ่นวายอีกมาก ในอีกด้านหนึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ก็มือใหม่หมดและยังขาดความเป็นมืออาชีพไม่สามารถรับมือและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ ได้อย่างที่ควรต้องทำได้

การออกแบบการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแบบการเลือกตั้งแบบปันส่วนผสม แบ่งออกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (Party list) จำนวน 150 คน มีความยุ่งยากมากเหลือเกินในการคำนวณจำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีกฎหมายประกอบการนับคะแนนและการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับเลือก มากถึงสามฉบับ คือ

หนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (รธน. หมวดที่ 7 รัฐสภา ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร)
สอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (พรป. ส.ส. หมวดที่ 6 การประกาศผลการเลือกตั้ง)
สาม ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (รบ. กกต.)

โดยที่กฎหมายทั้งสามฉบับมีลำดับศักดิ์กฎหมายตามลำดับข้างต้น

อย่างไรก็ตามการตีความกฎหมายในการคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ดังกล่าวมีปัญหามาก และมีผู้รู้จำนวนมากออกมาถกเถียงกัน ท่าทีของ กกต. เองก็หวั่นไหว ไม่แน่ใจ และไม่สามารถตอบคำถามนักข่าวได้ดีเท่าที่ควร เช่น ตอบว่า ไม่ได้เอาเครื่องคิดเลขมา ทำให้ กกต. เองก็เสียรังวัดไปมากมาย

ท่ามกลางกูรูที่ออกมาให้ข่าว และโต้ตอบกันไปมาว่าสูตรการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นอย่างไรนั้น ทำให้ประชาชนสับสนมาก และเมื่อไปพลิกอ่านรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งมีหลายมาตราและมีหลายวรรคก็ยิ่งปวดหัว เพราะศัพท์กฎหมายนั้นอ่านเข้าใจยากและเขียนยาวเป็นร่ายเป็นความเรียง ซึ่งถ้าคนที่ไม่ชำนาญหรือไม่เคยชินกับการอ่านกฎหมายมาก่อนเช่น ชาวบ้านธรรมดาก็ไม่อาจจะเข้าใจได้ชัดเจนมากนัก

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการตีความกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่กล้าพอที่จะตัดสิน เนื่องจากมีกูรูหลายสำนักและต่างก็ตัดสินใจตีความกฎหมายออกมาในทางที่ตนเองหรือพรรคพวกจะได้ผลประโยชน์มากที่สุดจากการนับคะแนนหรือไม่ ลงท้ายสุดก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ลงมติไม่รับไว้พิจารณาและให้ความเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องดำเนินการและตีความเอง โดย กกต. เองก็ออกมารับลูกว่าพร้อมจะประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้หลังเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เนื่องจากผมสอนวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงบุกเบิกและการสร้างภาพนิทัศน์จากข้อมูล (Exploratory Data Analysis and Data Visualization) สำหรับนักศึกษาปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล (Business Analytics and Data Science) ร่วมกันกับ ผศ.ดร.ธนาสัย สุคนธ์พันธุ์ และ อ.ดร.ธนชาติ ฤทธิ์บำรุง เลยให้นักศึกษาในชั้นเรียนรับโจทย์นี้ไป คือต้อง วาดรูป อธิบาย และเล่าเรื่อง (Storytelling) ให้เห็นได้การคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ต้องเข้าใจง่าย อธิบายได้ด้วยภาพ ต้องเล่าเรื่องด้วยภาพได้

ในช่วงต้นนับว่าเป็นงานยากมากสำหรับนักศึกษาเพราะนักศึกษาในห้องที่เราสอนนั้นไม่มีใครจบกฎหมายหรือนิติศาสตร์บัณฑิตมาเลยแม้แต่คนเดียว นักศึกษายังสับสนกับลำดับศักดิ์กฎหมายและไม่เข้าใจถ้อยคำในกฎหมายมากนัก

ผมช่วยนักศึกษา โดยกำหนดวิธีการทำงานดังนี้

หนึ่ง ให้อ่านตัวบทกฎหมายทั้งสามอันจนเข้าใจถ่องแท้ ให้ถกเถียงกันจนกว่าจะเข้าใจตรงกันทุกประเด็น

สอง ให้พยายามศึกษาแนวความคิดของกูรูหลาย ๆ คนและนำมาเปรียบเทียบว่าสอดคล้องกับตัวบทกฎหมายหรือไม่อย่างไร

สาม ให้วาด Flow chart เพื่อแสดงขั้นตอนวิธี (Algorithm) ซึ่งข้อนี้สำหรับนักศึกษาด้าน Business Analytics and Intelligence หรือ Data Science น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่าการอ่านตัวบทกฎหมายแบบความเรียงร้อยแก้วยาวๆ เพราะพื้นฐานมาจากสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่การแพทย์และสาธารณสุข จึงมีความคุ้นชินกับ Flow chart ซึ่งเป็นการวาดรูปให้เข้าใจขั้นตอนวิธี

