xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.พลิกแกนร่วม"ลุงตู่" "กรณ์"เต็งจ๋าหัวหน้าพรรค!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**อาจเป็นครั้งแรกที่มีท่าทีชัดเจนออกมาจาก "กรณ์ จาติกวณิช" ประธานด้านนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ล่าสุดได้โพสต์ข้อความโดยอ้างผลสำรวจของบรรดาสมาชิกพรรค และนักธุรกิจในภาคใต้จำนวนหนึ่ง ระหว่างที่ไปบรรยายเศรษฐกิจในหัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจไทยและโอกาสปากท้องของพี่น้องชาวใต้" โดยเขาอ้างว่าหลังบรรยายเสร็จ ก็มีการสอบถามความเห็นในห้องประชุมว่า "จะให้พรรคประชาธิปัตย์ทำอย่างไร" ซึ่งผลปรากฏว่า เกือบทั้งห้องที่เป็นตัวแทนจากนักธุรกิจและประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ยกมือสนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยที่ประชุมดังกล่าวไม่มีใครสนับสนุนแนวทาง "ฝ่ายค้านอิสระ" เลย
โดย กรณ์ จาติกวณิช ยังย้ำว่า เขารับฟังเสียงของประชาชน เป็นหลัก
แน่นอนว่าสำหรับเขาแล้ว ถือว่าเป็นท่าทีที่ชัดเจนเป็นครั้งแรกหลังจากที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบเมื่อนำพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูป และกำลังจะมีการประชุมเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่
ขณะเดียวกันหากพิจารณากันสำหรับตัวเก็ง หรือคนที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่มีอยู่เพียง 2-3 คน คือ นอกเหนือจาก กรณ์ แล้วก็มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการตำแหน่งหัวหน้าพรรค และล่าสุดก็มีท่าทีสนใจลงแข่งขันอีกคนก็คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่การกระทรวงยุติธรรม รองหัวหน้าพรรค เป็นต้น หลักๆ ก็เห็นเพียงเท่านี้
ที่ผ่านมามีการประเมินกันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งแบบหมดรูปว่ามาจากการที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทิ้งไพ่ใบสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ประกาศไม่สนับสนุน "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมตรี และมีวาทะไม่สนับสนุน "การสืบทอดอำนาจ" มีการปล่อยคลิปวนไปวนมาซ้ำๆ ให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจ ซึ่งหากกล่าวกันเฉพาะตัว สำหรับ อภิสิทธิ์ อาจจะไม่ผิด เพราะเขาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์หนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ชอบแล้วที่ไม่สนับสนุนคนอื่น
** แต่ขณะเดียวกันสำหรับชาวบ้านเขาอาจมองไปอีกทางว่า นี่เป็นช่วงเวลาทำศึกที่ต้องการสกัดกั้น "ระบอบทักษิณ" ไม่ให้กลับมาครองอำนาจอีก และที่ผ่านมาก็เห็นผลงานแล้วว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ในเวลานี้ จำเป็นต้องทิ้งหลักการสวยๆ เท่ๆ แบบนั้นไปก่อนชั่วคราว
อย่างไรก็ดี หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังเปิดการปะทะกันของสองแนวทาง นั่นคือฝ่ายหนึ่งต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคพลังพลังประชารัฐ และสนับสนุน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ขณะที่อีกฝ่าย ต้องการให้เป็น "ฝ่ายค้านอิสระ"
หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดมากขึ้นก็จะพบว่า กลุ่มที่สนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นกลุ่มที่เคยเป็นอดีต กปปส. ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ มาก่อน และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ผู้สมัครส.ส.จากกลุ่มดังกล่าวก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในสัดส่วนที่มากพอสมควร และเป็นกลุ่มก้อนไม่น้อยในพรรคเวลานี้ ซึ่งหัวหอกคนสำคัญที่มีท่าทีชัดเจนมาตั้งแต่ต้นก็คือ ถาวร เสนเนียม ที่อ้างความต้องการของประชาชน เกิดผลดีในเรื่องการได้ช่วยเหลือประชาชนได้ดีกว่า หากเป็นฝ่ายรัฐบาล
ขณะที่อีกฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางฝ่ายค้านอิสระนั้น แม้ว่าจะไม่ชัดเจนนักว่าจะเป็นแบบไหน นั่นคือ จะยกมือหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แต่ไม่ร่วมรัฐบาล และขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างอิสระ โดยแนวทางนี้มองว่าเป็นความเห็นของกลุ่ม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ยังรวมกลุ่มกันอยู่ ผสานกับกลุ่ม "ผู้อาวุโส" ในพรรคที่คิดว่าการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา จะเป็นจุดแข็งเพื่อรอโอกาสฟื้นฟูพรรคให้เติบใหญ่ในวันหน้า อีกทั้งยังมั่นใจว่ารัฐบาลผสมชุดใหม่ จะอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากมีเสียงปริ่มน้ำ
อย่างไรก็ดี แม้นาทีนี้ยังมองไม่ออกว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ รู้แต่ว่าต้องเป็น "คนใน" แน่นอน และตัวเก็งที่คาดว่าน่าจะช่วงชิงเก้าอี้กันเท่าที่เห็นก็มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรค กับ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคและประธานด้านนโยบายพรรค แม้ว่าที่ผ่านมาหากพิจารณาจากสายตาภายนอกแล้ว จุรินทร์ น่าจะมีภาษีเหลื่อมกว่านิดๆ ขณะที่ กรณ์ อาจถูกมองว่าอยู่ใต้เงาของ อภิสิทธิ์ มาตลอด แต่ล่าสุด เมื่อมีท่าทีชัดเจนจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแล้วก็น่าจะได้เสียงหนุนจากกลุ่มอดีต กปปส. ทำให้มีโอกาสเข้าวินได้ไม่น้อย
**อีกด้านหนึ่งการแสดงท่าทีแบบนี้ยังส่งผลในทางบวก สำหรับการรวบรวมเสียงสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลของฝ่าย "ลุงตู่" ได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนจากฝ่ายพรรค"ตัวแปร" หลักอีกพรรค คือประชาธิปัตย์ อย่างน้อยมติพรรคที่จะโหวตว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คงได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นเช่นเดียวกัน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น