บางกลุ่มก็วาด Flow chart แล้วกำหนดตัวแปรที่ใช้คำนวณไปด้วยพร้อมกันดังรูปด้านล่างนี้ ซึ่งอาจจะอ่านยากหน่อยสำหรับคนทั่วไป

บางกลุ่มก็วาด Flow chart โดยใช้สัญลักษณ์หรือใส่สูตรในการคำนวณไม่มากนักเพื่อให้คนธรรมดาๆ เข้าใจง่าย แต่อย่างไรก็ตาม Flow chart ไม่ใช่ผลสุดท้ายของ Data Visualization

สี่ หลังจากวาด Flow chart จนแน่ใจเรียบร้อย ตรงตามวิธีตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ก็ให้ทดลองคำนวณจริงๆ โดยการผูกสูตรใน Microsoft Excel จะได้เข้าใจกระจ่างชัดเจนในวิธีการคำนวณและเป็นการตรวจสอบความคิดไปด้วยในตัว

ห้า ให้ทดลองวาดรูป โดยให้วาดรูปเพื่อให้เล่าเรื่องได้ง่ายที่สุด และเข้าใจง่ายที่สุด ลงเอยด้วยการทำ animation เล็ก ๆ อัดเสียงพากย์วีดิโอ เพื่อให้ชาวบ้าน ธรรมดา ๆ เข้าใจวิธีการในการนับคะแนน Party list ที่แสนจะยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด

การวาดภาพแสดงขั้นตอนคำนวณนี้ หลักสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องแสดงขั้นตอนการคำนวณให้เห็นจริง ตัวเลขจริง และอธิบายตัวบทกฎหมายประกอบไปด้วยทีละขั้น ทีละตอน เพื่อให้ผู้ฟัง สามารถติดตามวิธีคิดได้ และเห็นตัวอย่างจริงในการคำนวณ จึงจะติดตามเนื้อหาได้ทัน ย่อยให้เข้าใจง่าย




สำหรับ วีดิโอแอนิเมชั่นแสดงวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสท์ ของแต่ละพรรคอย่างไร ให้ดูได้จาก สามวีดิโอนี้



ฉบับนี้สั้นมาก และอธิบายเข้าใจง่ายแบบสั้น ๆ อาจจะตกหล่นรายละเอียดไปบ้าง ใช้เวลาอธิบาย 3.36 นาที



ในขณะที่เวอร์ชั่นด้านบนนี้ อธิบายยาวกว่ามากถึง 14.07นาที



และเวอร์ชั่นนี้ ใช้เวลาเพียง 7 นาที และมีวิธีการในการอธิบายไม่ตรงกันทั้งหมด

สำหรับรายชื่อนักศึกษาที่ทำงานนี้มาส่งในวิชานี้มีดังนี้ครับ วิภาดา สิริพัฒนดิลก, รุ่งนภา จินดาโสม, น้ำพระทัย ผดุงจิตต์, พิชามญชุ์ วรรโณทยาน, ปิยะดนัย อานทอง, ธนวรรธน์ ไวฉายหิรัญโชติ, ประพันธ์ เล็กสวัสดิ์, กิตติณัฐ ชุ่มวัฒนะ, สวลี ยศบุญเรือง, ศิรสิทธิ์ โสภาศิลป์, ธีร์ จูวิทยพันธ์, สาธิต ชัยวิวัฒน์ตระกูล, วรัญญู ทองนิล, วรเมธ เลิศศิวนนท์, อรรตพล ถาวร, จิรกิตติ์ รัชชยานนท์, พาริณ กิตติพงศ์เดชา, ปิยะ พนาเวชกิจกุล, กฤษฏา พิมพ์มดี, มณีมณฑ์ เลื่องปิยพันธุ์, กันย์ เทพอินใจ, จักรกฤษณ์ รัตนภู, สุดารัตน์ วงศ์วิวัฒน์, โอวาท สอนประสม, ศุภชัย ชูสวัสดิ์, กรองทอง ทองอ่อน, สาริน เกสพานิช, กุณฑิรา ดิษยบุตร, ณัฐพงศ์ โหวธีระกุล, ปิยาภรณ์ ธิติพงศ์วณิช, พิรญาณ์ เนตรจรัสแสง, ภาชนีย์ ฤทธิบุญ, สภารัฐ วนิชธัญญาทรัพย์, ศิลา แต้ภักดี, สิรภพ แสนบุตร, ภรารัตน์ ตันติประภากิจ, นรวิชญ์ โตวณะบุต, สันติสุข จิตติอรุณชัย, ภูภัสสร หาญปราบ, วัชร สุวรรณโสภณ, ศิริพงษ์ รัตนนรเศรษฐ, เบญญา จิตต์จงรัก, นิฏฐา แพร่จรรยา, รวิชญ์ สมัยเสนีย์, ธนวัฒน์ ผลเจริญ, ณรงค์ศักดิ์ โค้ววิลัยแสง

ขอให้ดูวีดิโออย่างสนุกสนานครับ ผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่กำลังจะกำหนดอนาคตประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น